เปิดกฎหมาย 'โคมลอย' ตกใส่บ้านทำไฟไหม้ ใครต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย
เปิดกฎหมาย 'โคมลอย' ตกใส่บ้าน ที่นา ทำไฟไหม้ ใครต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย จุดพลุ บั้งไฟ ปล่อยโคม แบบไม่ข้ออนุญาตระวังโดนโทษหนัก 2 เด้ง
หลังลอยกระทงเราเริ่มเห็นภาพความเสียจากเจ้าของบ้าน เจ้าของตึกที่เริ่มออกมาแชร์ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการปล่อย "โคมลอย" หรือจุดพลุ ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องทุกปี และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ไม่สามารถตามหาตัวคนผิด หรือผู้ที่จะรับผิดชอบความเสียหายได้เลย แม้ว่าที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลลอยกระทง หรือช่วงยี่เปง รวมไปถึงเทศกาลปีใหม่ ทางจังหวัดได้ออกประกาศห้ามเล่นดอกไม้ไฟ จุดพลุ ปล่อย "โคมลอย" แต่ก็ยังพบว่ามีคนฝ่าฝืนจนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเป็นประจำ จนนำมาซึ่งการรณรงค์ไม่จุดพลุ ปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาล สำหรับอุบัติเหตุ เหตุอัคคีภัย จาก "โคมลอย" หลายคนยังคมถามหาว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิด
เปิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 27/2559 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล "โคมลอย" โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และเพื่อป้องกันันตราย รวมทั้งความเสียหายที่เกิดแก่ชุมชนและประชาชนจากการจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล "โคมลอย" โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อวกาศ สมควรกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
โดยในคำสั่ง คสช. ที่ 27/2559 ได้ระบุข้อห้ามจุด "โคมลอย" บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน ว่า ห้ามปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นสู่อวกาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขต สำหรับกรุงเทพมหานคร หรือนายอำเภอแห่งท้องถิ่น สำหรับจังหวัด
โดยให้จังหวัดจัดทำประกาศจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัย ดูแลความสงบให้แก่ประชาชน ในการจุด และปล่อยหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล "โคมลอย" โคมไฟ โคมควัน กำหนดระยะเวลาในการจุดและปล่อย ให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการจัดงานประเพณีและะวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านคำสั่ง คสช. ที่ 27/2559 ฉบับเต็ม คลิกที่นี่
ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า สำหรับการปล่อย "โคมลอย" จะต้องมีการขออนุญาตกับท้องที่ก่อนที่จะมีการจุดพลุ โคมลอย หรือวัตถุอื่นๆ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 27/2559 ผู้ที่ประสงค์จะทำการจุด หรือปล่อยโคม จะต้องขออนุญาตให้เรียบร้อย จึงจะสามารถดำเนินการ และหากในระหว่างจุด "โคมลอย" บั้งไฟ พลุ ตะไล แล้วเกิดอุบัติเหตุสร้างความเสียหายแก่ชุมชน บ้านเรือน ผู้ที่ขออนุญาตจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย โดยในกระบวนดำเนินเอาผิดนั้นสำหรับผู้ที่ขออนุญาตแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดทางแพ่งโดยจะต้องมีการฟ้องร้องในชั้นศาล ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาให้ชดเชยค่าเสียหาย
สำหรับการการปล่อย "โคมลอย" จุดพลุ บั้งไฟ โดยไม่ได้ขออนุญาตก่อนจะถือว่ามีความผิดทั้งทางแพ่ง และทางอาญา แต่ส่วนใหญ่กรณีที่ปล่อยโคมลอย บั้งไฟ พลุ ตะไล แบบไม่ได้รับอนุญาต และเกิดอุบัติเหตุก็จะไม่สามารถเอาผิดใครได้
ส่วนกรณีการขออนุญาต และกำหนดมาตรการ ขอบเขตพื้นที่ในการปล่อยโคม ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละจังหวัดจะออกรายละเอียดไว้อย่างไรบ้าง บางจังหวัดที่มีสนามบินจะห้ามปล่อยในบริเวณรัศมีโดยรอบสนาบินโดยเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ(ฉบับ 14) และพ.ร.บ.ความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 โทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต