ชีวิตดีสังคมดี

'กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ' มอบเงิน 'เยียวยา' 'แพะ' กว่าสองล้านบาท

'กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ' มอบเงิน 'เยียวยา' 'แพะ' กว่าสองล้านบาท

10 พ.ย. 2566

'แพะ'ในคดีอาญา 3 ราย ได้รับเงิน 'เยียวยา' จาก 'กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ' รวมกว่า สองล้านบาท บางรายติดคุกฟรี กว่า 4 ปี

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่จำเลย(แพะ) ในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559)

สำหรับจำเลย (แพะ) ในคดีอาญา ที่ได้รับกช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในวันนี้ มีจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย

  1. กรณีตกเป็นแพะ ความผิดต่อพระราชบัญญัติการฟอกเงิน คดีถึงที่สุดที่ศาลอุทธรณ์ ระยะเวลาถูกคุมขัง 1,380 วัน โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (1) ค่าทดแทนการถูกคุมขัง เป็นเงิน 573,600 บาท (2) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างถูกดำเนินคดี เป็นเงิน 425,275 บาท และ (3) ค่าทนายความ 75,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,073,875 บาท
  2. กรณีตกเป็นแพะคดีความผิดฐานฉ้อโกงและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คดีถึงที่สุดที่ศาลชั้นต้น ระยะเวลาถูกคุมขัง 336 วัน โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (1) ค่าทดแทนการถูกคุมขัง เป็นเงิน 168,000 บาท และ (2) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างถูกดำเนินคดี เป็นเงิน 113,768 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 281,768 บาท
  3. กรณีตกเป็นแพะคดีความผิดต่อชีวิต ฯลฯ คดีถึงที่สุดที่ศาลชั้นต้น ระยะเวลาถูกคุมขัง 826 วัน โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (1) ค่าทดแทนการถูกคุมขัง เป็นเงิน 413,000 บาท  (2) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างถูกดำเนินคดี เป็นเงิน 273,406 บาท และ (3) ค่าทนายความ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 736,406 บาท

รมว.ยุติธรรม มอบเงินช่วยเหลือเหยื่อ(แพะ) คดีอาญา

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ตามหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม และพร้อมยืนเคียงข้าง ผู้บริสุทธิ์และจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

 

ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ)  หรือติดต่อได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง