ชีวิตดีสังคมดี

เปิดร่างใหม่ "ประกันสังคม" ผู้ประกันตน เช็กด่วน ได้สิทธิเพิ่มเพียบ

เปิดร่างใหม่ "ประกันสังคม" ผู้ประกันตน เช็กด่วน ได้สิทธิเพิ่มเพียบ

16 มี.ค. 2567

เช็กด่วน ร่างใหม่ "ประกันสังคม" พ.ร.บ.ประกันสังคม ล่าสุด "ผู้ประกันตน" ได้สิทธิเพิ่มเพียบ ขยายเวลาเกษียณ-เพิ่มวันจ่าย ค่าคลอดบุตร

ร่างใหม่ พ.ร.บ.ประกันสังคม ล่าสุด ที่พบว่า ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ตั้งแต่ 10 พ.ค. 2565 แต่ยังไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจาก นับตั้งแต่มีการยุบสภา กฎหมายนี้จึงตกไป ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างพิจารณา ที่อาจจะมีการเสนอเข้า ครม. เพื่อพิจารณาอีกรอบ ซึ่งหากร่างใหม่ “ประกันสังคม” ผ่าน นับเป็นข่าวดีสำหรับ “ผู้ประกันตน” เพราะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้วย

  • สิทธิ “ผู้ประกันตน” ในร่างใหม่ “ประกันสังคม”

 

 

1. กำหนดอายุผู้ประกันตน มาตรา 33, มาตรา 39, มาตรา 40 จากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-65 ปีบริบูรณ์

 

2. ผู้ประกันตน มาตรา 33 หากความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และประสงค์จะสมัครมาตรา 39 จะต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 48 เดือน จากเดิมไม่น้อยกว่า 12 เดือน (โดยให้แจ้งความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน)

 

3. ผู้ประกันตน มาตรา 39 แก้ไขการคำนวณเงินเพิ่ม กรณีค้างชำระร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังไม่ได้นำส่ง นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องส่งเงินสมทบ เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่ต้องจ่าย จากเดิม เศษของเดือน ถ้าถึง 15 วัน หรือกว่านั้นให้นับเป็น 1 เดือน ถ้าน้อยกว่าให้ปัดทิ้ง

 

4. ผู้ประกันตน มาตรา 33 หากความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไป อีก 6 เดือน โดยได้รับประโยชน์ทดแทน 5 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, ตาย โดยเพิ่มกรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิม ได้รับประโยชน์ทดแทนเพียง 4 กรณี

 

5. ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ เพื่อรับประโยชน์ทดแทน 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ จากเดิมที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ (โดยให้แจ้งความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน)

 

 

'ผู้ประกันตน' เช็กด่วน 1 ม.ค. 67 จ่าย 'เงินสมทบประกันสังคม' เพิ่ม 875 บาท?

เช็กช่องทาง 'เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม 2567' ตรวจสอบไทม์ไลน์ก่อนพลาด

'เงินชดเชยเลิกจ้าง' ประกันสังคม ได้เท่าไร เช็กวิธีคำนวณ แบบง่ายๆ

6. ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นการเหมาจ่ายครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เพิ่มเป็นจ่าย 98 วัน จากเดิมจ่ายเพียง 90 วัน

 

7. ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 ที่เกิดทุพพลภาพที่ไม่ใช่จากการทำงาน มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างต่อเดือนตลอดชีวิต จากเดิมจ่ายร้อยละ 50 ของค่าจ้างต่อเดือนตลอดชีวิต

 

8. ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 ประเภทของประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ โดยเพิ่มสิทธิเป็น 3 ประเภท คือ

 

  • เงินเลี้ยงชีพรายเดือน เรียกว่า เงินบำนาญชราภาพ
  • เงินบำเหน็จที่จ่ายให้ครั้งเดียว เรียกว่า เงินบำเหน็จชราภาพ
  • เงินที่จ่ายก่อนรับเงินบำนาญชราภาพ เรียกว่า เงินบำนาญจ่ายล่วงหน้า

 

จากเดิมมีเพียงแค่ 2 ประเภท คือเงินบำนาญ และเงินบำเหน็จชราภาพ เท่านั้น

 

9. ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 กรณีชราภาพ ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ ตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยเพิ่มให้มีสิทธิเลือก

 

  • รับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก)
  • นำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน (ขอกู้)
  • นำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วน (ขอคืน)

 

จากเดิมที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพเท่านั้น

 

10. ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 กรณีชราภาพถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน หรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตาย ภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้เงินบำนาญชราภาพ ให้สำนักงานประกันสังคม หักเงินชราภาพของผู้ประกันตน ที่นำเงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินไว้ เพื่อส่งใช้กองทุนก่อนในกรณีมีเงินชราภาพเหลืออยู่ และเมื่อหักเงินดังกล่าวแล้วเหลือเท่าไรให้ทายาท โดยสำนักงานประกันสังคมมีสิทธิหักเงินได้ แต่เดิม สำนักงานประกันสังคมไม่มีสิทธิหักเงินได้

 

11. ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 กรณีว่างงาน ที่ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน และจะต้องไม่เคยได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีชราภาพ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

 

12. ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 แก้ไขมาตราการ การลงโทษทางอาญาแก่นายจ้าง โดยนายจ้างซึ่งไม่ยื่นแบบรายงาน หรือไม่แจ้งเป็นหนังสือ มีความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิม นายจ้างที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบรายงาน หรือไม่แจ้งเป็นหนังสือ มีความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

แต่ทั้งนี้ ร่างใหม่ ประกันสังคม จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ถึงแม้จะผ่าน ครม.ไปแล้ว แต่ก็ต้องมีการพิจารณาใหม่ ท่ามกลางกระแสข่าวกองทุนประกันสังคม ส่อล้มละลายในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ทางกระทรวงแรงงาน จึงมีความเห็นร่วมกับคณะกรรมการ สปส. มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรขยายเพดานการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน จากเพดานปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 บาท ก็จะขยายไปถึง 20,000 บาท รวมถึงการขยายอายุการเกษียณจาก 55 ปี อาจเพิ่มเป็น 60 ปี และจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาต่อไป แต่ต้องเป็นวาระเร่งด่วน เพราะเรื่องกองทุนประกันสังคมไม่สามารถรอได้