
จับตายธ.ใต้ปีก'ประชา พรหมนอก'
จับตายุติธรรมใต้ปีก"อินทรีอีสาน" : ขยายปมร้อน โดยปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย สำนักข่าวเนชั่น / twitter @piyanut_nna
แม้ว่า "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" จะไม่ใช่รัฐมนตรียุติธรรมคนแรกที่เป็นตำรวจ เพราะก่อนหน้านี้ "ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์" และ "พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์" ก็เคยหมุนมานั่งเก้าอี้นี้บ้างแล้ว แต่ความต่างอยู่ที่ "พล.ต.อ.ประชา" เป็นตำรวจที่คร่ำหวอดทั้งบุ๋นและบู๊ ไม่ใช่ตำรวจที่โตมาในสายวิชาการ
ทำให้ภารกิจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมใต้ปีก "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" เจ้าของฉายา "อินทรีอีสาน" ถูกจับจ้องตั้งแต่มีชื่อติดโผครม. เชื่อกันว่าเป้าหมายและภารกิจสูงสุดของ "พล.ต.อ.ประชา" ไม่ต่างไปจากแนวทางของ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" นั่นคือ "พา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน"
หลังจาก "ร.ต.อ.เฉลิม" คู่ แคนดิเดตที่ต้องผันตัวไปเป็นรองนายกฯ เนื่องจากนายกฯ หญิงต้องการมี “เหลิมดาวเทียม” อยู่ใกล้ๆ ตัว เพื่อพึ่งพิงฝีปาก ส่งผลให้ "พล.ต.อ.ประชา" ได้เข้ามาคุมกระทรวงตาชั่งเต็มตัว โดยกระทรวงยุติธรรมแห่งนี้ หากจัดเกรดกับสัดส่วนงบประมาณ ยังต้องถือเป็นเกรดซี แต่หากจัดเกรดกันด้วยเพาเวอร์ของกระทรวงความมั่นคง ก็ต้องขยับเกรดขึ้นมาเป็นบีบวก
นั่นเพราะหน่วยงานหลัก ดีเอสไอ ป.ป.ส. ปปง. ป.ป.ท. และราชทัณฑ์ มีทั้งอำนาจสอบสวนที่ทะลวงสอดส่องได้ถึงข้อมูลส่วนบุคคล และอำนาจยึดอายัดทรัพย์ ที่สำคัญแทบทุกหน่วยงานมีงบลับที่ใช้จ่ายในภารกิจได้โดยไม่ต้องชี้แจง
เชื่อกันว่าภารกิจหลักที่ "พล.ต.อ.ประชา" ได้รับมอบหมายให้เข้ามาจัดรูปร่าง หนีไม่พ้นคดีความต่างๆ ด้วยการเริ่มต้นเช็กบิลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกคำสั่งสลายการชุมนุมทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย 91 ศพ และตามเก็บตกกับคดีบุกรุกฮุบเกาะแก่ง จีที 200 รวมถึงคดีทุจริตข้าว ที่ดีเอสไอเตรียมใส่พานรออยู่
โดยในช่วงของการฟอร์ม “ครม.ยิ่งลักษณ์” ดีเอสไอก็ได้ออกตัวนำไปแล้วกับการตีแผ่ถึงความไม่ชอบมาพากลในการสรรหา กสทช. ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบมูลความผิด 7 ประเด็น นอกจากจะเป็นการล้มกระดานเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่แล้ว ยังมีผู้อยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดีอาญาอีกด้วย
ส่วนภารกิจเป่าหรือเคลียร์คดีก่อการร้ายให้แก่แกนนำคนเสื้อแดงนั้น แม้หนทางอาจตีบตันเพราะสำนวนคดีหลักและคดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดกว่า 40 คดี ดีเอสไอสรุปสำนวนส่งอัยการไปแล้ว และบางคดีอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาแล้ว การใช้ช่องทางกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงคดีจึงเป็นไปได้ยาก เว้นเสียแต่ความลับในสำนวนจะถูกก๊อบปี้แล้วส่งต่อให้แก่ฝ่ายจำเลย เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับการแสวงหาหลักฐานมาหักล้างคำฟ้องของฝ่ายโจทก์ให้ครบถ้วนทุกประเด็น
