ชีวิตดีสังคมดี

สางปมหนี้สิน 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' สรุปมหากาพย์หนี้แสนล้านของกทม.-บีทีเอส

สางปมหนี้สิน 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' สรุปมหากาพย์หนี้แสนล้านของกทม.-บีทีเอส

12 มิ.ย. 2566

ชัชชาติ-คีรี กอดคอสางปมหนี้สิน 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' สรุปมหากาพย์หนี้แสนล้าน ระหว่าง กทม.และ BTS บทสรุปสุดท้ายจะจ่ายคืนเป็นเงินหรือหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน

ปัญหาหนี้สินที่กรุงเทพมหานครต้องแบกรับทั้งค่าเดินรถไฟฟ้า และค่าก่อสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ส่วนต่อขยาย ที่ถูกคำสั่งประกาศิตจาก คสช. สั่งการให้รับผิดชอบทั้งค่าก่อสร้าง และค่าจ้าง บีทีเอส เดินรถ รวมๆ แล้วมีมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท จะยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และยังตกอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะอยู่ๆ ต้องกลายมาเป็นลูกหนี้ และถูกตามทวงหนี้มาเป็นหลายปี 

 

 

ส่วนบีทีเอสนั้นผู้รับจ้างเดิน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ก็ตกที่นั่งลำบาก ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน เพราะจะหยุดเดินรถก็ไม่สามารถทำได้ เพราะแต่ละวันมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมากตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา บีทีเอสพยายามที่จะทวงหนี้มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นการทวงหนี้ทางกฎหมาย ทวงหนี้แบบซึ่งหน้า แต่ก็ยังไม่ได้ผล เพราะ กทม.เองยังไม่สามารถควักกระเป๋าเงินค่าดำเนินการได้เช่นกัน เวลาล่วงเลยมานานจนท้ายที่สุดทั้ง กทม.และบีทีเอสตัดสินใจประชุมเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ร่วมกัน

โดย ชัชชาติ ได้กล่าวว่า  “เราก็เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ บีทีเอสก็เป็นตัวสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าเป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภา กทม.ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามในกรอบระเบียบที่กำหนด” 

 

 

หากย้อนเรื่องราวกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนเรื่องของบีทีเอส และการต่อสัญญาสัมปทานกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิจารย์อย่างหนัก เมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เซ็นขยายสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอส ไปอีก 30 ปี แต่ความพันพัวพัวพัน และจุดเริ่มต้นของหนี้ก้อนใหญ่กลับอยู่ที่การก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ล้ำเข้าไปในปริมณฑล และการจ้างเดินรถที่ถูกโอนมาให้ กทม.ทั้งหมดแบบสมบูรณ์ภายใต้การใช้กฎหมาย ม.44 จุดเริ่มต้นปมหนี้แสนล้านจะเป็นอย่างไร 

1.สาเหตุก้อนหนี้ปัจจุบันของ กทม. ต้องแบก "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ส่วนต่อขยาย 

หลังจากที่ให้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-อ่อนนุช รถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการก่อสร้างส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งยื่นเข้าไปในจ.ปทุมธานี และแบริ่ง-สำโรง ที่กินพื้นที่เข้าในจ.สมุทรปราการ ซึ่งส่วนต่อขยายที่เพิ่มเติมมานี้เองเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ กทม. ต้องแบกภาระหนี้ก่อนใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมา กทม. ติดเงื่อนไขไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลได้ รัฐบาลจึงมีมติให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทน แต่เมื่อการก่อสร้างระบบโครงสร้างเสร็จสิ้น การที่จะให้ประชาชนต้องเปลี่ยนขบวนระหว่างจุดต่อขยายดูเหมือนจะยังไงๆ อยู่ เพราะรถไฟฟ้าเป็นสายเดียวกันควรจะได้นั่งยาวจนสุดเส้นทางโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน  แต่ในปี 2558 คสช. มีมติให้ กทม.เป็นผู้เดินรถ เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการ และนี่คือจุดเริ่มต้นในการแบกรับหนี้สินก้อนโต ที่อาจจะทำให้ กทม.กลายเป็นหน่วยงานที่ไม่มีเงินชำระหนี้ และเสี่ยงล้มละลายได้ 

 

 

2.หนี้สิน 120,000 ล้านบาท มาจากส่วนไหนบ้าง  

-ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนขยายสีเขียว แบริ่ง-สมุทปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่โอนมาจาก รฟม. ในปี 2561 รวม 69,105 ล้านบาท แบ่งเป็น-เงินต้น 55,704 ล้านบาท และดอกเบี้ย 13,401 ล้านบาท
-ค่าระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 20,248 ล้านบาท กำหนดจ่ายเดือน มี.ค. 2564 
-ค่าจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าส่วนขยายสายสีเขียว 9,377 ล้านบาท เฉลี่ยค่าจ้างเดินรถเดือนละ 600 ล้านบาท 
-ประเมินการขาดทุนจากรถไฟฟ้าส่วนขยายสีเขียว (2564-2572) ราว 30,000-40,000 ล้านบาท

 

 

3. ทางออกทางเดียวที่จะไม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวคือการขยายสัมปทาน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" 

ดูเหมือนว่าทางออกทางเดียวที่ กทม.จะไม่กลายเป็นหน่วยงานที่เสี่ยงล้มละลาย คือ การขยายสัมปทานเดินรถให้แก่บีทีเอสออกไปอีก 30 ปี ตามเดิมที่สัญญาจะสิ้นสุดลงในปี 2572 ก็จะกลายเป็นว่าสัญญาจะไปสิ้นสุดใปี 2602 จากนั้นบีทีเอสจะกลายเป็นผู้มารับภาระหนี้สินทั้งหมด 100,700 ล้านบาททันที  ซึ่งอัตราค่าโดยสารจะถูกควบคุมโดยสัญญาสัมปทานซึ่งมีการกำหนดเพดานอัตราค่าโดยสารไว้ชัดเจน และยังมีการแบ่งรายได้ค่าโดยสารให้ กทม. แบบขั้นบันได คือ ในช่วง 15 ปีแรก ระหว่างปี 2572-2587 แบ่งให้ร้อยละ 10 ของค่าโดยสาร ช่วง 10 ปีต่อมา ระหว่างปี 2588-2597 แบ่งให้ร้อยละ 15 ของค่าโดยสาร และช่วง 5 ปีสุดท้าย ระหว่างปี 2598-2602 แบ่งให้ร้อยละ 25 ของค่าโดยสาร

 

 

4.ย้อนดูความพยายามในการทวงหนี้ของ รถไฟฟ้าบีทีเอส 

ประมาณกลางปี 2565 บีทีเอสเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง เพื่อทวงหนี้ กทม. 41,710 ล้านบาท  หลังจากนั้น นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ออกมาทวงหนี้อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกผ่านการเผยแพร่คลิปวีดิโอ หลังจากที่ กทม.ค้างจ่ายเงินมานานกว่า 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-2565 พร้อมกับยืนยันว่าไม่เคยร้องขอให้มีการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี  เพียงแต่ต้องการให้ ลูกหนี้จ่ายหนี้คืนเท่านั้น และในปี 2566 พนักงานบีทีเอสยังได้รวมตัวกันเดินทางไปติดตามทวงนี้ถึงทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับขู่ว่าจะหยุดเดินรถ เพื่อประท้วงที่รัฐบาล และกทม.ไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้างอยู่ และต้องการให้รัฐบาลดำเนินการชำระหนี้ที่ค้างจ่ายค่าเดินรถให้ก่อน เพราะที่ผ่านมาบีทีเอสเดินรถเพื่อให้บริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ  

 

 

5.จากทวงหนี้สู่การเดินหน้าเจรจาหาทางสางปมหนี้สิน 

ปัญหาหนี้สิน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ที่ผ่านกระบวนทวงหนี้มาหลากหลายรูปแบบ ทั้งฟ้องศาล อัดคลิปทวงหนี้ ใช้พลังมวลชนกดัน ดูเหมือนจะไม่ได้ผล จนล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายคีรี กาญจนพาส ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้หารือเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินก้อนโตร่วมกันครั้งแรก โดยข้อสรุปหลังจากการประชุมครั้งนี้คือ ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดชำระ ประมาณ 20,000 ล้านบาท กทม. ได้เตรียมตัวอยู่แล้ว กทม. จะดำเนินการพร้อมกันใน 2 ทาง คือ 
1. เอาเรื่องเข้าสภา กทม. เกี่ยวกับการชำระหนี้คาดว่าสมัยการประชุมนี้น่าจะพร้อม เนื่องจากศึกษากันมาพอสมควร 
2. ติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง เพราะที่ผ่านมามีการทำหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยากให้การสนับสนุนจากรัฐบาลสําหรับโครงสร้างพื้นฐานกับค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) เนื่องจากเมื่อครั้งที่ ม.44 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วยแล้วตัวมูลหนี้ของ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ที่เราส่งไปให้มหาดไทยเพื่อให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ซึ่งตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ใน ครม. ยังไม่มีข้อยุติ คงต้องสอบถามและเร่งว่าจะพิจารณาอย่างไร 

 

หารือแก้หนี้รถไฟฟ้าบีทีเอส