ชีวิตดีสังคมดี

'งบประมาณฐานศูนย์' ข้อสำคัญใน MOU เกลี่ยใหม่ทุกปีงานนี้ทำ 19 กระทรวงสะเทือน

'งบประมาณฐานศูนย์' ข้อสำคัญใน MOU เกลี่ยใหม่ทุกปีงานนี้ทำ 19 กระทรวงสะเทือน

23 พ.ค. 2566

'งบประมาณฐานศูนย์' ข้อสำคัญใน MOU งบแต่ละปีต้องเกลี่ยใหม่ทั้งหมดไม่อิงอดีตอีกต่อไป 19 กระทรวงสะเทือนต้องแจงงบตั้งแต่บาทแรก

หลังจากที่มีการ MOU จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลอีก 7 พรรคไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา นโยบาย "งบประมาณฐานศูนย์" กลายเป็นเรื่องที่ถูกบรรจุให้อยู่ในการ MOU จัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ด้วย ซึ่งระบุเอาไว้ว่า จัดทำงบประมารแบบใหม่ โดยเน้นการใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero based budgeting) 

 

 

ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคการจัด "งบประมาณฐานศูนย์" ที่ผ่านมารัฐบาลในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ไปให้แก่กระทรวงต่าง ๆ ทั้ง 19 กระทรวง และสำนักนายกรัฐมนตรีไปเป็นที่เรียบร้อยโดยงบประมาณในปี 2567 มีทั้งสิ้นจำนวน 3.35 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติงบประมาณผูกพันธุ์ข้ามปีไปอีก 3.6 แสนล้านบาท

ปัจจุบันการจัดสรรงบประมาณให้ทั้ง 19 กระทรวงเป็นการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นเร่งด่วน และภาระกิจ นโยบายของแต่ละกระทรวง ซึ่งนั้นหมายความว่าหากเป็นกระทรวงใหญ่ดูแลประชาชน หรือกระทรวงที่ดูแลเมกโปรเจ็กต์ โครงสร้างพื้นฐานก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณที่มากกว่า ส่วนการจัดสรรงบในปีต่อๆ ไป จะมีการอ้างอิงการจากฐานงบประมาณเดิมที่ใช้ไป ซึ่งวิธีการนี้จึงทำให้มีการจัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสมตามความเป็นจริง 

สำหรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ที่มีการแบ่งสรรปันส่วนไปแล้วเรียบร้อย โดยแต่ละกระทรวงได้รับงบประมาณดังนี้  

  • กระทรวงมหาดไทย 351,985.3 ล้านบาท 
  • กระทรวงศึกษาธิการ 330,512.3 ล้านบาท 
  • กระทรวงการคลัง 313,822.0 ล้านบาท 
  • กระทรวงสาธารณสุข 170,369.2 ล้านบาท 
  • กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท 
  • กระทรวงคมนาคม 183,950.0 ล้านบาท 
  • กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 127,669.8 ล้านบาท 
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142.9 ล้านบาท 
  • กระทรวงแรงงาน 61,841.1 ล้านบาท 
  • กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 31,977.4 ล้านบาท 
  • กระทรวงยุติธรรม 26,048.0 ล้านบาท 
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 25,261.4 ล้านบาท 
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8,639.9 ล้านบาท 
  • กระทรวงการต่างประเทศ 7,555.9 ล้านบาท 
  • กระทรวงวัฒนธรรม 7,004.6 ล้านบาท 
  • กระทรวงพาณิชย์ 6,680.9 ล้านบาท 
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,764.7 ล้านบาท 
  • กระทรวงอุตสาหกรรม 4,645.0 ล้านบาท 
  • กระทรวงพลังงาน 3,026.7 ล้านบาท 

 

สำหรับแนวทางการจัด "งบประมาณฐานศูนย์" ให้แต่ละกระทรวงโดยไม่ได้อ้างอิงจากงบประมาณเดิม จะทำการเกลี่ยงบประมาณใหม่ทุกกระทรวง โดยจะมีการพิจารณางบตั้งแต่บาทแรกของการตั้งงบประมาณในแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวงจะต้องชี้แจงการใช้งบประมาณที่เคยได้รับในอดีตและในอนาคตมีความจำเป็นจะต้องใช้อย่างไร  

 

 

ทั้งนี้พรรคก้าวไกลได้เสนอแนวคิดสำหรับการจัด "งบประมาณฐานศูนย์" ด้วยการปรับกระบวนการจัดทำงบประมาณในแต่ละปี โดยยึดหลัก zero-based budgeting หรือ งบประมาณแบบฐานศูนย ที่ไม่ได้จัดทำงบโดยอ้างอิงจากการจัดงบในอดีตเป็นหลักแล้วปรับเพิ่มงบเข้าไปในแต่ละปี แต่อ้างอิงจากความเร่งด่วนและขนาดของปัญหาที่ประเทศเผชิญในแต่ละปีเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตามแนวคิดการจัด "งบประมาณฐานศูนย์" ไม่ใช่เพิ่งเคยมีการเสนอนโยบายแบบนี้ในประเทศไทย แต่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ในหน่วยงานที่สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งหวังว่าจะทำให้ความยืดหยุ่น คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ สอดรับกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน คาดประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็น Enough Zero Based Budgeting เพื่อแก้ปัญหาการจัดสรรงบฯ เก่าที่ขาดความชัดเจน และโปร่งใส

 

 

อย่างไรก็ตามการจัดทำ "งบประมาณฐานศูนย์" จำเป็นจะต้องใช้เวลา และจะต้องมีการศึกษาให้รอบครอบก่อน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำระบบงบประมาณฐานศูนย์เอาไว้ว่า รูปแบบดังกล่าว มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือการสะท้อนการใช้งบประมาณไปในอนาคต แต่ข้อเสียก็คือเป็นระบบการจัดทำงบประมาณแบบที่ต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมาก ต้องมีการเตรียมความพร้อมกับทุกหน่วยงานราชการมาก เพราะระบบงบประมาณเป็นระบบใหญ่ผูกพันไปทุกภาคส่วนส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงสถานศึกษา สถานพยาบาล สำหรับในปีงบประมาณ 2567 มีการจัดทำงบประมารไปแล้วเรียบร้อย  คาดว่าจะเริ่มทำได้ในปีงบประมาณปี 2568 หรือปี 2569