ไม่นานเกินรอ 'ถนนโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง' ถนนดอยอินทนนท์ เปิดสัญจรปี 67
ไม่นานเกินรอ 'ถนนโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง' ถนนดอยอินทนนท์ 15 กม. เปิดสัญจรได้ในปี 2567 แก้ปัญหาเดินทางลำบาก ลดระยะเวลาให้เร็วขึ้น ทุ่มงบก่อสร้าง 122 ล้านบาท
กรมทางหลวงชนบท(ทช.) เพิ่มศักยภาพการขนส่งพืชผลทางการเกษตร ให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัยในทุกฤดูกาล พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชนและอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สร้างถนน เข้าศูนย์วิจัยโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง "ถนนโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง" จ.เชียงใหม่ ถนนดอยอินทนนท์ กว่า 15 กิโลเมตร คืบหน้า 68 % คาดแล้วเสร็จในปี 2567
ล่าสุด ทช. รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.1009 - ศูนย์วิจัยโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง หรือ "ถนนโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง" ถนนดอยอินทนนท์ ในพื้นที่ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 68 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในส่วนของงานดิน พื้นทางหินคลุก ผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก รางระบายน้ำ ติดตั้งป้ายจราจร และหลักนำโค้ง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรในปี 2567 นี้
ทช. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบท "ถนนโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง" (สายแยก ทล.1009 - ศูนย์วิจัยโครงการหลวงขุนห้วยแห้ง) ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนภารกิจมูลนิธิโครงการหลวง เพิ่มศักยภาพการคมนาคมขนส่งทางการเกษตร ให้การเดินทางมีความสะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ป้องกันไม่ให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขนส่ง
เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการหลวงและอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นถนนผิวดินตามธรรมชาติ ช่องทางการจราจร มีลักษณะที่คับแคบ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน และเป็นพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเกษตรกรไม่สามารถลำเลียงผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตามกำหนด ทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสทางการค้า
สำหรับการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 สายทาง ประกอบด้วย สายที่ 1 มีจุดเริ่มต้นโครงการ กม.ที่ 0+000 (บริเวณทางเข้าบ้านหนองหล่ม) ถึง กม.ที่ 14+650 (บริเวณขุนห้วยแห้ง) และสายที่ 2 มีจุดเริ่มต้นโครงการ กม.ที่ 0+002 ถึง กม.ที่ 0+500 (บริเวณหน่วยพันธุ์พืชมูลนิธิโครงการหลวง) ระยะทางรวม 15.148 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้าง 4 - 6 เมตร ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 แห่ง พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เครื่องหมายจราจร และระบบรางระบายน้ำบริเวณสองข้างทางใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 122.876 ล้านบาท