'เงินสงเคราะห์บุตร กับ เงินอุดหนุนบุตร เหมือนกันไหม' อัปเดต ล่าสุด ต้องรู้
04 ม.ค. 2567
'เงินสงเคราะห์บุตร กับ เงินอุดหนุนบุตร เหมือนกันไหม' อัปเดต ล่าสุด มีเงื่อนไขอะไร ที่ พ่อแม่ มือใหม่ ต้องรู้ พร้อมหลักเกณฑ์ และ ขั้นตอนสมัคร
เชื่อว่า พ่อแม่หลายคน โดยเฉพาะ “พ่อแม่” มือใหม่ น่าจะมีความสงสัยว่า ระหว่าง “เงินสงเคราะห์บุตร กับ เงินอุดหนุนบุตร เหมือนกันไหม” เป็นสิทธิประโยชน์ อันเดียวกันหรือไม่ จำนวนเงินที่ได้ 600 หรือ 800 บาท กันแน่ ซึ่งต้องตอบว่า ไม่เหมือนกัน ทั้งเงื่อนไข คุณสมบัติ และจำนวนเงิน แต่จะแตกต่างกันอย่างไร และมีวิธีรับเงินแบบไหน คมชัดลึก รวบรวมมาให้แล้ว
“เงินสงเคราะห์บุตร กับ เงินอุดหนุนบุตร เหมือนกันไหม”
- เงินสงเคราะห์บุตร ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
- เงินอุดหนุนบุตร หรือ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- เงินอุดหนุนบุตร เงินเข้าทุกวันที่ 10 ของเดือน หากตรงกับวันหยุด จะโอนเงินล่วงหน้า
- เงินสงเคราะห์บุตร ออกทุกๆ สิ้นเดือน แต่หากตรงกับวันหยุด หรือ วันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะทำการโอนให้ล่วงหน้าก่อนไม่เกินเที่ยงคืน
สำหรับทั้ง 2 โครงการ จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน โดยเงินสงเคราะห์บุตรนั้นจะได้เดือนละ 800 บาท ส่วนเงินอุดหนุนบุตรนั้นจะได้เดือนละ 600 บาท นอกจากนี้ เงื่อนไขในการขอรับสิทธิ ที่เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน ดังนี้
เงินอุดหนุนบุตร
- ผู้ขอรับสิทธิและบุตร จะต้องมีสัญชาติไทย
- ประชาชนทั่วไป
- มีรายได้เฉลี่ยต่อคน ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี
เอกสารประกอบการลงทะเบียน
- แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง
- สูติบัตรเด็กแรกเกิด
- สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (กรุงไทย ออมสิน หรือ ธกส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
- สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์)
- ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนในครัวเรือนที่มีรายได้ประจำ
- สำเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตำแหน่ง หรือเอกสารอื่นใด ที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
เงินสงเคราะห์บุตร
- ผู้ขอรับสิทธิและบุตรจะต้องมีสัญชาติไทย
- เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33, มาตรา 39, มาตรา 40 (ทางเลือกที่ 3)
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
- ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
- อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
การหมดสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร
- เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
- บุตรเสียชีวิต
- ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง