ปรากฏการณ์การเมือง เก้าอี้รัฐมนตรียุครัฐบาลผสม เมินความเหมาะสม
ตำรวจคุมครู ครูคุมทหาร ปรากฏการณ์การเมือง เก้าอี้รัฐมนตรี (รมว.) จัดสรรตามโควต้า ไม่สนความเหมาะสม นักวิชาการด้านการศึกษาสะท้อนภาพ รมว.ศึกษาเป็นตำรวจ นี้คืออนุรักษ์นิยม โจทย์มหาหินบริหารการศึกษาโลกยุคใหม่ เด็กต้องการมากกว่าห้องเรียน
"ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน" นักวิชาการด้านการศึกษา หรืออาจเรียกเขาแทนว่า "ทูตพิทักษ์สิทธิเด็ก" เพราะ "ศ.ดร.สมพงษ์" คือด้านหน้าต่อสู้ให้เด็กไทยได้รับการศึกษาเท่าเทียมเสมอภาค ในวันที่รายชื่อ "รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ" (รมว.ศธ.) สมัย "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏอย่างเป็นทางการ เป็นคนที่มาจากวงการตำรวจ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก "ศ.ดร.สมพงษ์" สะท้อนว่า มันคือปรากฏการณ์ทางการเมือง
"ศ.ดร.สมพงษ์" ให้ความเห็นว่า การได้ตำรวจมาดูแลงานด้านการศึกษา ไม่สอดคล้องกับภาระงานบริหาร ศธ. ในอนาคต "รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ" คนนี้มีปูมหลังเป็นตำรวจ จะมองประเด็นเรื่องระเบียบวินัย กฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งเป็นระบบอนุรักษ์นิยม มุ่งรักษาสิ่งที่ดำเนินการมาแล้วในอดีต ยิ่งทำให้ ศธ.ถอยหลังลงไปเป็นความเก่าแก่
"เรามองจากเหตุการณ์ปัจจุบัน ความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มองเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องการเรียนรู้เป็นสิทธิ การเรียนรู้เป็นเจ้าของการศึกษา และออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ผมคิดว่ามันขัดแย้งกันอย่างรุนแรงกับโลกอนาคตของคนรุ่นใหม่" "ศ.ดร.สมพงษ์" ระบุ
"ศ.ดร.สมพงษ์" อธิบายต่อว่า วันนี้สังคมตั้งคำถามว่า คนที่จะมานั่ง "รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ" เหมาะสมไหม เป็นคำถามที่สำคัญมาก ใครเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองก็อยากได้คนที่มีพื้นฐาน มีความเข้าใจ มีปูมหลังเรื่องการศึกษา แต่ในขณะนี้สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองหากติดตามการเมืองจะรู้สึกเลยว่า ไม่ค่อยมีความหวัง เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า ตอนที่พรรคนี้หาเสียงเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาน้อยมาก มีแค่ประเด็นเดียวคือ กู้ยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
"ประเด็นนโยบายตอนหาเสียงไม่โดนและไม่น่าสนใจ แต่ประเด็นที่สนใจเขาคือ เรื่องกัญชาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เวลาที่เขามีการจัดสรรหรือแบ่งโครงสร้างพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลต่างๆ เลยได้มาดู ศธ. ถือเป็นโอกาสดีมากที่พรรคนี้เขาจะได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ทำงานกับเด็กเยาวชน แต่เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องความความพึงพอใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทีนี้เราได้คนที่มีปูมหลังเป็นตำรวจ มันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถาม เกิดความคลางแคลงใจในคุณสมบัติ" "ศ.ดร.สมพงษ์" กล่าว
"ศ.ดร.สมพงษ์" สะท้อนต่ออีกว่า หากลองสืบค้นพื้นที่ที่ "รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ" คนนี้แสดงความคิดเห็นทางการศึกษา คิดว่าน่าจะหาไม่เจอ แม้แต่วิสัยทัศน์ นโยบาย ความคิดเห็น แนวทางที่จะไปสู่อนาคต ทุกอย่างเงียบไปหมด
"คนนี้เงียบ เงียบ และเงียบ คนที่จะเป็นรัฐมนตรีคิดว่าเงียบแบบนี้จะทำให้คนเกิดความมั่นใจทำให้ดีขึ้นหรือเปล่า" "ศ.ดร.สมพงษ์" ระบุ
"นักวิชาการด้านการศึกษา" อธิบายต่อว่า มีกรณีคล้ายคลึงกัน อย่างรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ "สุทิน คลังแสง" ซึ่งเป็นครูมาดูแลทหาร ประชาชนวิจารณ์ไม่แตกต่างกัน แต่คุณลักษณะท่าทาง และการแสดงออกของ "สุทิน" อ่อนน้อมถ่อมตน ใจเย็น พูดจาดี ไปพบปะผู้คนที่เขามีความรู้มีความเข้าใจ พบอดีตรัฐมนตรี พบอดีตทหารเพื่อหาที่ปรึกษาที่ดีๆ สิ่งที่ทำอย่างน้อยๆ มันทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่น่าจดจำ แต่ "รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ" ที่มาจากตำรวจเงียบกริบ ไม่มีเคลื่อนไหวไม่มีสิ่งที่เป็นอาการหรือบ่งบอกกับสังคมได้เลยว่า รักการศึกษา พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง พร้อมหาทีมงานที่รู้เรื่องการศึกษาดีๆ มาช่วยบริหาร และขอให้มั่นใจในตัวเขา แต่ไม่เห็น มีแค่ความเงียบ เงียบ และเงียบ
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีพอมีความหวัง เพราะหากนายกรัฐมนตรีเป็นคนใส่ใจ ให้ความสนใจเรื่องโอกาส และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกของการปฏิรูปการศึกษาที่จะนำไปสู่การปรับปรุงการปฏิรูปอะไรต่างๆ อีกมากมาย เช่น เรื่องการให้โอกาส ต้องพูดเรื่องทุนการศึกษาทำอย่างไรให้ทุนการศึกษาของ กยศ. กับคนยากจนไปต่อจนถึงระดับอุดมศึกษา
หากกล่าวถึงเรื่องเด็กหลุดระบบการศึกษา ต้องวางแผนจะทำอย่างไรให้เด็กไม่ออกกลางคัน อาจทำเหมือน "โครงการตามน้องกลับเรียน" ให้ครูไปลงพื้นที่ไปติดตามเด็ก เห็นสภาพปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ต้องตีโจทย์ต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้ไปต่อในระดับอุดมศึกษา
คนได้รับโอกาสทางการศึกษาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อนั้นจะผลส่งผลทางอ้อมคือ ตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น สุดท้ายมันคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและครอบครัวได้ด้วยระบบการศึกษา
"นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องนี้ จะส่งผลกับ "รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ" ที่ร่วมรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนั้นๆ ผู้บริหารกระทรวงจะขยับ จนกลายเป็นนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการ" "ศ.ดร.สมพงษ์" กล่าวในที่สุด