ชีวิตดีสังคมดี

ห้องเรียนปลอดฝุ่น รับมือ PM 2.5 ชะตาเซลล์สมองเด็กอนุบาลในกำมือสภา กทม.

ห้องเรียนปลอดฝุ่น รับมือ PM 2.5 ชะตาเซลล์สมองเด็กอนุบาลในกำมือสภา กทม.

08 ก.ย. 2566

ดราม่า ห้องเรียนปลอดฝุ่น รับมือ PM 2.5 ทำลายเซลล์สมองเด็กเล็ก จากห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร สะเทือนประเทศ โดยเฉพาะหัวอกคนมีลูก หลังจากมีมติตัดงบ ห้องเรียนปลอดฝุ่น สรุปโครงการนี้สามารถเดินหน้าต่อได้หรือไม่ จะได้ภายในปี 67 ไหม สรุปครบจบที่นี่

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ชื่อว่า "ชัชชาติ สทธิพันธุ์" มักเอ่ยถึง "คนรุ่นใหม่" ต้องมีส่วนบริหาร กทม. ทำให้ชื่อ "ศานนท์ หวังสร้างบุญ" นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม นักธุรกิจ ในวัย 33 ปีในเวลานั้น รับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. และถูกวางตัวให้ดูแลงานด้านการศึกษา สังคม งานพาณิชย์ และถือว่าเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ที่อายุน้อยที่สุดใน 

 


 

 

ชัชชาติ สทธิพันธุ์

 

 

 

 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

 

 

 

 

"ศานนท์" ในวัย 34 คือที่มาของ ห้องเรียนปลอดฝุ่น เพราะเห็นว่า "การลงทุนในเด็กมีความสำคัญ โดยเฉพาะเด็กช่วงประถมวัยเป็นช่วงที่สำคัญมาก หากพัฒนาการไม่ดีจะส่งผลในระยะยาว" มีงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุชัดเจนว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หากได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (PM 2.5) จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันปอดและสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ โดยปกติปอดจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 6 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ เด็กมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้โอกาสหายใจรับ PM 2.5 มีมากกว่า และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กมักออกไปเล่นกลางแจ้ง 

 

 

 

 

ภาพประกอบ

 

 

 

 

ภาพประกอบ

"ศานนท์" เร่งแก้โจทย์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กอนุบาลเร็วที่สุด จึงเกิดโครงการ  "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" และโครงการ ห้องเรียนปลอดฝุ่น สำหรับเด็กอนุบาล อายุ 3 - 6 ปี (อนุบาล 1-2) ตามมาตาการแนวทางการทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับบ้านเรือนและอาคารสาธารณะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 

โครงการ ห้องเรียนปลอดฝุ่น จำนวน 429 โรงเรียนสังกัดกทม. รวม 1,743 ห้อง รวมงบประมาณ 219 ล้านบาท งบประมาณของสำนักการศึกษา กทม. ปี 2567  โดยจะทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด  30,000 บีทียู (BTU) จำนวน 2 เครื่อง/ห้อง และพัดลมระบายอากาศ ในแต่ละห้องเรียนขนาด 49 – 64 ตารางเมตร

 

 

 

 

"ศานนท์" นำเสนอโครงการ ห้องเรียนปลอดฝุ่น ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 แต่ยังมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หลายคนไม่เห็นด้วย และคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณกทม.ปี 2567 ได้ขอสงวนความเห็น เนื่องจากเห็นด้วยกับโครงการ ห้องเรียนปลอดฝุ่น แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ ประกอบกับโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นเดิม นำร่อง 32 แห่ง ที่กทม.ดำเนินการอยู่ไม่มีการขยายผลต่อยอดแต่อย่างใด

 

 

 

 

ที่ประชุมสภากทม. เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566

 

 

 

 

มติในที่ประชุมสภา กทม. จึงตัดงบประมาณโครงการ ห้องเรียนปลอดฝุ่น เนื่องจากมองว่าไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการปรับปรุง ซึ่งให้ความเห็นว่า การเขียนโครงการต้องเขียนให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. เรื่องเส้นเลือดฝอย การประมาณการเพื่อทำโครงการควรวิเคราะห์ให้สมเหตุสมผล ซึ่งคำขอรับงบประมาณทุกกลุ่มเขตไม่มีการให้รายละเอียดแต่อย่างใด การปรับปรุงห้องเรียนโดยการจัดซื้อเครื่องปรับอากาศอาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกวิธี ต้นทางการแก้ปัญหาคือ การปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้การปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น ควรปลูกฝังให้เด็กมีความรักและผูกพันกับต้นไม้ และอาจร่วมด้วยการงดกิจกรรมกลางแจ้ง รวมทั้งการหมั่นทำความสะอาด

 

 

 

มติเห็นชอบให้ตัดงบประมาณ ห้องเรียนปลอดฝุ่น จำนวน 48 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 งดออกเสียง 1 เสียง จำนวนผู้เข้าประชุม 49 คน จากจำนวน ส.ก. ทั้งหมด 50 คน

 

 

 

ผลการลงมติที่ประชุมสภา กทม. พิจารณางบโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566

 

 

 

 

หนึ่งใน ส.ก. ที่ไม่เห็นด้วย คือ "สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา" ส.ก.เขตลาดกระบัง จากพรรคเพื่อไทย อภิปรายโดยสรุป การติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 BTU 2 เครื่อง กับขนาดห้องเรียน 21-32 ตารางเมตร เท่ากับ 60,000 BTU เด็กจะหนาวไหม อย่าลืมว่าโรงเรียนในกรุงเทพฯ เรียนฟรี เด็กอนุบาล ซึ่งเชื่อว่าฐานะไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ เวลาอยู่ที่บ้านไม่ได้นอนห้องแอร์ นอกจากนี้ ติดพัดลมระบายอากาศ ติดตั้งประตู คิดตามสมเหตุสมผลหรือเปล่า

 

 

 

 

สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา

 

 

 

 

"ท่านทราบไหมว่า บางเขต บางโรงเรียน นักเรียนอนุบาลมีแค่ 1-2 คน แล้วท่านจะติดแอร์ขนาด 60,000 BTU เพื่ออะไร เลยจะตั้งคำถามว่า สิ่งที่ทำโครงการมาตอบโจทย์แก้ปัญหาไหม 213 ล้าน กับสิ่งที่นำร่องไปแล้ว ผมไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการโรงเรียนปลอดฝุ่น แต่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการ มันคุ้มค่ากับงบประมาณหรือเปล่า" "สุรจิตต์" อภิปราย

 

 

 

 

อีกหนึ่ง ส.ก. คือ "รัตติกาล แก้วเกิดมี" เขตสายไหม จากพรรคไทยสร้างไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า "เราจะเอาโรงเรียนในกทม. ไปเปรียบเทียบกับเอกชนไม่ได้ เพราะเหล่านั้นพ่อแม่มีความพร้อมมีเงิน แต่กทม. เรียนฟรี เรียนดี อย่างมีคุณภาพ แล้วใช้จ่ายตรงนี้ ค่าไฟตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ โครงการที่เคยทำไปเคยย้อนกลับไปดูหรือไม่ว่ามันเป็นภาระกับโรงเรียน บางที่ไม่เคยได้ล้างแอร์เลย แทนที่จะแก้ไขปัญหา PM 2.5 เด็กต้องรับฝุ่นเพิ่มอีก และอย่าลืมนโยบายของท่านผู้ว่าฯ ลดภาวะโลกร้อน แต่กลับจะมาเพิ่มความร้อน คอมเพรสเซอร์ที่อยู่ด้านนอกปล่อยความร้อนออกมา แล้วเด็กที่โตกว่า ครูที่สอนอยู่ไม่ก่อกวนหรือ ไหนจะบ้านที่อยู่ติดโรงเรียน ถ้าโดนร้องเรียนใครจะรับผิดชอบ"

 

 

 

 

รัตติกาล แก้วเกิดมี

 

 

 

 

ขณะที่ "ชัชชาติ" ชี้แจงในที่ประชุมโดยสรุปว่า ห้องเรียนปลอดฝุ่น เป็นนโยบายที่ 048 จาก 200 นโยบายที่ประกาศไว้ จัดพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งเด็กอายุ 1-6 ขวบก็เป็นกลุ่มเปราะบาง เพราะเป็นช่วงชีวิตที่มีการพัฒนาสมองมากที่สุด จึงเป็นช่วงสำคัญที่จะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าในอนาคต หลายครั้งที่เราละเลยเด็กกลุ่มนี้ไป และทำให้เด็กพัฒนาไม่เต็มที่ ส่งผลให้การพัฒนาช่วงต่อไปช้าลง เด็กกลุ่มนี้ยังมีปัญหาใส่หน้ากากยาก เพราะเป็นเด็กเล็กและยังต้องนอนกลางวัน บางโรงเรียนโชคดีที่มีห้องแอรให้เด็กนอนกลางวัน เด็กก็จะนอนหลับสนิทและมีห้องที่ปิดล้อม ดังนั้นแนวคิดที่จะทำห้องปลอดฝุ่นที่มีเครื่องปรับอากาศ ก็อยู่ภายใต้แนวคิดนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน เน้นเด็กกลุ่มเปราะบาง

 

 

 

 

"หลายครั้งที่เราไปที่โรงเรียนเราก็เห็นเด็กอยู่ในห้องร้อนๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ฝุ่นมาก็คือต้องนั่งมีหน้ากากใส่ เลยคิดว่า เอ๊ะ ทำไมห้องผู้ว่าฯ ถึงมีแอร์ได้ แล้วทำไมห้องเด็กซึ่งเป็นอนาคตสำคัญของประเทศ ของเมือง ทำไมถึงไม่มีเงินติดแอร์ให้ อย่างเราเองเป็นผู้ว่าฯ มีฝุ่นปุ๊บก็เข้ามาในห้องมีแอร์ก็ปลอดภัยขึ้น ความคิดจริงแล้วเรื่องงบประมาณ เรื่องการลงทุน คิดว่าการลงทุนกับเด็ก ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์และคุ้มค่า จะเพิ่มสมาธิหลายๆ ด้าน" ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจง

 

 

 

 

ภาพประกอบ

 

 

 

 

ผู้ว่าฯ กทม. อธิบายต่ออีกว่า ส่วนเรื่องค่าไฟ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด อนาคตก็คงต้องมีการติดโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนมากขึ้น และคิดว่าไม่ว่าเด็กรวยหรือจน ก็ควรจะมีโอกาสที่ได้เรียนในห้องเรียนที่เหมาะสมกับการเรียน ไม่ต้องกังวลเรื่องต่างๆ แต่ก็คงจะต้องน้อมรับการตัดสินใจของสมาชิกสภา

 

 

 

 

"ต้องเคารพการตัดสินใจของ ส.ก. งบประมาณปี 2567 ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ถูกตัดไป 300 ล้านบาท ถือว่าไม่เยอะ ก็คงต้องปรับปรุงกระบวนการ อะไรที่เป็น Pilot Project ทำได้ก็ทำไปก่อน อาจหาเงินจากเอกชนมาซัพพอร์ตสักห้องเรียนหนึ่งแล้วเก็บข้อมูลเรื่องการใช้ไฟ ประโยชน์ที่ได้รับ เป็นหลักฐาน ให้เห็นประโยชน์หรือข้อเสียที่ชัดเจน บางโรงเรียนก็มีห้องเรียนแอร์อยู่บ้าง อาจทำให้การเสนอของบประมาณในครั้งหน้าคือปี 2568 ทำให้ ส.ก. พิจารณาง่ายขึ้น" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในที่สุด

 

 

 

 

"ศานนท์" ไม่ได้นิ่งเฉย ลุกขึ้นชี้แจงว่า ขอแก้ไขข้อมูลจากการอภิปรายของ ส.ก.ว่า เรื่อง ห้องเรียนปลอดฝุ่น ขนาดห้องเรียนเด็กอนุบาล คือ 49-64 ตารางเมตร เลยทำให้ต้องมีเครื่องปรับอากาศ 30,000 BTU 2 เครื่อง ไม่ใช่ 23-32  ตารางเมตร

 

 

 

 

ภายหลัง สภา กทม. มีมติ ตัดงบโครงการ ห้องเรียนปลอดฝุ่น กว่า 219 ล้านบาท "ศานนท์" ให้สัมภาษณ์ว่า คงเป็นรายละเอียดที่สภา กทม. น่าจะคิดว่ายังไม่ค่อยคุ้มค่า ถือว่ายังทำการบ้านไม่ดี ก็ต้องกลับไปปรับปรุงแก้ไขรายละเอียด จากนี้จะมีการกลับไปทบทวนเรื่องการเอาโซลาเซลล์ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ตามคำแนะนำของ ส.ก. มาปรับใช้และยื่นของบประมาณอีกครั้ง

 

 

 


"ห้องเรียนปลอดฝุ่น ที่ติดแอร์ไม่ได้ช่วยแต่เรื่องฝุ่น แต่ช่วยสร้างสมาธิด้วย การมาโรงเรียนอาจจะปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำ เพราะอยู่ที่บ้านก็มีฝุ่น หลายโรงเรียน กทม. มีติดแอร์ไปแล้ว ก็มีแนวทางปฏิบัติอยู่ ไม่ได้เปิดตลอด ถ้าเปิดตลอดค่าไฟโรงเรียนก็อ่วมเหมือนกัน แต่การถูกตัดงบไม่สามารถแปรญัตติได้อีกในงบประมาณรอบนี้ ต้องเสนอโครงการใหม่ ในการเสนอข้อบัญญัติงบประมาณรอบใหม่" รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ

 

 

 

 

สำหรับเหตุผลหลักที่กรรมการวิสามัญได้อภิปรายในที่ประชุมสภา กทม. "นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์" ส.ก. เขตคลองสามวา ในฐานะโฆษกสภากรุงเทพมหานคร บอกว่า เพราะ 1. เอกสารโครงการ ห้องเรียนปลอดฝุ่น ของทุกกลุ่มเขตที่หน่วยงานนำมาแสดงมีรายละเอียดเหมือนกันหมด คือ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง ในขณะที่สภาพห้องเรียนทุกแห่งมีขนาดที่แตกต่างกัน บางห้องเรียนมีขนาดเพียง 20 ตร.ม. และบางเขตมีจำนวนห้องเรียนอนุบาลไม่มาก และได้จัดให้เด็กอนุบาลได้เรียนรวมกัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ BTU ที่สูงและต้องติดตั้งให้ครบทุกห้อง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น

 

 

 


2. การติดตั้งเครื่องปรับอากาศจำเป็นต้องมีงบประมาณค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นด้วย รวมถึงค่าบำรุงรักษา ค่าล้างทำความสะอาด แต่พบว่าไม่ได้มีการของบประมาณในส่วนอื่นให้สอดคล้องกัน ทำให้เห็นว่าไม่มีการวางแผน เพียงแต่ต้องการใช้งบประมาณเท่านั้น

 

 

 


3. การแก้ไขปัญหา PM2.5 ต้องทำให้ถูกจุด ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มอาจไม่สอดคล้องกับนโยบายลดภาวะโลกร้อนของผู้บริหาร

 

 

 

 

นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์

 

 

 

 

"การเขียนโครงการเหมารวมในรูปแบบเดียวกันทุกกลุ่มเขต การตั้งราคาเครื่องปรับอากาศที่สูงเกินบริบทของห้องเรียน การกำหนดงบประมาณจากเบื้องบนเพื่อให้เบื้องล่างนำไปปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งาน จึงเหมือนการตีเช็คเปล่าที่ไม่ได้เจาะจงการใช้เงินให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศโดยไม่ได้จัดหาเครื่องฟอกอากาศเพิ่ม อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันฝุ่น ซึ่งมีจำนวนสูงเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ และเรื่องความปลอดภัยของเด็กไม่ได้มีแค่เรื่องฝุ่น แต่เรื่องของกล้องวงจรปิด ห้องน้ำที่เพียงพอและถูกสุขลักษณะ การปลูกต้นไม้ฟอกอากาศในโรงเรียน เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน" โฆษกสภากรุงเทพมหานคร ระบุ

 

 

 


หลังจากการประชุมสภา กทม.เสร็จสิ้นลง และผลการประชุมวาระ ห้องเรียนปลอดฝุ่น ถูกเผยแพร่ทุกช่องทางออนไลน์ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง บ้างให้ถอดเครื่องปรับอากาศห้องประชุมสภา กทม. บ้างให้ตัดงบสัมมนา บ้างให้ลองปิดเครื่องปรับอากาศห้องประชุมสภา กทม. 

 

 

 

 

ห้องเรียนปลอดฝุ่น รับมือ PM 2.5 ชะตาเซลล์สมองเด็กอนุบาลในกำมือสภา กทม.

 

 

 

ห้องเรียนปลอดฝุ่น รับมือ PM 2.5 ชะตาเซลล์สมองเด็กอนุบาลในกำมือสภา กทม.

 

 

 

ห้องเรียนปลอดฝุ่น รับมือ PM 2.5 ชะตาเซลล์สมองเด็กอนุบาลในกำมือสภา กทม.

 

 

 

ห้องเรียนปลอดฝุ่น รับมือ PM 2.5 ชะตาเซลล์สมองเด็กอนุบาลในกำมือสภา กทม.

 

 

 

ห้องเรียนปลอดฝุ่น รับมือ PM 2.5 ชะตาเซลล์สมองเด็กอนุบาลในกำมือสภา กทม.