ชีวิตดีสังคมดี

ปรากฏการณ์ 'หมอลาออก' หวั่นไฟลามทุ่งกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟค หมักหมมนาน 50 ปี

ปรากฏการณ์ 'หมอลาออก' หวั่นไฟลามทุ่งกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟค หมักหมมนาน 50 ปี

08 มิ.ย. 2566

ปรากฏการณ์ 'หมอลาออก' หวั่นไฟลามทุ่งกลายเป็นเป็นโดมิโนเอฟเฟค ถึงเวลายอมรับประเทศขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เพราะปัญหาหมักหมมนาน 50 ปีไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุด

"หมอลาออก" กลายเป็นประเด็นลุกลามไปทั่ววงการแพทย์ หลังจากที่ หมอปุยเมฆ โพสต์ ลาออก เพราะรู้สึกว่าไม่เห็นแสดงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในการแก้ปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์จะต้องทำงานหนักจนกระทบทั้งร่างกาย และยังทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยลดลง หนำซ้ำยังต้องแบกความหวังของคนไข้ และญาติผู้ป่วยเอาไว้ 

 

 

ปัญหา "หมอลาออก" และการที่แบกรับภาระงานที่หนักหนาจนเกินไป ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวหมักหมม มานานนับ 10 ๆ ปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกตรงจุดเสียที จนทำให้หมอหลายคนทยอยออกจากระบบไปเรื่อย ๆ  ปัจจุบันบ้านเราเหลือหมอที่อยู่ในระบบที่ทำการรักษาผู้ป่วย ออกตรวจคนไข้ เข้าห้องผ่าตัดจริงๆ และยังทำงานหนักได้ (นับถึงอายุไม่เกิน 50ปี) ประมาณ 50,000 คนทั่วประเทศเท่านั้น  

 

ปัญหาจริงๆ ที่ "หมอลาออก" คือความกดดันในการทำงานภาระคนไข้ที่เยอะเกินไป ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา รัฐมีนโยบายเน้นให้ผุ้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลเป็นหลัก แต่ขาดการส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า Health literacy คือการให้ความรู้ในการดูแลตนเองเป็นหลักก่อน แบบที่ต่างประเทศเน้นย้ำเรื่องการป้องกันรักษาโรคและการดูแลตนเอง  คำบอกเล่าจาก  รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา 

 

รศ.นพ.เมธี ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึกเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่ทำให้ "หมอลาออก" รวมไปถึงบุคลากรทางแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เภสัชกร ทยอยลาออกไปจากระบบนั้น เป็นความจริงตามที่ หมออินเทิร์น ได้ออกมาโพสต์หลังจากที่ยื่นใบลาออกไป ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้หมอทุกคน โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่สามปีแรก มีความกดดันในการทำงานด้วยภาระคนไข้ที่เยอะกว่าจำนวนหมอมาก รวมไปถึงความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องหากรักษาผิดพลาด  ค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าหมออยู่เวรได้ชั่วโมงละ 80-130 บาท  

 

 

ส่วนพยาบาลถ้าเข้าเวรได้ชั่วโมงละ 30-40 บาท รวมไปถึงกรณีที่ต้องรับเรื่องการฟ้องร้องจากญาติคนไข้ แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดคุ้มครอง ซึ่งหากโดนฟ้องแพ่งหน่วยงานต้นสังกัดจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้  แต่หลังจากจบคดีก็จะต้องมาพิจารณาไล่เบี้ยกันอยู่ดี แต่หากเป็นความผิดทางอาญาหมอจะต้องรับผิดชอบเต็มๆ เพราะไม่มีใครเข้าคุกแทนได้ ดังนั้นทำให้หมอรุ่นใหม่เกิดคำถามตามมาว่า "ทำไมพวกเขาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานหนักโดยไม่ได้เต็มใจแล้วเกิดความผิดพลาดตามมา" 

 

 

ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเจอมาตลอด จนทำให้เกิดการลาออกจากระบบไปเรื่อย ๆ และแน่นอนว่าเมื่อ "หมอลาออก" 1 คน คนที่เหลือย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะจะต้องมารับภาระหน้าที่แทนคนที่ลาออกไป ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่อาจจะทำให้เกิดโดมิโนเอฟเฟค หรือการที่เจ้าหน้าที่ บุคลากร เริ่มทยอยลาออกบ้าง เพราะภาระงานที่ถูกถ่ายเทจากอีกคนมาให้อีกคนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่านับจากนี้ต่อไประบบสาธารณสุขของไทยจะได้รับผลกระทบ

