55ปีครุศาสตร์‘มจร’ขับเคลื่อนองค์กรผลิตครูสู่สากล
55ปีครุศาสตร์มหาจุฬาฯประกาศเจตจำนงค์ขับเคลื่อนองค์กรผลิตครูสู่สากล
ระหว่างวันที่ 1 –2 กรกฏาคม 2559 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) จัดงาน 55 ปี ครุศาสตร์มหาจุฬารำลึกและสัมมนาวิชาการ ณ ห้องประชุมเธียรเตอร์ อาหารเรียนรวม โซน ซี มจร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
งานเริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 1 ก.ค. 2559 โดยมีพระศรีคัมภีรญาณ,ศ.ดร.รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีเป็นประธานในพิธีเปิดงานและบรรยายพิเศษเรื่องบทบาทคณะครุศาสตร์กับการผลิตบัณฑิตครูสู่สากลความว่า คณะครุศาสตร์ มหาจุฬาฯมีอาจารย์สอนทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ทำให้นิสิที่สำเร็จการศึกษาได้ทั้งความรู้ทางโลกและทางธรรมคณะครุศาสตร์ต้องพัฒนาบัณฑิตโดยใช้กิจกรรมเป็นฐานในการบูรณาการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักคุณธรรมสำหรับครู 7 ประการ คือ
1.ปิโย ผู้เป็นที่รักมีความเป็นเอง 2.ครุน่าเคารพนับถือมีหลัก หนักแน่น 3 .ภาวนีโย น่ายกย่อง เป็นแบบอย่าง รู้จริง 4.วัตตารู้จักพูด รู้จักการสื่อสาร 5 .วจนักขโม รู้จักฟังยอมรับฟังผู้อื่น 6 .คัมภีรัญจะกะถังกัตตาพูดเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย และ7.โน จัฏฐาเน นิโยชะเยไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี” พระศรีคัมภีรญาณ กล่าว
ต่อจากนั้นพระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ ในฐานะศิษย์เก่าคณะครุศาสตร์ พธ.บ. รุ่น 35 กล่าวว่า บัณทิตครูต่อจากนี้ไปต้องขยันอ่านหนังสือ ศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย มีความรู้จริง รู้รอบ รู้ลึกแล้วเขียนเป็นหนังสือ หรือ ตำราให้ได้ ควรอ่านหนังสือของพระพรหมคุณาภรณ์ถือว่าเป็นครูต้นแบบอย่างแท้จริง นิสิตคณะครุศาสตร์ต่อจากนี้ไปต้องสามารถไปสอนภาษาไทย สอนวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศได้และควรที่จะพัฒนาหลักสูตรหรือหาช่องทางให้นิสิตต่างประเทศสามารถเรียนในสาขาครุศาสตร์ระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกได้ด้วย
ช่วงบ่ายเป็นการแสดงทัศนะการแสดงทัศนะเกี่ยวกับพัฒนาการการจัดการศึกษาของคณะครุศาสตร์โดยผู้บริหาร ศิษย์เก่า เช่น พระครูปริยัติกิตติธำรง,ผศ.ดร. คณบดีคณะครุศาสตร์ รศ.ดร.สุระพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป , ผศ.ดร.บุญมี แท่นเก้ว พธ.บ.ครุศาสตร์ รุ่น 1 เป็นต้น สลับกับการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากภูมิภาคต่างๆ ต่อด้วยการสัมมนาทางวิชาการ เหลียวหลัง แลหน้า บทบาทการผลิตครูสู่สากล มีวิทยากรที่เป็นศิษย์เก่าประกอบด้วยพระเมธีธรรมจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่, ศ.ดร.อุทิศ ศิริวรรณ,ผศ.ดร.รท.บรรจบ บรรณรุจิและดร.ทมิตาวนาพิทักษ์
พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า โลกปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การศึกษาของครุศาสตร์ต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ 4 อย่าง คือ 1.เทคโนโลยี = มีความทันสมัยมาก 2.โครงสร้างทางสังคม =สังคมผู้สูงอายุมีมาก ๓.ตลาดของเอเชีย =จีนกับอินเดียกำลังคุมตลาดเอเชีย ๔.กฎกติกาเป็นสากล = มาตรฐานมากขึ้น ตลาด เออีซี โตขึ้น เรามีการอบรมภาษามากขึ้น ครุศาสตร์จะต้องกำหนดหลักสูตรให้สอดรับกับการเปิดของเออีซี เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไป เมื่อไม่นานมานี้ บุคคลสำคัญของเมียนม่าร์ คือ ท่านอองซานซูจี มาประเทศไทย มาพูดเรื่อง " แรงงานพม่าให้ถูกต้องทางกฎหมาย พูดถึงแรงงานค่าจ้าง 300 บาทโดยมีความเท่าเทียมกัน และการศึกษาขั้นพื้นฐานของแรงงานพม่าต้องมีการเข้าถึงการศึกษาพื้นฐาน และแนวรุกเรื่องศาสนามีความรุนแรงด้านศาสนาขึ้นทุกวัน สิ่งสำคัญคือ อดีตเรารักษาของเก่า ปัจจุบันให้สามัคคีกัน อนาคตสดใสแน่นอน เรื่องภายในให้ปรึกษากัน เราต้องไม่ลืมอดีต ใครที่เริ่มมาเราต้องให้เกียรติกัน เราต้องพัฒนาอปริหานิยธรรม เพื่อความสุขของครุศาสตร์ต่อไป
ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ กล่าวว่า ผมตัดสินใจเรียนครุศาสตร์ เพราะชอบวิชาของจิตวิทยาในการสอน แต่ยังไม่มีนักจิตวิทยาคนใดจะให้ความหมายของคำว่า "จิต" ได้ดีที่สุดเท่ากับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าให้ความหมายคำว่าจิตลึกซึ้งมากๆ ภาพรวมของมหาจุฬาไม่อายใครแล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเราสู่มุ่งมาตรฐาน มหาจุฬาผลิตให้พระมีคุณภาพไปช่วยงานคณะสงฆ์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากคณะสงฆ์ต้องมองให้ไกล อนาคตครุศาสตร์จะเป็นอย่างไร? พื้นฐานสำคัญของมหาจุฬาฯ คือ "ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เราทิ้งพระพุทธศาสนาไม่ได้" แต่เราต้องมีการประยุกต์คำสอนใช้กับศาสตร์สมัยใหม่ เราต้องสามารถนำไปประยุกต์แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง พระสงฆ์ถูกตีกรอบด้านพระธรรมวินัย แม้ภัยมายังจะสงบ ปลง ปล่อย เราต้องตื่นตัวเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสันติวิธี พระอรหันต์ยังตื่นตัวมาทำสังคายนา ในอดีตพม่าเคยเป็นเมืองขึ้น ซึ่งการเป็นเมืองขึ้นมันเจ็บปวดมากๆ ปัจจุบันพม่าจึงป้องกันตนเอง ด้วยการร่วมรักสามัคคีกันมากขึ้น เพราะกลัวภัยต่างๆ มาทำร้ายเหมือนอดีต ครุศาสตร์เราสง่างามแล้ว เรียนจบจากครุศาสตร์ เราต้องมองภาพรวมของประเทศ อย่ามองแค่ตัวเราเอง ความเจริญของพระพุทธศาสนามิได้ขึ้นอยู่กับวัดใดวัดหนึ่ง เรียนมหาจุฬาฯต้องมองลึก ไกล กว้าง
ศ.ดร.อุทิศ ศิริวรรณ อดีตนาคหลวง ปธ.9 กล่าวว่า ผมชอบงานวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ผมเป็นศิษย์เก่าครุศาสตร์ มหาจุฬา สาขาบริหารการศึกษา ผมใช้ชีวิต "มีแผนชีวิตและมีเป้าหมาย" ผมจะกำหนดแผน แผนหลัก แผนรอง ผมชอบบริหารความล้มเหลว ตามกฎของปาเรโต 80/20 อะไรที่เราไม่เก่งต้องฝึกทำซ้ำๆ บ่อย ๆ ค้นหาว่าล้มเหลวเพราะอะไร วิเคราะห์การล้มเหลวของตนเอง เตือนตนเองว่า " ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ " ผมยึดตามแนวการสอนของพระพุทธเจ้า คือ หลักอริยสัจ 4 สำคัญมาก พระพุทธเจ้าสอนว่า "เป็นคนควรพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จ" ความจนไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้เราสำเร็จ ฝรั่งมองว่า ถ้าเรานั่งเรียนจดอย่างเดียว ไม่ตอบโต้กับอาจารย์ ถือว่าโง่ ฝรั่งจะต้องเรียนรู้แบบตอบโต้ แสดงความเห็นคิดอย่างต่อเนื่อง
"เราต้องมองว่า อะไรที่ทำให้เรามีความสุข เป้าหมายเริ่มต้นของผมคือ มีทรัพย์ ไม่มีหนี้ ทำงานที่ไม่เป็นโทษ และสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ผมมีโอกาสเดินทางไปทั่วโลก ทำให้มีทุกอย่างที่อยากจะมี เพราะมหาจุฬาฯ เพราะพระพุทธเจ้า เพราะผมมาจากวัด คนรู้จักผมมากในต่างประเทศ ส่วนบ้านเรายังติดนิสัย "อิจฉา ริษยา เลื่อนขา" ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ผมมีอนาคตจะมอบให้กับมหาจุฬา ฯ เพื่อพัฒนาเกี่ยวกับการศึกษา" ศ.ดร.อุทิศ กล่าว
ดร.ทมิตา วนาพิทักษ์กุล กล่าวว่า ทำอย่างไร? จะเรียนให้จบ ขึ้นอยู่กับใจของเราเท่านั้น ความหวังของตนเองที่มาเรียน ดร.มหาจุฬาฯ เพราะอยากมอบของขวัญให้แม่ คือ ดร. เริ่มต้นจากการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองจนประสบความสำเร็จเกี่ยวกับทรัพย์ภายนอก เรียนมหาจุฬาฯมาสร้างทรัพย์ภายใน ขอบคุณครุศาสตร์ที่ให้โอกาสในการศึกษาครั้งนี้ ครุศาสตร์มีคลีนิคดูแลนิสิตทุกคนดีมากตั้งแต่บทที่ 1-5 สุดท้ายชีวิตเรา ต้องคิดแล้วเริ่มลงมือทำ...เดี๋ยวนี้
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 2 กรกฏาคม เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง การจัดการความเสี่ยง โดย นางสาวมณีมัญช์ เชษฐ์สกุลวิจิตร ฝ่ายตรวจสอบภายใน และดร.ปฏิธรรม สำเนียง วิทยาเขตนครวรรค์ ต่อด้วยประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบริหารหลักสูตรเพื่อรองรับการประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้บริหาร อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้เกี่ยวข้อง เช่น พระครูโสภณพุทธิศาสตร์,ดร. คณบดีคณะครุศาสตร์,พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา เป็นต้น ดำเนินการโดย อาจารย์กิตติศักดิ์ ณ สงขลา หัวหน้าภาคหลักสูตรและการสอน
และงานปิดฉากด้วยกิจกรรมสะท้อนคิดเกี่ยวกับแนวทางการยกระดับคุณภาพบัณฑิตครูสู่สากล และการประกาศเจตจำนงค์ EDU MCU 2559 ความว่า 1.เราจะร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรผลิตครูสู่สากล 2.เราจะผลิตผลนักบริหารการศึกษาดีวิถีพุทธ 3.เราจะไม่ยั่งหยุดสร้างครูดีสู่สังคม โดยมีพระครูโสภณพุทธิศาสตร์,ดร. กล่าวปิดการประชุม