ชีวิตดีสังคมดี

'ผู้ประกันตน' มาตรา 33 เช็กด่วน 'เงินสมทบประกันสังคม 2567' จ่ายเพิ่มจาก 750

'ผู้ประกันตน' มาตรา 33 เช็กด่วน 'เงินสมทบประกันสังคม 2567' จ่ายเพิ่มจาก 750

20 ต.ค. 2566

ประกันสังคม ปรับเพดาน จ่ายเงินสมทบ ถังแตก หรือมาตรฐานเพดานค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 'ผู้ประกันตน' มาตรา 33 เตรียมจ่าย 'เงินสมทบประกันสังคม 2567' เพิ่ม เกษียณ ว่างงาน ได้เงินเท่าไร

ท่ามกลางกระแสกองทุนประกันสังคม มีความเสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปี ข้างหน้า แม้ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะออกมายืนยันว่ากองทุนประกันสังคม มีเสถียรภาพมั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง และเพียงพอแต่ “เงินสมทบประกันสังคม 2567” ผู้ประกันตน มาตรา 33 เตรียมต้องจ่ายเพิ่ม สูงสุดเป็นหลักพัน

โดยตั้งแต่ปี 2567 กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอร่างกฎหมายปรับขึ้นเพดานเงินสมทบประกันสังคมเป็นขั้นบันได ซึ่งผู้ประกันตน มาตรา 33 ต้องจ่ายประกันสังคมเพิ่มจาก 750 เป็น 875-1,150 บาท/เดือน

 

 

ด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของผู้ประกันตน มาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2538 จนถึงปัจจุบัน จึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

 

 

เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มาก ไปสู่ผู้มีรายได้น้อย ภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม

 

“เงินสมทบประกันสังคม 2567” กระทรวงแรงงาน ได้ประกาศปรับเพดานเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 33 เพิ่มจาก 750 บาท/เดือน เป็น 875-1,150 บาท/เดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

 

 

  • ระยะที่ 1 : ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567-31 ธ.ค. 2569 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 875 บาท/เดือน
  • ระยะที่ 2 : ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570-31 ธ.ค. 2572 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,000 บาท/เดือน
  • ระยะที่ 3 : ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาท/เดือน

 

 

ทั้งนี้ การปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมในครั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้ปรับเพดานเงินสมทบทุก 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวกองทุนประกันสังคม อยู่ในภาวะความเสี่ยงล้มละลาย ในอีก 30 ปีข้างหน้า

 

 

ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเพดานเงินสมทบในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลต่อผู้ประกันตนที่มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อการตัดสินใจจ้างงานของผู้ประกอบกิจการได้บ้าง

 

 

แต่ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่จะได้เพิ่ม สำนักงานประกันสังคม เคลมว่า สิทธิประโยชน์ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น เงินทดแทนกรณีว่างงาน จะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 8,750 บาท จากเดิม 7,500 บาท รวมทั้ง มีการเพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้จากการทุพพลภาพ, เพิ่มการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร และขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิมอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เป็น 65 ปีบริบูรณ์ เพื่อพัฒนาระบบ “ประกันสังคม” ให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ตอบโจทย์ของทุกกลุ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนให้ดีขึ้น