 

 

รศ.นพ.เมธี ยังบอกอีกว่า วันนี้เราต้องยอมรับแล้วว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะขาดแคลนตำแหน่งในการบรรจุแพทย์เพิ่มให้พอเพียงกับความต้องการ วิธีการแก้ปัญหาให้ตรงจุดต้องไปดูที่ จุดบกพร่อง คือ ภาระงานที่มากเกินไปโดยไม่เปิดโอกาสให้ได้พักผ่อน ค่าตอบแทนที่น้อยกว่าความรับผิดชอบมาก และที่สำคัญคือความเสี่ยงของการถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย  เข้าใจว่าทางกระทรวงและผู้หลักผู้ใหญ่เองก็ทราบปัญหานี้ดี และที่ผ่านมาก็พยายามอย่างมากในการแก้ปัญหา แต่ติดขัดหลายประการ 

 

 

โดยเฉพาะหลายประเด็นอยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงฝ่ายเดียว หลายประเด็นก็มีหลายเจ้าภาพ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ คล้ายๆ กับจิ๊กซอ ที่ไม่ต่อติดกัน จึงควรกำหนดเจ้าภาพในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่พร้อมจะทุบโต๊ะ มากกว่าปล่อยให้กระทรวงหรือใครคนใดคนหนึ่งทำกันเองฝ่ายเดียว การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี แต่ต้องเริ่ม เหมือนที่แพทยสภาเคยประกาศเรื่องหน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วย เพื่อให้มีการตระหนักเรื่อง Health literacy และข้อจำกัดของระบบโดยเฉพาะข้อจำกัดของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์  หรืออาจถึงต้องผลักดันในกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน การเปิดโอกาสให้บุคลากรได้พักผ่อนอย่างพอเพียง ด้วยการออกเป็นแนวทางหรือกฎหมาย ในลำดับต่อไป  เพื่อจะได้มีมาตรฐานที่เป็นรูปธรรมและจะได้คำนวณได้ถูกต้องว่า ทุกวันนี้เราขาดกำลังพลแพทย์และพยาบยาลอีกเท่าใดกันแน่    ที่สำคัญคือ อย่าลืมว่า การเริ่มต้นแก้ปัญหาในวันนี้ อาจต้องรอผลิดอกออกผลในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เริ่มกระทำเลย 

 

  • "หมอลาออก" ทำงานหนัก เสี่ยง ไทยมีหมอแค่ 50,000 กว่าคนที่ทำงานจริงๆ

ผลการสำรวจโดยสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้แพทย์ลาออกคือ คือ ภาระงานเกินกำลัง ไม่ได้พักฟ่อน เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง 15.34%  รวมไปถึงการถูกบังคับให้ใช้ทุนในสถานที่ที่ไม่ต้องการ เช่นไกลบ้าน สถานที่ไม่พร้อมจะดูแล 16.80% ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหา ต้องโฟกัสไปที่ปัญหาในข้างต้น 

 

 

ข้อมูลจากแพทยสภาระบุจำนวนแพทย์ในระบบด้วยว่า แพทยสภาผลิตแพทย์ไปแล้วประมาณ 72,250 คน เป็นแพทย์เฉพาะทางเกินครึ่ง หรือประมาณ 45,000 แพทย์ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ อีกครึ่งกระจายตัวในต่างจังหวัด หากนับแพทย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีประมาณ  65,000 แต่ถ้าคิดเฉพาะแพทย์ที่ยังทำงาน (นับถึงอายุ 60) จะเหลือ เพียง 55,000 แต่ถ้าคิดเฉพาะแพทย์ที่ยังทำงานและอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับงานหนักได้ (อายุไม่เกิน 50) จะเหลือเพียง 50,000 คน ที่ต้องดูแลคนทั่วประเทศประมาณ 70 ล้านคน เฉลี่ยแพทย์ 1 คนตรวจคนไข้นอกประมาณ 8,500 คนต่อปี (ย้งไม่นับคนไข้ใน)