ชีวิตดีสังคมดี

แกะรอยข้อตกลงซื้อ 'เรือดำน้ำ' นักวิชาการแนะเปลี่ยนเป็นเรือผิวน้ำดีที่สุด

แกะรอยข้อตกลงซื้อ 'เรือดำน้ำ' นักวิชาการแนะเปลี่ยนเป็นเรือผิวน้ำดีที่สุด

26 ต.ค. 2566

แกะรอยข้อตกลงซื้อ "เรือดำน้ำ" จากจีน แบบ 2 แถม 1 ก่อนวันใกล้หมดสัญญา ด้านนักวิชาการผ่าทางตันปัญหา ชี้เปลี่ยนเป็นเรือผิวน้ำเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ประเด็นจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่ก็ยังเกิดการครหาถึงแนวทางการจัดซื้อ การทำข้อตกลง ระหว่างประเทศไทยและจีนมาอย่างต่อเนื่อง สังคมเรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมออกมาเปิดข้อตก และสัญญาซื้อขายก่อนที่จะเปลี่ยน "เรือดำน้ำ" เป็น เรือฟริเกต แต่ก็ได้คำตอบเพียงว่าอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดยังไม่สามารรถชี้อะไรได้มากไปกว่าแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงข้อตกลง

สำหรับข้อตกลงซื้อขาย "เรือดำน้ำ" ระหว่างไทยและจีน มีรายละเอียดดังนี้

  • 25 ก.ค. 2559 ได้อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น Yuan class S26T จำนวน 2 ลำ แถม 1 ลำ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยวงเงินงบประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยซื้อครั้งละ 1 ลำ ด้วยงบประมาณประจำปีแบบผูกพัน
  • เม.ย. 2560 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ เนื่องจาก คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินการจ้างสร้างเรือดำน้ำลำแรกรุ่น Yuan class S26T ไปแล้ว
  • 18 เม.ย. 2560 จัดซื้อ เรือดำน้ำ โดยไม่มีการแถลงหรือชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบแต่อย่างใด

 

สำหรับข้อตกลงการอนุมัติจัดซื้อครั้งนี้เป็นการทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. ซึ่งเป็นตัวแทนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งชำระเงินเป็นงวด 7 ปี รวมทั้งสิ้น 17 งวด สำหรับงวดแรกในปี 2560 ต้องชำระเงินจำนวน 700 ล้านบาท และระหว่างปี 2561-2566 ต้องชำระเงินเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า พิจารณาข้อเสนอในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ครั้งนี้ ได้เปรียบเทียบบริษัทผู้ผลิต "เรือดำน้ำ" จากประเทศต่างๆ มีเพียงบริษัทของจีนเท่านั้นที่ครบเงื่อนไขความต้องการของกองทัพเรือทั้งด้านขีดความสามารถและความพร้อมตามความต้องการ ด้านการซ่อนพราง ระบบอาวุธที่หลากหลายและรุนแรง และความปลอดภัย  ด้านความต่อเนื่องตลอดอายุการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมกำลังพล และการบำรุงรักษา และด้านงบประมาณของกองทัพ  ด้วยความได้เปรียบที่กล่าวมาทำให้ เรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้ารุ่น Yuan S26T ที่มีอายุการใช้งานนานถึง 30 ปี คุ่มค่าทั้งในแง่ราคาและประโยชน์ที่ได้รับมากที่สุด

 

แม้ว่าจะเป็นข้อตกที่ได้เปรียบมากขนาดนี้ และมีการส่งมอบ "เรือดำน้ำ" ลำแรก ไปแล้วแต่ท้ายที่สุดกองทัพเรือก็ได้เสนอกระทรวงกลาโหมขอให้มีการเปลี่ยน เป็นเรือ ฟริเกต เพราะเหตุผลที่ว่า การเจรจาซื้อเครื่องบนต์กับทางเยอรมนีไม่เป็นไปตามทีคาดการณ์ไว้

 

 

 

ปัญหาใหญ่ของการเปลี่ยน "เรือดำน้ำ" เป็น เรือฟริเกตในครั้งนี้ จะมีทางออกอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการส่งมอบเรือไปแล้ว และสัญญากำลังจะหมดลงในเดือนพ.ย. 2566 นี้ การเปลี่ยนแปลงสัญญาในครั้งนี้จะมีความคุ้มค่า เหมาะสมหรือไม่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงกระบวนการ “ผ่าทางตัน! ปัญหาเรือดำน้ำไทย”  ไว้ดังนี้

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

 

 

1. การแลกเรือดำน้ำกับเรือรบบนผิวน้ำ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ไทยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเรือดำน้ำที่มีปัญหาเครื่องยนตร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก และต้องถือว่าปัจจุบัน ปัญหานี้ถึง “ทางตัน” แล้ว และต้องการการแก้ปัญหาในระดับรัฐบาล

 

 

2. ความคิดที่จะให้ฝ่ายไทยล้มโครงการ และฝ่ายจีนคืนเงินให้ น่าจะเป็นไปได้ยาก แม้ผู้ขายจะไม่สามารถดำเนินการให้ครบตามความตกลงก็ตาม เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไทยไม่ใช่รัฐมหาอำนาจ ที่มีอำนาจการต่อรองมาก จนสามารถบังคับจีนได้ตามที่เราต้องการ

 

3. ต้องทำความเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแตกหักกับจีน หรือจัดการในแบบ “ชนกับจีน” (ตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องในสื่อสังคมออนไลน์) เช่นในแบบฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ซึ่งเป็นปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดน (แตกต่างอย่างมากกับปัญหาเรือดำน้ำ)

 

4. ขณะเดียวกันไม่ชัดเจนว่า มีประเด็นที่ไทยเป็นฝ่ายละเมิดสัญญาหรือไม่ เช่น ปัญหาการจ่ายเงินช้าในช่วงโควิดดังที่เคยปรากฏเป็นข่าว และได้รับการผ่อนผันจากจีน

 

5. การจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการซื้อสินค้าตามปกติ แต่เป็นการซื้ออาวุธ ที่มีนัยของการเมืองระหว่างประเทศของความสัมพันธ์ไทย-จีน และหากเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้น ย่อมไม่เป็นผลประโยชน์ต่อไทยในปัจจุบัน ปัญหานี้ไม่ใช่การสั่งของจาก “อาลีบาบา” แล้วได้ของไม่ครบตามที่ตกลงไว้ จึงเป็นปัญหา

 

6. การต่อต้านการแลกเรือแบบไม่เปิดช่องให้มีทางออก จะทำให้ประเด็นถอยกลับไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องของเครื่องยนต์เรือ (เช่นในช่วงต้น และไม่มีทางออก) ไม่ใช่ข้อถกเถียงว่า ไทยควรมีเรือดำน้ำหรือไม่ การทำเช่นนี้คือ การเดินย้อนกลับไปสู่ทางตัน

 

7. การแลกกับเรือฟริเกตอาจจะไม่ตอบปัญหาโดยตรง เพราะปัญหาราคาที่สูงกว่าเรือดำน้ำ การจ่ายเพิ่มจะทำให้สังคมรับไม่ได้ และมีผลกระทบกับรัฐบาลเป็นเหมือนกับการที่รัฐบาลต้อง “จ่ายค่าโง่” เพิ่มจากปัญหาเดิม ที่คนในสังคมไทยมองว่า จีนเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสำหรับไทย การแลกต้องไม่มีการ “จ่ายเพิ่ม”

 

 

8. การแลกเช่นนี้จะต้องไม่ใช่การจัดทำโครงการซ้อน ด้วยการทำโครงการจัดหาเรือรบใหม่ซ้อนเข้ามา เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น และควรต้องยุติโครงการเดิมให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการจัดงบประมาณ

 

9. เรือฟริเกตลำใหม่ต่อจากเกาหลีใต้แล้วในปี 2562 คือ “เรือหลวงภูมิพล” ควรต่อเป็น “เรือคู่แฝด” ไม่ควรเอาเรือฟริเกตลำใหม่จากจีนเข้ามา ควรดำเนินการตามแผนเดิมในการต่อลำที่ 2 (เรือหลวงนันทมหิดล) กับเกาหลีต่อไป (ปัญหาเดิมเกิดจากการโยกงบสำหรับเรือฟริเกตเกาหลีไปใช้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำในปีดังกล่าว)

 

10. เรือคอร์เวตน่าจะเป็นคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาการจัดหาเรือทดแทนเรือหลวงสุโขทัย และอาจแลกเป็นเรือคอร์เวตที่อาจมีขนาดใหญ่กว่าเดิม (เรือสุโขทัยมีระวางขับน้ำประมาณ 900 กว่าตัน เรือมงกุฎราชกุมารประมาณ 2000 ตัน) และการซ่อมบำรุงหลังจากการกู้เรือให้กลับมามีสภาพใช้งานได้เหมือนเก่า อาจจะไม่คุ้มค่า และการสั่งต่อใหม่จากอู่เรือในสหรัฐ อาจทำไม่ได้ด้วยปัญหางบประมาณในปัจจุบัน (เรือชุดนี้สั่งต่อในปี 2526 และเข้าประจำการในปี 2529/2530)

 

11. กองทัพเรือ/กระทรวงกลาโหมควรจะต้องตอบให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยได้จ่ายค่าเรือดำน้ำไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด และได้จ่ายในส่วนอื่นใดไปแล้วบ้าง อีกทั้ง หากเกิดการแลกจริง จะต้องมีความชัดเจนว่า เรือที่แลกมามีมูลค่าเท่าใด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสังคมได้รับรู้

 

12. ความตกลงในการจัดซื้อ/จัดหายุทโธปกรณ์เป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ คือ รัฐเป็นคู่สัญญา และเป็นการดำเนินการโดยรัฐ ปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมเป็นปัญหาของรัฐบาล 2 ฝ่าย การเจรจาเพื่อหาทางออกน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง ประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ไทยจะต้องแตกหักกับจีนในมุมมองแบบกระแสชาตินิยม เช่นมีการสร้างความเชื่อว่า การยอมแลกเรือดำน้ำกับเรือรบบนผิวน้ำของจีน เป็นเหมือนการกระทำที่ “ไม่มีศักดิ์ศรี” ของรัฐบาลไทยที่ “ยอมจีน”

 

13.  หากความตกลงเช่นนี้เกิดปัญหาขึ้น คณะรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงได้ บนเหตุผล 1 การเปลี่ยนแปลงเป็นผลประโยชน์ต่อรัฐ 2 การเปลี่ยนดังกล่าวไม่ใช่การดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของบุคคล/กลุ่มบุคคล 3 การเปลี่ยนเช่นนี้มีเหตุผลชัดเจนที่สามารถอธิบายกับสังคมได้

 

ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอเพื่อผ่าทางตัน ให้ปัญหามีทางออก เพราะปัญหากำลังเดินมาถึงจุดสุดท้าย ที่รัฐบาลและกองทัพเรือไทยต้องตอบให้เกิดความชัดเจนแล้ว