ชีวิตดีสังคมดี

เปิดต้นทุนราคารถไฟฟ้าต่อเที่ยว เชื่อ 'รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ทันที

เปิดต้นทุนราคารถไฟฟ้าต่อเที่ยว เชื่อ 'รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ทันที

10 ก.ย. 2566

นักวิชาการ สภาผู้บริโภค และตัวแทนผู้บริโภค จี้รัฐบาลเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทันที พร้อมยืนยันผลการศึกษาต้นทุนค่าเดินรถเพียง 10 - 16 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น

หลังจาก "สุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาแถลงข่าวว่า นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อาจ "ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน" แต่จะเป็นนโยบายที่จะดำเนินการภายใน 2 ปี ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลจาก "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ราคารถไฟฟ้าเป็นนโยบายจะ "ทำทันที โดยบรรจุไว้ในการแถลงนโยบายเรื่องการขนส่งมวลชนทั้งหมดแล้ว

 

 

 

 

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

 

 

 

จึงเกิดคำถามว่า นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะถูกบรรจุในการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 11 - 12 ก.ย. หรือไม่

 

 

 

 

สุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ

"สำนักงานองค์กรของผู้บริโภค" ในฐานะผู้แทนของผู้บริโภค รวมถึงนักวิชาการ และตัวแทนผู้บริโภค จึงออกมาแสดงความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ "เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร" โดยความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอ 2 ปีในเส้นทางเดินรถที่รัฐเป็นเจ้าของ

"สารี อ๋องสมหวัง" เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า สภาผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ทำนโยบายเรื่องขนส่งมวลชนเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี โดยมีประเด็นสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ใช้ระบบขนส่งมวลชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมทั้งยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ 2 ปี

 

 

 

 

สารี อ๋องสมหวัง

 

 

 

 

"เรามั่นใจว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำได้จริง และที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมก็ยืนยันว่าทำได้ ขณะที่งานวิจัยของสภาผู้บริโภคได้ศึกษาต้นทุนค่าโดยสารต่อเที่ยวในปี 2557 - 2562 ในระยะเวลา 6 ปี ต้นทุนค่าโดยสารต่อคนต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 10.10 บาท จนถึง 16.30 บาท นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าชัชชาติ และเจ้าหน้าที่ กทม. ก็ได้รับคำตอบในทางเดียวกันว่าต้นทุนค่าโดยสารต่อคนต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 11 -13 บาท จึงมองว่าค่าโดยสาร 20 บาทเป็นสิ่งที่ทำได้แน่นอนและสามารถทำได้ทันที" เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ

 

 

 

 

 

"สารี" อธิบายอีกว่า รัฐบาลควรเริ่มต้นกำหนดค่าโดยรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจากรถไฟฟ้าที่ลงทุนโดยรัฐบาล ทั้งสายที่อยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่ ไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดงเหนือ – ตะวันตก และสายสีเหลือง

 

 

 

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถดำเนินการเรื่องการเชื่อมต่อโดยไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนในรถไฟฟ้าที่รัฐบาลลงทุนได้ทันที ส่วนกรณีรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุน เช่น สายสีเขียว อาจเจรจาเพื่อดำเนินการได้ในภายหลัง

 

 

 

 

สำหรับกรณีที่หลายภาคส่วนมีข้อห่วงกังวลเรื่องการใช้งบประมาณจากภาครัฐกว่า 5.4 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนรถไฟฟ้าอาจจะกระทบต่อภาระงบประมาณของภาครัฐนั้น "สารี" แสดงความเห็นว่า อาจต้องไปตรวจสอบข้อมูลว่าต้องใช้งบประมาณสนับสนุนมากขนาดนั้นจริงหรือไม่

 

 

 

 

ทั้งนี้ มองว่าต้องนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีผู้ใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงการพัฒนารายได้จากส่วนอื่นๆ มาหักลบกันด้วย ยังไม่รวมถึงประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ลดปัญหารถติด ช่วยลดฝุ่น PM2.5 ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้น ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

 

 

 

 

