ชีวิตดีสังคมดี

จากธุรกิจจีนห้วยขวาง ขยายทั่วทิศรอบกรุง

จากธุรกิจจีนห้วยขวาง ขยายทั่วทิศรอบกรุง

22 ส.ค. 2566

"ห้วยขวางไชน่าทาวน์" ขึ้นชื่อว่า เป็นอาณานิคมของชาวจีน เพราะถนนทั้งเส้นเต็มไปด้วยธุรกิจทุนจีน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่ห้วยขวาง แต่ขยายวงกว้าง จุดเริ่มต้นทุนจีนมีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร และปัจจุบันขยายไปถึงไหน หาคำตอบได้จากรายงาน

  • ทำไมธุรกิจจีนทะลักเข้าห้วยขวาง


ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง เป็นทำเลที่ชาวจีนให้ฉายาว่า "หัวมังกร" แต่คนไทยเรียกว่า "ห้วยขวางไชน่าทาวน์" มีชาวจีนที่ทำธุรกิจสองฝั่งถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญตั้งแต่ปากทางเข้าจนสุดถนน ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร

 

 

 

ธุรกิจชาวจีนย่านถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2566

 

 

 

"ธุรกิจจีน" บนถนนเส้นนี้เป็นของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาจากประเทศที่ 3 ทะลักเข้ามาตอนที่จีนปิดประเทศช่วงไวรัสโควิด 19 ระบาด และอีกกลุ่มคือ นักศึกษาและครูสอนภาษาชาวจีนที่อาศัยอยู่ก่อนหน้า เพราะทำเลใกล้สถานทูตจีน และรายล้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทางสะดวก

 

 

 

สุกี้หม้อไฟ  


"ห้วยขวางไชน่าทาวน์" จับตลาดประเทศไทยเน้นร้านอาหาร "สุกี้หม้อไฟ" ไปจนถึงรับแลกเงินหยวน แน่นอนว่า ธุรกิจบางแห่งบริเวณชุมชนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญที่ดำเนินการโดยชาวจีนไม่ได้ขึ้นทะเบียนการค้าอย่างถูกต้องเสมอไป หลายร้านมีคนไทยถือหุ้นเป็นฉากบังหน้า เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายไทย หรือที่เรียกว่า "นอมินี" 

 

 

 

บรรยากาศธุรกิจชาวจีนย่านถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2566 ร้านที่เปิดให้บริการปกติคือร้านที่ขึ้นทะเบียนการค้าถูกต้องตามกฎหมายไทย

ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ระบุว่า ต้องใช้ทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 2 ล้านบาท มีชาวไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 51% ซึ่งชาวจีนส่วนใหญ่ที่มาตั้งบริษัทในไทย จะใช้วิธีการแบ่งหุ้นเป็นชาวไทย 2-4 คน ถือหุ่นไม่เกินไม่ 30% และชาวจีนถือหุ้น 49% เพียงคนเดียว วิธีการนี้ชาวจีนจะเป็นเจ้าของบริษัทสัญชาติไทยได้อย่างไม่ยุ่งยาก แต่บางกรณีชาวไทยที่ถือหุ้นอาจจะเป็นเพียงแค่ตัวแทนอำพราง หรือนอมินีเท่านั้น หมายความว่า ธุรกิจเป็นของชาวจีน 100%

 

 

 

สุกี้หม้อไฟที่ชาวจีนนิยมรับประทาน

 

 

 

คำถามสำคัญคือ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอนุญาตได้อย่างไรทั้งๆ ที่รู้ว่านี้คือ นอมินี "ประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล" สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง (ส.ก.) อธิบายว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถรู้ได้ว่า คนไหนคือ  "นอมินี" เพราะเขามาขึ้นทะเบียนการค้าถูกต้องตามเงื่อนไข บางคนเป็นภรรยาจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถเอาผิดได้ เวลาเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตเข้าไปขอตรวจเอกสารยืนยันการประกอบธุรกิจ จะมีชาวไทยออกมาแสดงตนว่า เป็นเจ้าของธุรกิจ และมีหลายร้านที่ลับลอกเปิดธุรกิจผิดกฎหมาย

 

 

 

ประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล

 

 

 

"ธุรกิจจีน" โดยเฉพาะ "สุกี้หม้อไฟ" ที่ "ห้วยขวางไชน่าทาวน์" ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ชาวจีนที่มาเที่ยวต่างมุ่งหน้าไปที่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญรองจากถนนเยาวราช ไม่เพียงได้รับความนิยมจากชาวจีนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงวัยรุ่นไทยด้วย 

 

 

 

บรรยากาศในปัจจุบันที่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ที่ได้ชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์อีกแห่งของไทย
 

 

 

"ห้วยขวางไชน่าทาวน์" อยู่ในยุครุ่งเรือง "ธุรกิจจีน" ไหล่บ่าเช่าซื้ออาคารเพื่อทำธุรกิจ ในขณะที่คนไทยประกาศขาย ตอบโจทย์ความต้องการซื้อและความต้องการขาย ราคาอสังหาริมทรัพย์จึงขยับขึ้นอัตโนมัติ

 

 

 

การเข้ามาของ "ธุรกิจจีน" สร้างผลกระทบต่อคนไทยที่อยู่ดั้งเดิมในพื้นที่นั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งปัญหาเรื่องขายสินค้าราคาถูกกว่า หรือหนุนให้ราคาเช่าและซื้ออาคารในย่านห้วยขวางปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

 

 

 

ข้อมูลจาก "สุรเชษฐ กองชีพ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยกับผู้จัดการออนไลน์ว่า ก่อนหน้านี้ค่าเช่าพื้นที่ชั้น 1 ของตึกแถวริมถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญอาจจะอยู่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน แต่ช่วงก่อนโควิดราคาขึ้นไปถึง 30,000-40,000 บาทต่อเดือน ราคาที่สูงขนาดนี้ ธุรกิจของคนไทยก็ย่อมอยู่ลำบาก ร้านค้าของคนไทยทยอยล้มหายตายจาก กลายเป็นร้านอาหารจีน ร้านขายสินค้าจีน หรือธุรกิจอื่นๆ ของคนจีนที่เข้ามาทดแทน จนเรียกได้ว่าตึกแถวกว่าครึ่งหนึ่งในพื้นที่สองฝั่งของถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเป็นของคนจีนไปแล้ว

 

 

 

  • ทำไมจีนเลือกลงทุนในไทย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย หลายๆ คนตั้งข้อสังเกต บ้างเพราะกฎหมายไทยอ่อนแอ บางลงทุนที่จีนหากรัฐบาลตรวจสอบเส้นทางการเงินผิดกฎหมายจะถูกยึดทั้งหมด บ้างก็ว่าจุดยุทธศาสตร์เหมาะกับการลงทุน เพราะไทยเชื่อมโยงตลาดอาเซียน แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ณ วันนี้คนไทยหลายๆ คน เกิดความกังวลด้านความปลอดภัย เพราะภาพที่ปรากฏทุนจีนเสมือนมาเฟียใช้ธุรกิจมีหน้าร้านฟอกเงินสีดำ 

 

 

 

 

  • "ห้วยขวางไชน่าทาวน์" เริ่มชะลอเติบโต

"ประพฤทธ์" เล่าต่อว่า ช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566  เจ้าหน้าที่รัฐเข้าพื้นที่ปราบ "ธุรกิจจีน" อย่างเข้มข้น ทำให้การไหล่บ่าเข้าเขตห้วยขวางชะลอตัวลง ร้านผิดกฎหมายถูกสั่งปิด ทำให้ครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มทยอยลดน้อยลงเรื่อยๆ ทุนจีนที่เข้ามาใหม่จากซื้ออาคารก็กลายเป็นเช่าแทน

 

 

 

ร้านสุกี้หม้อไฟที่ถูกสั่งปิดระหว่างรอขึ้นทะเบียนการค้าถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

 

"ห้วยขวางไชน่าทาวน์" เป็นจุดเปิดทุนจีนรุ่นใหม่ แต่พอทะลักเข้ามามากๆ ก็แย่งกันค้าขาย บวกกับช่วงหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไทยบังคับใช้กฎหมายจริงจัง จึงกระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ จุดที่มีคนอยู่เยอะๆ เช่น ศูนย์วัฒธรรมแห่งประเทศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัญฑิต ถนนข้าวสาร สำเพ็ง เสือป่า ปากคลองตลาด ประตูน้ำ เป็นต้น จุดที่กล่าวมานี้อยู่เป็นกลุ่มก้อน แต่มีกระจายแบบโดดเดี่ยวในจุดที่คนพลุกพล่าน เช่น ตามแนวรถไฟฟ้า หน้าห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

 

 

 


""ห้วยขวางไชน่าทาวน์" ไม่คึกคักเหมือนช่วงต้นปี เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจเข้ม จากกระจุกอยู่ในถนนเส้นนี้ก็ขยายออกข้างนอก เป้าหมายของ "ธุรกิจจีน" คือ ต้องมีที่จอดรถ และที่เห็นๆ ตามข้างถนนนั้นคือของคนจีน ร้านของคนจีนทั้งนั้น"  "ส.ก.เขตห้วยขวาง" ระบุ

 

 

 

  • ทำไมไทยมีคำถามกับทุนจีน

"ส.ก.เขตห้วยขวาง" เล่าต่ออีกว่า จริงๆ แล้วถนนเส้นนี้ก่อน "ธุรกิจจีน" เข้ามาอยู่จะเงียบมาก เพราะไม่มีที่จอดรถ แต่พอทุนจีนเข้ามา จากอาคารร่างมีคนมาเช่า มาซื้อ ทำให้เจ้าของอาคารมีรายได้เพิ่มมากขึ้น หน่วยงานรัฐได้เก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยภาพรวมแล้วทำให้ถนนเส้นนี้คึกคักมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐไม่ใช่เฉพาะ กทม. แต่หมายถึงรัฐบาลต้องเข้ามาดูแล เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติ ลำพัง กทม.เองคงไม่สามารถควบคุมดูแล "ห้วยขวางไชน่าทาวน์" ได้อย่างทั่วถึง รวมถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาดูแลช่วยเช่นกัน 

