ขึ้นศาลแบบไม่ต้องไปศาล ผ่านนวัตกรรม 'ขึ้นศาลออนไลน์' เช็กขั้นตอนได้ที่นี่
"ศาลยุติธรรม" เปิดนวัตกรรม "ขึ้นศาลออนไลน์" ผ่านระบบ e-Filing และระบบ CIOS ลดการเดินทาง สะดวกประหยัดเงินและเวลา
การเดินทางมาศาลตามนัดเพื่อพิจารณาคดี ทั้งโจทก์ จำเลย ทนาย รวมถึงบุคลากรในศาล ล้วนต้องเผชิญความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 เพื่อเลี่ยงและลดการเดินทางมาศาล "ศาลยุติธรรม" จึงบริหารจัดการด้านคดีความด้วยการใช้นวัตกรรมพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ "ขึ้นศาลออนไลน์" แค่ยื่นความประสงค์ผ่านระบบที่ชื่อว่า อีไฟล์ลิ่ง (e-Filing) และระบบซีออส (CIOS) ตั้งแต่ศาลชั้นต้นไปจนถึงชั้นอุทธรณ์ และฎีกา
"ขึ้นศาลออนไลน์" นอกจากลดการแพร่ระบาดโควิด 19 แล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประหยัดเวลา ไม่ต้องลางานสำหรับคนที่ทำงานประจำ
- ขั้นตอนการ "ขึ้นศาลออนไลน์"
1. ลงทะเบียนสมัครสมาชิกเพื่อขออนุญาตใช้ระบบ "ขึ้นศาลออนไลน์" โดยพิมพ์คำค้นหา "CIOS" คลิก ในเว็บไซต์กูเกิล (Google) และเลือกเมนู "ระบบออนไลน์ศาลยุติธรรม" เลือกเมนู "ลงทะเบียน" กรอกข้อมูลให้ครบ รับรหัสผ่านเข้า "CIOS"
2. นำบัตรประจำตัวประชาชนไปยืนยันตัวตนที่ศาลชั้นต้นได้ทั่วประเทศ (ต้องเดินทางไปด้วยตัวเองเท่านั้น)
3. เมื่อยืนยันตัวตนผ่านแล้ว เป็นอันลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ให้เข้าระบบ "CIOS" และเลือกเมนูตามนัด เช่น หากเป็นจำเลยนัดไกล่เกลี่ย ให้เลือกเมนู E-Form ในเมนู "สืบพยานออนไลน์" กรอกข้อมูลให้ครบ หลังจากนั้นรอเจ้าหน้าที่ศาลอนุมัติ โดยเช็กผลการอนุมัติทาง "CIOS"
4. ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ศาลอนุมัติ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับรายละเอียดขั้นตอนหลังจากเจ้าหน้าที่อนุมัติ "ขึ้นศาลออนไลน์"
5. หากคู่ความไม่พร้อมที่จะ "ขึ้นศาลออนไลน์" คู่ความและผู้เกี่ยวข้องสามารถมาพิจารณาที่ศาลตามปกติได้
นวัตกรรม "ขึ้นศาลออนไลน์" ถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ขั้นตอนทั้งหมดทำผ่านระบบออนไลน์ 100% ศาลยุติธรรมได้พัฒนาระบบมาเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน จนกระทั้งสามารถใช้ประโยชน์จาก "CIOS" ได้แก่
1. ติดตามคดีที่เกี่ยวข้อง
2. รายชื่อผู้ติดต่อราชการศาลผ่านโปรแกรมอ่านบัตรประชนประจำวัน
3. ปฏิทินนัดพิจารณา+นัดส่วนตัว
4. รายการนัดพิจารณา
5. แจ้งผลการส่งหมาย
6. แจ้งคำสั่งศาล
7. ขอคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดี
8. ขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด
9. ยื่นส่ง และรับคำคู่ความบางประเภท
10. ทนายขอแรง
11. การแจ้งการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น
12. ติดตามคดีที่สนใจ
13. ประเมินความเสี่ยง
14. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องตาม มาตรา 20 ตรี
15. การไกล่เกลี่ยหลังฟ้อง
16. อ่านและจัดเก็บประวัติการติดต่อด้วยบัตรประชาชนใบเดียวต่อยอดระบบบริการออนไลน์
ศาลยุติธรรม (CIOS)
17. การยื่นประกันออนไลน์
18. ห้องสืบพยานออนไลน์
19. การจัดส่งเอกสารในคดีแพ่งให้คู่ความหรือทนายความทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
20. การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอตั้งต้นคดีในคดีครอบครัว
21. การคัดถ่ายคำพิพากษาเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์โดยอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง
ภาพ:ศาลแขวงอุดรธานี