ขุดต้นตอ 'ค่าไฟแพง' รัฐกำหนดนโยบายผิดพลาด ผลักภาระคนไทยต้องแบกค่าไฟ
ขุดต้นตอ 'ค่าไฟแพง' อัดรัฐกำหนดนโยบาย พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟผิดพลาด ผลักภาระให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟที่สูง แนะหยุดให้สัมปทานเอกชนมากเกินไป
สภาที่สาม The Third Council Speaks เปิดเวทีอภิปราย หยุด "ค่าไฟแพง" ให้เอกชนผูกขาดพลังงานและการผลิต เพื่อหาทางออก และข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไปดำเนินการหยุดการให้สัญญาสัมปทานกับเอกชนในการผลิตไฟฟ้าที่มากจนเกินไป จนต้องแบกรับไฟฟ้าที่เอกชนนำมาขายให้ ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนต้องแบกรับ "ค่าไฟฟ้า" ที่แพงมากขึ้น
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทยไม่ต่าง จากค่าน้ำจากค่าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีใครเข้ามาควบคุมราคา ส่งผลกระทบให้ประชาชนจะต้องจ่าย "ค่าไฟฟ้า" ในอัตราที่แพงขึ้นพร้อมกับการแบบรับค่า FT ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนจะต้องแบกรับ "ค่าไฟฟ้า" ที่สูงขึ้นมาจากการคาดเดาและพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาด เนื่องจากการคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นมีการอิงกับค่า GDP และเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้น การคำนวณกำลังใช้ไฟฟ้านั้น ถือว่ามีความผิดพลาดจึงทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้า นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการออกมาให้สัมปทานการผลิตไฟฟ้ากับเอกชนที่มากจนเกินไป ส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนการค่าไฟฟ้า
โดยแนวทางการ ลดค่าไฟฟ้า นั้นเห็นว่า ต้องหาแนวทางเพิ่มรายได้ หรือลดค่าไฟฟ้าที่อยู่ 5 บาท/หน่วย ลดลงมาให้ได้ พร้อมกับไปดูต้นทุนค่าสินค้าให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ดูแลในส่วนนี้
นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) ระบุว่า ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. มีหน้าที่ในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน แต่ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนอย่างมากมายว่า "ค่าไฟแพง" นั้นแพงเกินกว่ารายได้ของประชาชน ซึ่ง ค่าไฟฟ้า ที่แพงมากขึ้นนั้นเป็นผลพวงมาจากนโยบายของภาครัฐ ที่ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 70% อยู่ในมือของเอกชน และกำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอยู่ที่ 30% จึงสะท้อนได้ว่ามีการเอื้อและอนุมัติให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนที่มากจนเกินไป จนทำให้รัฐบาล จะต้องแบกรับการซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนในราคาที่สูงขึ้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนและความต้องการที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามดูแลภาพรวมในการผลิตและรับซื้อไฟฟ้าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกฟผ. แต่สิ่งที่กฟผ.จะต้องดำเนินกาคือควบคุมและดูแลไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงจนเกินไป
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ค่าไฟฟ้าแพง มาจากสาเหตุที่รัฐบาลเอื้อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินไป จนส่งผลให้ต้องรับซื้อไฟฟ้าในราคาแพง ดังนั้นขอให้รัฐบาลทบทวนสัญญาการซื้อ-ขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนและกฟผ. ทบทวนสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงไฟฟ้าใหม่ รัฐบาลต้องหยุดอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่ ปรับปรุงสัดส่วนเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดภาระแก่ประชาชน
ด้านนายปรีชา กรปรีชา รองประธาน สร.กฟผ. กล่าวว่า "ค่าไฟฟ้า" ที่แพงขึ้นเกิดจากการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด จนทำให้ต้องมีไฟฟ้าสำรอง เพราะหากมีไฟฟ้าเยอะๆ ราคาก็ถูกลง แต่ที่ประชาชนต้องใช้ไฟฟ้าแพง เพราะมีกฎคุมไว้เช่น การทำสัญญากับเอกชน แผนพัฒนาเศรษฐกิจมีการพยากรณ์ผิดพลาด จากนั้นไปทำสัญญากับเอกชน
เมื่อกฟผ.ผลิตไม่เพียงพอก็ต้องใช้ของเอกชน เพราะกำหนดกติกาในการซื้อขายให้ กฟผ.ต้องแบกภาระ ค่าFT ถ้าไม่รับภาระราคาไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้น กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ค่าFT ไม่ได้กำไรแต่เป็นค่าเชื้อเพลิงที่กฟผ.จะต้องแบกรับ ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ปัญหา "ค่าไฟแพง" รัฐบาลต้องหยุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนก่อน เพราะหากมีมากๆ ไฟฟ้าก็เกิน ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้นตามไปด้วย