 

 

 


"ตำรวจดูไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายในเรื่องของแรงงานต่างด้าว การจ้างงานคนไทย และอาจต้องดูในเรื่องของความปลอดภัยที่เกิดขึ้น เพราะหลายคนก็เริ่มจะมีความคิดว่า คนจีนพวกนี้อาจเป็นคนจีนสีเทานิดๆ เป็นมาเฟีย ก็เริ่มที่จะเป็นห่วงเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องความปลอดภัย ทำไมมาเฟียมาอยู่แถวบ้านเราเต็มกันหมดเลย ฉากหน้าเป็นร้านพวกนี้ แต่ฉากหลังพวกเขาอาจจะทำความผิดกฎหมายของยาเสพติด ค้าประเวณี หรือทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเราก็เริ่มกลัว เราไม่อยากให้เขตห้วยขวางเต็มไปเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ของพวกเจ้าพ่อมาเฟีย เราต้องการความสบายใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ในห้วยขวางบ้านเขาเหมือนเดิม โดยที่เขาไม่ต้องมาเกรงกลัวว่าจะมีมาเฟียข้ามชาติ หรือมีคนมาอยู่ใกล้ๆ บ้านเขา นี่คือสิ่งที่เขาคงจะเป็นห่วงในอนาคตถ้าตรงนี้ไม่ใช่แค่ร้านอาหารจริงๆ อย่างที่หลายคนเขาว่า" "ส.ก.เขตห้วยขวาง" อธิบาย

 

 

 

ของกลางที่ตำรวจไทยสามารถตรวจยึดได้จากการบุกจับนักธุรกิจชาวจีนหลอกล่วงผู้บริสุทธิ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566

 

 

 

  • "ห้วยขวางไชน่าทาวน์" กระจายทั่วกรุง


"ห้วยขวางไชน่าทาวน์" เริ่มกระจายไปสู่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัญฑิต สำเพ็ง เสือป่า ปากคลองตลาด ประตูน้ำ และจุดผู้คนพลุกพล่าน แต่รูปแบบธุรกิจจะแตกต่างไปตามพื้นที่ เช่น "สำเพ็ง" เกินครึ่งเป็นร้านค้าที่ลงทุนโดยชาวจีน ส่วนใหญ่เป็นร้านขายสินค้ากิฟต์ช็อป หน้ากากอนามัย รองเท้า ล้วนแต่นำเข้าจากจีนทั้งสิ้น เมื่อเข้ามาเปิดเยอะขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจที่คนไทยต้องอาศัยคนกลางในการนำเข้าสินค้ามาจากจีน จึงเสียเปรียบชาวจีนที่ได้สินค้ามาในราคาถูกกว่า เกิดปัญหาขายตัดราคา ขณะที่ราคาเช่าอาคารก็พุ่งสูงขึ้นไม่ต่างกับที่ "ห้วยขวางไชน่าทาวน์"

 

 

 

สินค้าวางขายในตลาดสำเพ็ง

 

 

 

 

สินค้าวางขายในตลาดสำเพ็ง

 

 

 

 

ร้านสุกี้หม้อไฟย่านเจริญนคร เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

 

 

 

ย่าน "เสือป่า" ขายสินค้าอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ส่วนที่ "ปากคลองตลาด" เป็นร้านขายดอกไม้ดอกไม้บางอย่างนำเข้าจากจีน ส่วนร้านอาหาร "สุกี้หม้อไฟ" ที่กระจายทั่วกรุงเทพฯ วัตถุดิบได้นำเข้าจากจีน ร้านค้าทั่วไป เช่น ร้านทุกอย่าง 20 บาท ร้านจำหน่ายของฝาก เป็นต้น ก็นำเข้าจากจีนเช่นกัน 

 

 

 

สุกี้หม้อไฟที่ชาวจีนนิยมรับประทาน

 

 

 

"ธุรกิจจีน" ขยายครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ ในย่านการค้าสำคัญๆ ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้อีกว่า "ธุรกิจจีน" ขยายในโซนกรุงเทพฯ แค่นี้จริงหรือ หรือจริงๆ แล้ว ขยายไปทั่วประเทศเป็นป่าล้อมเมือง ในขณะที่เม็ดเงินของคนไทยไม่รู้ไปอยู่ไหน 

 

 

 

อีกคำถามตัวโตๆ จากสังคมไทยคือ ภาครัฐทำไมถึงปล่อยให้ทุนจีนเข้ามาเปิดธุรกิจอย่างผิดกฎหมายได้ต่อเนื่องหลายปี นานวันยิ่งไหล่บ่ามากขึ้นเรื่อยๆ