เปิด นโยบายแรงงาน 'พิพัฒน์' มุ่งปั้น แรงงานทักษะดี มีงานทำ
เปิด นโยบายแรงงาน 'พิพัฒน์ รัชกิจประการ' รมว.แรงงาน มุ่งบูรณาการ 4 กระทรวงหลัก ปั้นแรงงานมีทักษะ เพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ชู ประกันสังคมเด่น แรงงานคุณภาพชีวิตดี มีรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
วันที่ 14 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแรงงาน ปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนงานกระทรวงแรงงาน โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงแรงงาน มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งภาคแรงงานเองจะต้องเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ มีศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีนโยบายและงานหลักสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประการแรก คือ การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านแรงงาน ที่ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แถลงไว้ต่อสภาเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 โดยจะต้องนำนโยบายตรงส่วนนี้ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ
นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของกระทรวงแรงงานเองผมได้มีนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันดำเนินการในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
เปิด 8 นโยบายสำคัญกระทรวงแรงงาน
- พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงเพื่อรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถการปฏิบัติงาน
- เร่ง Up-Skill ทักษะฝีมือแรงงานเพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ (Up – Skill for More Earn) ด้านมีงานทำ
- ใช้ระบบ One Stop Service บริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวครบจบที่จุดเดียว
- เพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ให้สำเร็จภายในปี 2567 และด้านหลักประกันทางสังคมเด่น
- ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน (Micro Finance)
- กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน
- ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ (Best E-Service)
- รวมไปถึงการสร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน
ในส่วนของกองทุนประกันสังคม ต้องเน้นการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความยั่งยืน ผู้ประกันตนต้องได้รับการบริการด้านการรักษาพยาบาลครบทุกด้านและดีขึ้นกว่าเดิม
โดยนำระบบ E-Claim เข้ามาใช้ ขณะที่การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจะเน้นจัดทำทะเบียนควบคุมและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้ผู้บริหารผลักดันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และมอบหมายให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือผนึกกำลังกับ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย(มท.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) และกระทรวงแรงงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายแบบบูรณาการ
การขับเคลื่อนนโยบายแบบบูรณาการนั้น เน้นการแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ระหว่างกัน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกฐานะกระทรวงแรงงานให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์แบบ และมอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงาน เร่งหารือสำนักงานประกันสังคมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ของนโยบายกู้ยืมเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อพัฒนาและยกระดับให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
“ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานในระดับล่าง การพัฒนาทักษะฝีมือนอกจากแรงงานไทยแล้ว กระทรวงแรงงานจะเข้าไปพัฒนาในส่วนของแรงงานเพื่อนบ้านเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งเรามีแนวคิดให้งานทำแก่ผู้ลี้ภัยให้เขามีรายได้ตามหลักสิทธิมนุษยธรรมด้วย” รมว.แรงงาน กล่าวสรุป