สำหรับคดีล้มเจ้าตามผัง ศอฉ. อยู่ในข่ายจะเป็นมวยล้มต้มคนดูมากที่สุด เพราะตลอดการสืบสวนที่ว่ามีความคืบหน้า ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงที่มีน้ำหนักเชื่อมโยงถึงบุคคลตามผังรายชื่อ นอกจากความเป็นเครือญาติ เพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง ทหารตำรวจซึ่งถูกจัดเป็นพยานในคดีก็ให้การได้อย่างน่าชื่นชม ว่า “จำไม่ได้ ไม่ทราบ หรือให้การไม่ได้เพราะไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรง”
ซึ่งที่ผ่านมา การที่ดีเอสไอตรวจสอบไม่พบความเชื่อมโยงทางการเงินสนับสนุนกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง รวมถึงขาดข้อมูลในด้านการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ในแต่ละช่วงเวลาของกลุ่มบุคคล ทำให้ฟันธงได้ว่า ทั้งคดีล้มเจ้าและคดีก่อการร้ายยากที่จะโยงใยถึงตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุน ความผิดที่ลงได้ จึงน่าจะจำกัดอยู่เพียงความผิดส่วนบุคคล ใครเผา ใครพูดจาจาบจ้วง จัดอยู่ในข่ายแดงเข้มเกินพิกันที่ต้องเขี่ยทิ้ง
นั่นหมายความว่า รัฐบาลชินวัตรในมือ "พล.ต.อ.ประชา" ค่อนข้างคุมได้เบ็ดเสร็จ หากเบี้ยตัวใดเดินผิดไปจากเกมที่วางไว้ ผู้นำมวลชนที่คิดหักหลังหรือแว้งกัด ก็อาจเจอเข้ากับสำนวนคดีที่มัดแน่นจนดิ้นไม่หลุด แต่ถ้ายอมเป็นเด็กดีไปตลอดอายุรัฐบาล หนทางผ่อนหนักให้เป็นเบาก็มีให้เลือกเยอะ
ส่วนคดีซุกหุ้นไตรภาคชัดเจนว่า เคลียร์พ้นทาง ไม่หลงเหลือเป็นอุปสรรคทั้ง 360 องศา เพราะกระบวนการเป่าให้อ่อน ทำเป็นขั้นตอนต่อเนื่องมายาวนาน โดยที่ ก.ล.ต.ต้นเรื่องเองก็ไม่ติดใจดำเนินคดี
สำหรับภารกิจโยกย้ายสับขั้วอำนาจจะไม่เป็นไปในลักษณะของการล้างบาง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งสอดรับพอเหมาะกับการแต่งตั้งระดับ 10 เพื่อทดแทนตำแหน่งจากการเกษียณอายุราชการซึ่งตำแหน่งรองปลัดและผู้ตรวจจะว่างรวมกันถึง 3 ที่นั่ง จึงน่าจะทางออกสวยๆ ให้การเปิดกรุผู้ตรวจ รอบนี้ "พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ" และ "พ.ต.อ.โภคพิบูลย์ โปตะนันทน์" มีโอกาสลุ้นออกไปบริหารกรมใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งรองปลัดเอาไว้ปลอบใจกลุ่มคนที่เคยได้ดีในยุครัฐบาล ปชป. ส่วนตำแหน่งผู้ตรวจซี 10 ก็มีไว้ปูนบำเหน็จให้แก่บรรดารองอธิบดีที่เป็นตัวจริงชัดเจนมานาน
หันมามองในส่วนของ ปปง. ซึ่งว่างเว้นทั้งคณะกรรมการธุรกรรม ขณะที่ "พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์" ก็นั่งรักษาการยาวนานทุบทำลายทุกสถิติ รัฐบาลนี้เชื่อว่า "พ.ต.อ.สีหนาท" ตีตราจองเก้าอี้ได้เลย ทั้งนี้ก็เพื่อเริ่มใช้งาน ปปง.ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินของขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนและธุรกิจนอกกฎหมาย ที่อาจเป็นแหล่งทุนใหญ่สนับสนุนอีกขั้วการเมือง
ภารกิจเกือบสุดท้าย น่าจะเป็นการจบภารกิจการตรวจสอบคดีฆ่าตัดตอนในห้วงสงครามยาเสพติดของ คตน.ชุด 2 ซึ่ง "คัมภีร์ แก้วเจริญ" รับเป็นประธาน ต่อจากนี้เป็นเวลาของการเริ่มต้นใหม่ เรียนรู้จากอดีต เพื่อไม่ทำผิดซ้ำ
ท้ายที่สุด เมื่อเวลาเหมาะ โอกาสเอื้ออำนวย ค่อยมาเดินหน้าเรื่องการขออภัยโทษให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะฎีกาแดงยังค้างการพิจารณาอยู่ในกรมราชทัณฑ์ ผ่านมานับปีก็ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่เข้าชื่อถวายฎีกา ยังเหลือเวลาอีกนานให้ "รมว.ยุติธรรม" ได้ทำความเห็นประกอบ