คอลัมนิสต์

เบื้องหลังที่ยังปรากฏอยู่

เบื้องหลังที่ยังปรากฏอยู่

13 ม.ค. 2555

เบื้องหลังที่ยังปรากฏอยู่ : กระดานความคิด โดย อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง [email protected]

              ต่อไปนี้คือเนื้อหาและข้อมูลสำคัญบางอย่างที่เคยเป็นเบื้องหลังของความไม่สงบและยังคงปรากฏอยู่เบื้องหน้าผู้คนพลเมืองไทยที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ที่ไม่ทราบว่ามันจะจบและลงเอยในคำตอบสุดท้ายได้เมื่อใด อย่างไร
 
                1.ความรู้สึกและความเข้าใจในคำตอบแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือคำตอบที่เป็นจริงที่รัฐบาลและประชาชนต่างกัน เหตุการณ์เดียวกันความจริงคนละชุด
 
                2.นับตั้งแต่เกิดความไม่สงบระลอกใหม่(ปีพ.ศ.2547)นี้ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจในการบริหารความไม่สงบจากภาครัฐในมุมมองจากประชาชนไม่ได้ดีขึ้นมากมาย หากเปรียบเทียบกับวาทกรรมของการประชาสัมพันธ์ของรัฐและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตลอดจนองค์ประกอบด้านอื่นๆ อาทิ
 
                2.1 งบประมาณแผ่นดินไม่ได้ลดลง
 
                2.2 ข่าวคราวเรื่องการคอรัปชั่นหนาหูในทุกระดับมากขึ้น
 
                2.3 การเล่นการเมืองกันและกันและการแสวงหาผลประโยชน์ด้านการงบประมาณ การวางเครือข่ายเรื่องบุคคลในหน่วยงานรัฐระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันโดยมีประชาชนเป็นเหตุผลในการอ้างมากขึ้น
 
                2.4 หน่วยงานรัฐมีความแตกแยกลึกๆ และเห็นได้ชัดเจนในเรื่องการใช้อำนาจ ผลประโยชน์ในการบริหารจัดการความไม่สงบและปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่น/ภูมิภาคมากขึ้น
 
                3.มีการดูดกลืนแกนนำภาคประชาชนเข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยรัฐ ทำให้เกิดความเข้าใจเป็นอื่น ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจต่อบรรดาแกนนำเหล่านั้นในหมู่ประชาชนลดลง แต่รัฐกลับมองว่าเป็นการร่วมมือเป็นอย่างดีของภาคประชาชน ภาพที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอว่าแกนนำเหล่านั้นถูกฆ่าตาย โดยเข้าใจเป็น 2 แนวทาง
 
                3.1 กลุ่มเคลื่อนไหว(Pejuang)เป็นผู้ลงมือจัดการเพราะขวางทางอุดมการณ์การต่อสู้
 
                3.2 กลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย(แต่เน้นหนักว่าเป็นคำสั่งลับจากกลไกรัฐเป็นหลัก)ให้จัดการเพราะหมดภารกิจการใช้งานแล้ว
 
                4.กลไกรัฐโดยเฉพาะระดับล่างๆ พยายามจะสร้างอำนาจบนความรู้สึกที่อึดอัดแก่ภาคประชาชนว่าขณะนี้รัฐได้ทำการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การฟื้นฟูและพัฒนาประชาชนอย่างดี(อยู่)แล้ว ภาคเอกชนไม่ต้องทำอะไรแล้ว
 
                4.1 จากกรือเซะสู่ตากใบและมาที่ไอปาแยและเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน เช่น ที่บ้านกาโสด และอื่นๆ (อีกมากมาย)คือบาดแผลที่ร้าวลึกและรัฐไม่พยายามรักษาให้หายแต่กลับเพิ่มความไม่ไว้วางใจและหวาดระแวงมากขึ้น กล่าวคือมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่สามารถเรียกได้ว่าเกิดซ้ำซาก โดยประชาชนเข้าใจว่ารัฐไม่แก้ปัญหาอะไรเลย ซ้ำยังเข้าใจว่ากลไกรัฐไม่ทราบฝ่ายเป็นผู้กระทำเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐพยายามจะอธิบายว่านี่คือยุทธวิธีของฝ่ายตรงกันข้ามให้เข้าใจไขว้เขวหรือใส่ร้ายรัฐก็ตาม
 
                4.2 ไม่มีความพยายามในการสร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาในภาคใต้ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคอื่น แต่พยายามสร้างความรู้สึกเกลียดชัง โดยผ่านกลไกรัฐที่ได้รับผลกระทบ ที่เป็นทหาร/ตำรวจ/ข้าราชการผู้ได้รับบาดเจ็บหรือญาติผู้เสียชีวิตในภูมิภาคอื่นๆ
 
                5.มีความเข้าใจว่าในขณะที่มีกองกำลังของรัฐมากมายและมุ่งเน้นในการรักษาความไม่สงบและการป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษ แต่มรรคผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่กลับเพิ่มเป็นทวีคูณทั้งความรุนแรงในความไม่สงบและการแพร่ระบาดของยาเสพติด
 
                เหล่านี้คือคำถามและความรู้สึกความเข้าใจที่สัมผัสได้ว่างานนี้ถึงแม้จะมีคนที่ขยัน เอาจริงเอาจังและเดินหน้าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในพื้นที่ อย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ยังไม่เพียงพอ นอกจากจะต้องก้าวข้ามมิติการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีทางเลือกอีกมากมาย มิใช่แค่เพียงปัญหา “กบฏแบ่งแยกดินแดนและการได้เอกราช” เท่านั้น