ชีวิตดีสังคมดี

ครม.รับทราบหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ส่งไม้ต่อรัฐบาลใหม่เคลียร์ให้ BTS

ครม.รับทราบหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ส่งไม้ต่อรัฐบาลใหม่เคลียร์ให้ BTS

05 ก.ค. 2566

ครม. รับทราบหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเคลียร์หนี้ 78,830 ล้านบาทให้ BTS เสนอให้ทำแผนใช้หนี้เป็นรายปี

คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"  และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเห็นของกระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง  นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. (5 กรกฎาคม 2566) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" สรุปได้ ดังนี้ 

1. กทม. โดย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น ยืนยันว่าได้ดำเนินการครบถ้วนและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินการโครงการฯ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

 

2. กทม. โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร มีแนวทางดำเนินโครงการฯ ดังนี้ 

2.1 กทม. เห็นพ้องด้วยกับนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนและทำให้การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) จึงเห็นควรสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ของโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแลของ กทม. เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต –สะพานใหม่ –คูคต และช่วงแบริ่ง –สมุทรปราการ) ที่เป็นส่วนต่อขยายพื้นที่ให้บริการนอกเขต กทม. และยังมีผู้โดยสารไม่มาก

2.2 กทม. เห็นควรที่จะดำเนินการโครงการฯ ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมีความรอบคอบ มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

2.3 จากกรณีที่ คณะกรรมการ ดำเนินการโครงการฯ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เจรจากับบริษัทเอกชนไว้ว่า บริษัทฯ จะเป็นผู้รับภาระส่วนต่างค่าเดินรถที่ค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด กทม. จึงได้หยุดชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงมาตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 4 ปี ก่อให้เกิดภาระต่อเอกชนผู้ให้บริการ รวมถึงมีภาระดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นกับ กทม. ในอนาคต การหาข้อยุติตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ ครม. จะช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการและประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสาธารณะ

 

 

3. กทม. เห็นควรให้มีการนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการฯ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ –คูคต และช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณ สำหรับค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด โดยปัจจุบัน กทม. มีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ รวมทั้งสิ้น 78,830.86 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2566) ดังนี้ 

แบ่งออกเป็น 
1.ค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่าจัดกรรมสิทธิ์  55,034.70 ล้านบาท
2.ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม. ได้จ่ายให้ กค. ตั้งแต่ปี 2562-2565 จำนวน 1,508.93 ล้านบาท
3.ค่าจ้างงานซื้อขาย พร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ 22,287.23 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเห็นให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้เกิดความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

1. ความชัดเจนของการดำเนินโครงการ ให้กรุงเทพมหานครหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมในประเด็นของระบบตั๋วร่วมการกำหนดอัตราค่าโดยสารการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและรายละเอียดอื่นๆ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต –สะพานใหม่ - คูคต ตามมติ ครม. (26 พ.ย. 2561) และความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย โดยให้ กทม. ประสานงานกับ สงป. ในรายละเอียด รวมทั้งสถานะ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและภาระหนี้ และการเปลี่ยนแปลง การปฏิบัติจากการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562


2. สำนักงบประมาณ เห็นว่า กระทรวงมหาดไทย (กทม.) ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลประมาณการวงเงินภาระหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดจนจบสัญญาสัมปทาน (ปี 2572) เปรียบเทียบกับประมาณการ รายได้/สถานะทางการเงินของ กทม. และจัดทำข้อเสนอแผนการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นรายปี  เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ครม. ในโอกาสแรก