ชีวิตดีสังคมดี

จัดระเบียบ 'สายสื่อสาร' ในกรุงเทพฯ จับมัดก่อน ชัชชาติ แจงเอาลงดินต้นทุนสูง

จัดระเบียบ 'สายสื่อสาร' ในกรุงเทพฯ จับมัดก่อน ชัชชาติ แจงเอาลงดินต้นทุนสูง

15 มิ.ย. 2566

จัดระเบียบ 'สายสื่อสาร' ในกรุงเทพ กทม.จับมัด รื้อสายที่ไม่มีสัญญาณไปก่อนแก้ปัญหาเกะกะ รกรุงรังเบื้องต้น เพราะเอาลงดินต้นทุนสูง

คนกรุงเทพฯ อาจจะกำลังสงสัยว่ทำโครงการเอา "สายสื่อสาร" ในพื้นที่กรุงเทพมหานครลงดินอยู่ๆ ถึงหายเงียบไปเลยในช่วงที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานครเข้ามาดำรงตำแหน่ง

 

 

โดยกรณีดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากประชาชนมากมายเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงไม่มีการดำเนินการปรับภูมิทัศน์ เอา "สายสื่อสาร" สายไฟฟ้าลงดิน และเห็นเพียงการเก็บมัดสาย และจัดระเบียบไม่ให้ระโยงระยางลงบริเวณทางเดินทางเท่านั้น

ล่าสุด นายชัชชาติ เปิดเผยถึงการจัดระเบียบ "สายสื่อสาร" หรือการนำสายสื่อสารลงดิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว 365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน กรุงเทพฯ  ว่า บนเสาไฟฟ้า จะประกอบด้วย สายไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้าแรงต่ำ และ สายสื่อสาร ความรกรุงรังที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเพราะ สายสื่อสาร ซึ่งมากกว่า 50% เป็นสายเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว ปกติค่าพาดสาย การไฟฟ้าคิดราคาอยู่ที่ 150-200 บาท/กิโลเมตร/คอ/เดือน ในการดำเนินการ กทม.ไม่สามารถสั่งให้ตัดสายหรือสั่งให้นำลงดินในทันทีได้ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานดูแล ได้แก่

 

    • คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมี พ.ร.บ. ต่างหาก โดย กสทช.เป็นผู้จัดทำแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน รวมทั้งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

    • กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยสามารถเสนอเส้นทางได้

    • กฟน. ซึ่งอนุญาตให้พาดสายสื่อสารบนเสาและเป็นผู้ดำเนินการหักเสานำสายไฟฟ้าลงดิน

    • ผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องดำเนินการทำตามที่ กสทช.กำหนด

    • บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)  หรือ NT ผู้ให้บริการท่อร้อยสายสื่อสารและดำเนินการวางท่อร้อยสายสื่อสาร

ที่ผ่านมา กทม. มีการหารือกับหน่วยงานเหล่านี้อยู่หลายครั้งเพื่อประสานงานในการจัดเบียบ "สายสื่อสาร" ซึ่งเบื้องต้นต้องเริ่มจากการตัดสายสื่อสารเก่าก่อน จะทำให้จำนวนสายสื่อสารน้อยลง เหลือเพียงสายที่ยังใช้งานอยู่ จากนั้นจึงเริ่มทยอยนำลงดิน

 

 

ส่วนโครงการเก่าของกทม. ที่ให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ดำเนินการ คนเข้าใจว่าไม่ได้ใช้เงินลงทุน จริง ๆ แล้วไม่ได้ฟรี เพราะโครงการที่กรุงเทพธนาคม นำสายสื่อสารลงดิน 2,000 กิโลเมตร ใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งค่าเช่าท่อที่กรุงเทพธนาคม คิดกับผู้ประกอบการอยู่ที่ประมาณ 7,100 บาท/กิโลเมตร/เดือน ส่วนค่าเช่าท่อของ NT ซึ่งมีท่ออยู่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 3,216บาท/กิโลเมตร/เดือน

 

 

ทั้งนี้กรุงเทพธนาคมได้ดำเนินการนำ "สายสื่อสาร" ลงดินไปแล้ว 9.9 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งทับซ้อนกับท่อของ NT แต่กรุงเทพธนาคมหาลูกค้าไม่ได้ การจะนำโครงการมาทำต่อจึงต้องคิดให้ดี เพราะไม่จำเป็นต้องมีโอเปอเรเตอร์ที่ทำท่อหลายราย การดำเนินการต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะสุดท้ายค่าเช่าเหล่านี้ประชาชนเป็นคนจ่าย กทม.จึงมีแนวคิดยุติการดำเนินการ เนื่องด้วยต้นทุนสูง ไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจบังคับผู้ให้บริการมาใช้ท่อ ค่าเช่าท่อแพง แต่หากเป็นไปได้ ก็ให้ NT ทำ เพราะ NT มีท่ออยู่แล้ว ต้องพยายามคุยกันหาทางออก ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกันกับหลายหน่วยงาน โดย กสทช.เป็นผู้วางแผนหลัก

 

 

สำหรับการดำเนินการที่ กสทช. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการนำ "สายสื่อสาร" ลงดินนั้น เสร็จไปแล้ว 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่การไฟฟ้าดำเนินการหักเสาลงดิน ซึ่งยังไม่ได้เยอะ เนื่องจากการนำสายไฟฟ้าลงดินมีราคาแพงมาก ต้องใช้งบประมาณกว่าหลัก1,000-10,000  ล้านบาท ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่การไฟฟ้าหักเสาเพื่อนำสายไฟฟ้าลงดินก็จะนำสายสื่อสารลงดินด้วย แต่การจะนำสายไฟฟ้าลงดินทั้งหมดเป็นพันกิโลเมตร การไฟฟ้าจะทำไม่ไหวเพราะราคาสูงมาก

 

 

กทม.ยังคงเดินหน้าจัดระเบียบสายสื่อสารต่อเนื่อง โดยบางส่วนใช้วิธีการจัดระเบียบ บางส่วนลงท่อของ NT และบางส่วนลงท่อที่กทม.ปรับปรุงทางเท้า ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่เพียงกทม.ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นการประสานงานร่วมกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง