ชีวิตดีสังคมดี

เช็กอัตราค่าโดยสาร 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' เริ่มเก็บเงินวันไหน ราคาเท่าไหร่

เช็กอัตราค่าโดยสาร 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' เริ่มเก็บเงินวันไหน ราคาเท่าไหร่

22 พ.ย. 2566

เช็กอัตราค่าโดยสาร 'รถไฟฟ้าสายสีชมพู' จะเริ่มเก็บค่าโดยสารเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่ เปลี่ยนระบบต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่หรือไม่ สรุปมาไว้ที่นี่

วานนี้(21 พ.ย.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เริ่มเปิดให้ประชาชนใช้บริการ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ฟรี แบบไม่ต้องจ่ายค่าโดยสารจำนวน 30 สถานี ตั้งแต่แยกแคราย-มีนบุรี โดยการทดสอบระบบครั้งนี้จะเปิดให้บริกานตั้งแต่เวลา 06.00 – 20.00 น. ทุกวันต่อเนื่องไป หากพบว่าระบบมีความพร้อม รฟม.จะขยายเวลาให้บริการออกไปอย่างต่อเนื่อง

 

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

โดยนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึก ภายหลังจากการเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ฟรี พบว่าที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุเพียวสถานีเดียวมีประชาชนใช้งานมากถึง 10,000 คน ปัจจัยหลักเพราะจุดดังกล่าวเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-คูคต จึงทำให้มีผู้ใช้งานจำนวนมาก คาดว่าในระหว่างการทดลองจะมีประชาชนใช้บริการมากกว่า 100,000 คนต่อวัน

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับการทดใช้บริการ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู"  ฟรีนั้นจะสิ้นสุดในวันที่ 3 ธ.ค. 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ในอัตราเริ่มต้น 15-45 บาท ทั้งหมด 30 สถานี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร โดยอัตรา ค่าโดยสารสายสีชมพู นั้นเป็นราคาที่ไม่ถูกหรือแพงเกินไป ซึ่งมีการคำนวนความคุ้มค่าและราคาที่ประชาชนสามารถจ่ายได้มาแล้ว

สำหรับกรณีการเปลี่ยนระบบ "รถไฟฟ้าจากสายสีชมพู" ไปเส้นทางอื่นๆ ไม่ต้องจ่ายค่าแรกเข้าเพิ่มเติม เนื่องจากจุดเชื่อมต่อไม่ว่าจะเป็นจุดเชื่อมต่อสายสีม่วง จุดเชื่อมต่อสายสีแดง ที่ขณะนี้จัดเก็บค่าโดยสาน 20 ตลอดสายอยู่แล้ว จึงไม่มีค่าแรกเข้าเพิ่มเติม ส่วนสายสีเขียว ซึ่งกทม. จะเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายในอัตรา 15 บาท หากเปลี่ยนจากสายสีชมพูไปใช้สายสีเขียวก็ไม่ต้องจ่ายค่าแรกเข้าเพิ่ม

 

 

 

สำหรับรถไฟฟ้ามหานคร "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" นับเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายที่สองของประเทศไทย ต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) ที่ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดเด่นในการทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เช่นเดียวกัน เพราะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักมากถึง 5 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง), สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา, สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว, สถานีวัชรพล เชื่อมต่อกับโครงรถไฟฟ้าสายสีเทาในอนาคต และสถานีมีนบุรี เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม

 

 

จึงสามารถขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เข้าสู่รถไฟฟ้าสายหลักที่วิ่งให้บริการในพื้นที่ใจกลางเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจะมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการในระบบและขบวนสำรอง รวมทั้งสิ้น 42 ขบวน โดยระยะแรกแต่ละขบวนจะให้บริการด้วยขนาด 4 ตู้ต่อขบวน สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในอนาคตเมื่อจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นก็สามารถเพิ่มขนาดสูงสุดได้ถึง 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง เมื่อให้บริการด้วยความถี่ 2 นาที