รัฐฯ ทิ้งทวนอนุมัติโรงไฟฟ้าสัญญา 29 ปี ตัดตอนกลุ่มทุนพลังงานแก้ค่าไฟแพง
รัฐบาล "ประยุทธ์" ทิ้งทวนอนุมัติโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 โรง ที่มี 7 โรงยังไม่เดินสายผลิตแต่ให้ประชาชนแบก "ค่าไฟแพง" แนะรัฐฯ เจรจาโรงไฟฟ้าชะลอค่าพร้อมจ่ายจนกว่าสถานการณ์ดีขึ้น เปิดแผนแก้ระยะยาว สลับกลุ่มทุนพลังงานไปใช้ก๊าซราคาตลาดโลก ให้ก๊าซอ่าวไทยใช้ผลิตไฟฟ้าแทน
"นายวรภพ วิริยะโรจน์" ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ และอดีต สส.พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ "คมชัดลึก" ประเด็นที่กำลังเป็นกระแสวิพาษณ์วิจารณ์ของสังคม คือ "ค่าไฟแพง" โดย "นายวรภพ" บอกว่า นโยบายพลังงานรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" สร้างความเดือดร้อน ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจากอ่าวไทยที่เป็นทรัพยากรของคนไทย แต่เอื้อประโยชน์เอกชนที่เป็นคนกลุ่มน้อย สองสาเหตุนี้ทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น
ภายในปีเดียว (ม.ค.-เม.ย. 2566) รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" ขึ้นค่าไฟฟ้าถึง 30% ภาคครัวเรือน 1.9 บาทต่อหน่วย ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 47% หรือ 14.7 บาท ประชาชนเคยจ่ายค่าไฟฟ้า 2,000 ต่อเดือน แต่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น อีก 500 บาท ส่วนภาคธุรกิจที่เคยจ่ายค่าไฟ 20,000 บาทต่อเดือน ต้องจ่ายเพิ่มอีก 10,000 บาทต่อเดือน
"นายวรภพ" อธิบายประเด็น "ค่าไฟแพง" ต่อว่า ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 "พล.อ.ประยุทธ์" เร่งเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่ม 1,940 เมกะวัตต์ ล่าสุดการเลือกตั้งปี 2566 รัฐบาลเร่งอนุมัติโรงไฟฟ้าที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ให้เอกชนเพิ่มแบบทิ้งทวนอีก 1,400 เมกะวัตต์ ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนยาวไปถึง 29 ปี ตามเอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ "โรงไฟฟ้า" หมุนเวียนอีก 5,000 เมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่ปี 2561 และปี 2565 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 58% รวมขณะนี้ไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชน 13 โรง ในจำนวนนี้มี 7 โรง ไม่ได้เดินเครื่อง แต่ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายเดือนละ 2,200 ล้านบาท เพื่อประกันกรณีเกิดเหตุที่ต้องใช้ไฟฟ้าสำรอง
"นายวรภพ" เล่าต่อว่า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับ "โรงไฟฟ้า" ที่กำลังจะปลดระวาง คำถามก็คือว่า จะทราบได้อย่างไรว่าโรงไฟฟ้าไม่ยื่นขอทำโครงการต่อ เพราะที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้น หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า รัฐบาลมองประโยชน์ของใครเป็นหลัก หากยอมต่อโครงการประชาชนต้องแบกรับภาระ "ค่าไฟแพง" ต่อไป
"สิ่งที่รัฐฯ ทำได้เลยเพื่อแก้ปัญหา "ค่าไฟแพง" คือ ต้องคุยเจรจากับเอกชนทั้ง 7 โรง เพื่อขอชะลอค่าพร้อมจ่ายออกไปก่อน และขยายเวลาจ่ายตามจำนวนที่หยุดไป ให้เหตุผลด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ มันจำเป็นต้องช่วยประชาชนจริงๆ ไม่จ่ายวันนี้ ก็ต้องจ่ายวันหน้า ตรงนี้ไม่ว่ากัน แต่ช่วงนี้ขอไว้ก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้น ผมมองว่าคุยได้นะ ทำได้เลย แต่รัฐบาลไม่ทำ" "นายวรภพ" ระบุ
ส่วนข้ออ้างที่ว่า เตรียมพลังงานไฟฟ้าไว้สำหรับรองรับสังคมยานพาหนะที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้า (EV) นั้น ไม่มีความเชื่อมโยงกัน และไม่เกี่ยวข้อง เพราะ "โรงไฟฟ้า" เกิดขึ้นตามแผน PDP ซึ่งมีก่อนกระแส EV และคาดว่า EV ไม่น่าจะเป็นที่นิยมถึงขนาดนั้น
"นายวรภพ" บอกอีกว่า รัฐบาลชุดนี้อธิบายมาตลอดที่ต้องขึ้นค่าไฟ เพราะสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซเอลเอ็นจี (LNG) มองว่าเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลพยายามต้องการเบี่ยงเบนความเข้าใจที่แท้จริงออกไปจากสาเหตุที่รัฐบาลไม่ยอมบอกความจริง
"ค่าไฟแพง" ความจริงที่ว่าคือ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องนำเข้า "ก๊าซธรรมชาติ" เพราะที่อ่าวไทยเพียงพอ อ่าวไทยสามารถผลิตได้ 2,758 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (mmscfd) โรงไฟฟ้าต้องการใช้แค่ 2,600 mmscfd แต่รัฐบาลจัดสรรให้ภาคปิโตรเคมี 804 mmscfd และภาคอุตสาหกรรม 811 mmscfd รวม 1,625 mmscfd คิดเป็น 59% ของก๊าชธรรมชาติทั้งหมด เหลือ 1,133 mmscfd คิดเป็น 41% ใช้ผลิตไฟฟ้า จึงเป็นสาเหตุที่ต้องนำเข้า ซึ่งการนำเข้า LNG ราคาอยู่ที่ 895 บาทต่อหน่วยความร้อนอังกฤษล้านหน่วย (mmBTU) ขณะที่ก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยซึ่งเป็นทรัพยากรของคนไทยอยู่ที่ราคา 233 บาท/mmBTU คำนวณตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย คนไทยจะได้ใช้ไฟฟ้าหน่วยละ 2 บาท แต่รัฐบาลให้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกกับปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม ส่วนประชาชนให้ก๊าซธรรมชาติราคาตลาดโลก
"คนไทยอาจต้องแบก "ค่าไฟแพง" ไปอีก 29 ปี เพราะรัฐเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้ากำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์สัญญา 29 ปี ค่า FT ขึ้น ก๊าซนำเข้าแพง รัฐต้องให้อุตสาหกรรมใช้ก๊าซราคาตลาดโลก เอาก๊าซอ่าวไทยมาให้ไฟฟ้า ปิโตรเคมีต้องเฉลี่ยต้นทุนกับโรงไฟฟ้า คนไทยจะได้ใช้ไฟถูกลง" นายวรภพ กล่าวในที่สุด