สอดคล้องกับ "ศ.ดร.เอกชัย สุมาลี" นักวิชาการด้านคมนาคม ขนส่ง สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นสนับสนุน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำได้ทันที โดยเริ่มต้นจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าของรัฐก่อน จากสถิติของคนกรุงเทพและปริมณฑลส่วนใหญ่จะเดินทางรถไฟฟ้าไม่เกินประมาณ 6 - 8 สถานี เพราะฉะนั้นโจทย์แรกที่ต้องแก้ปัญหาคือทำให้ผู้บริโภคที่เดินทางระยะ 10 สถานี สามารถจ่ายค่าโดยสาร 20 บาท ซึ่งเชื่อว่าการเริ่มต้นจากคนกลุ่มนี้ก่อนจะสามารถลดข้อจำกัดหรือข้อโต้แย้งด้านอื่นๆ ในเชิงภาระการเงินได้

 

 

 

 

ศ.ดร.เอกชัย สุมาลี

 

 

 

 

"ศ.ดร.เอกชัย" ระบุอีกว่า การแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ควรพิจารณาการพัฒนารถไฟฟ้าที่ไม่ใช่เร่งเพียงโครงสร้างพื้นฐาน แต่ต้องมองภาพรวมทั้งระบบพัฒนาไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการผลักดันตั๋วร่วม เชื่อมรถไฟฟ้าทุกสายเข้าด้วยกัน และลดค่าแรกเข้า ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดค่าโดยสาร

 

 

 

 

"รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์" รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายสามารถทำได้ โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ ปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่อยู่ในการดูแลหน่วยงานรัฐซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที แต่อาจจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหาการขาดทุน ซึ่งต้องพิจารณาในเรื่องการหารายได้เพิ่มจากการใช้ประโยชน์พื้นที่สถานี เช่น การให้เช่าพื้นที่ต่อสถานี การเชื่อมต่อกับศูนย์การค้า การโฆษณาในสถานี เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ทำให้ไม่ต้องขาดทุนได้

 

 

 

 

รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์

 

 

 

 

ส่วนแนวทางที่ 2 สำหรับรถไฟฟ้าสายที่ไม่ใช่ของรัฐ เช่น บีทีเอสสีเขียว สายสีเหลือง เป็นต้น รัฐจะต้องเจรจา แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของการเจรจา โดยกรณีสายสีเขียวใกล้จะหมดสัมปทานในปี 2572 รวมไปถึงการเจรจาเรื่องการยกเลิกการจ่ายค่าแรกเข้าจะช่วยให้ลดราคาค่าโดยสารได้ 

 

 

 

 

 

"รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นความท้าทายที่สามารถทำได้ โดยต้องทำทั้งสองแนวทางคู่กันไปคือรถไฟฟ้าที่เป็นของรัฐบาลต้องลดราคาทันที และต้องการเจรจากับรถไฟฟ้าที่เป็นของเอกชนเพื่อขอลดราคา เพราะจากที่เคยศึกษาต้นทุนค่าโดยสารอยู่ในช่วงประมาณราคา 16 – 17 บาท เพราะฉะนั้น 20 บาทจึงมีความเป็นไปได้ และอยากสนับสนุนให้รัฐบาลทำในฐานะที่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่ ทั้งนี้ หากรัฐบาลดำเนินการได้ตามที่เคยประกาศนโยบายเอาไว้คนจะเชื่อถือและสนับสนุนเป็นเกราะป้องกันในการทำงานได้" "รศ. ดร.ชาลี" อธิบาย

 

 

 

 

ตัวแทนผู้บริโภค "จักรกฤต เต็มเปี่ยม" บอกด้วยว่า คาดหวังที่จะได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรมมาตลอดระยะเวลา 9 ปี และคาดหวังว่าภายหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในวันที่ 11 ก.ย. 2566 จะมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้นและรัฐบาลจะดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทันที

 

 

 

 

"จักรกฤต" ได้ให้ข้อเสนอเพิ่มเติมว่า เรื่องการใช้บัตรใบเดียวใช้รถไฟฟ้าได้ทุกสายเน้นว่า หากค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะทำให้มีผู้บริโภคเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้นด้วย

 

 

 

 

จักรกฤต เต็มเปี่ยม