
'ไอ้ออด'กับ'ปัญญาชนแดง'
'ไอ้ออด'กับ'ปัญญาชนแดง' : มนุษย์สองหน้า โดย แคน สาริกา
"ผมไม่ได้มีอคติอะไรกับอาจารย์ธิดา แต่เวลาผมไปประชุม นปช. ผมฟังอาจารย์พูดไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถนำมาถ่ายทอดแก่คนเสื้อแดงได้ ผมเลยไม่ไปประชุม ผมมันคนรากหญ้า มาจากลูกทุ่ง มีความรู้น้อย..."
ขวัญชัย ไพรพนา แจงกรณีไม่เห็นด้วยกับการเลือก ธิดา ถาวรเศรษฐ เป็นประธาน นปช. ผ่านรายการ "เกาะติดสถานการณ์" ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม "พีแอนด์พี แชนแนล" เช้าวันพฤหัสบดีที่แล้ว
ด้วยการพูดจาภาษาโฆษกลูกทุ่ง ขวัญชัยเลยหลุดคำพูดประโยคที่ว่า “เป็นไปตามโผ คนใต้ก็ต้องเลือกคนใต้ด้วยกัน” ทำเอาแดงรุ่นน้องอย่าง พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ ต้องออกมาทวงบุญคุณแทน "แดงคนใต้" ที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลขวัญชัยมาโดยตลอด
หากจับแค่ประเด็นคำพูดของแกนนำแดงไปวิเคราะห์ ก็อาจสรุปว่า แดงแตกแยกหรือแดงแตกหัก แต่หากติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขามาตลอด จะรู้ได้เลยว่า ไม่มีความแตกแยกในหมู่แกนนำ แต่มีความแตกต่าง เนื่องจากพื้นฐานทางความคิด และเส้นทางชีวิตการต่อสู้ของแต่ละคน
ปี พ.ศ.2506 "ไอ้ออด" เรียนจบชั้น ป.4 ก็ออกจากบ้านเกิด-เดิมบางนางบวช มาเป็น "เด็กจรจัด" อยู่ในเมืองฟ้ามหานคร
"ผมเป็นเด็กจรจัด อาศัยอยู่ใต้สะพานพุทธฯ ฝั่งธนบุรี แถวหน้าสถานีวิทยุ ป.ช.ส.7"
ขวัญชัยเล่าผ่านจอทีวีดาวเทียม โดยย้ำคำว่า "ผมมาจากศูนย์ ผมเคยเป็นเด็กจรจัด" และบังเอิญว่า สถานีวิทยุ ป.ช.ส.7 จัดให้มีการแสดงดนตรีลูกทุ่งทุกคืนวันเสาร์-อาทิตย์ "ไอ้ออด" จึงกลายเป็น "ไอ้เปี๊ยก" เด็กแบกเครื่องดนตรี และตลกประจำวงดนตรีหลายคณะอยู่ในซอยบุปผาสวรรค์
ชะตาฟ้าลิขิตให้ "ไอ้เปี๊ยก" ไปเป็น "โฆษกวิทยุ" แถวภาคอีสานยุคสงครามข่าวสารต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงแปลงร่างเป็น "ไอ้ขวัญ" ของนายสถานีที่เป็นนายทหาร-นายตำรวจ โดยขวัญชัยทำรายการเพลงลูกทุ่งสลับโฆษณาขายถ่านไฟฉายตรากบ ขายปลากระป๋องตราเพชร และครีมซิง ซิง อยู่นานหลายสิบปี
เมื่อวันหนึ่ง ขวัญชัยปลดแอกจากการเช่าคลื่นวิทยุของรัฐ มาทำ "วิทยุชุมชน" เป็นของตัวเอง ด้วยการสนับสนุนของนักการเมืองพรรคไทยรักไทย สถานการณ์การเมืองจึงพัดพาให้เขามาเป็น "ผู้นำมวลชนคนรักทักษิณ" นำพาชาวบ้านแสดงพลังต้านกลุ่มสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งแต่ปลายปี 2548
แค่ตรวจสอบเส้นทางชีวิตของขวัญชัย ก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างจาก ธิดา ถาวรเศรษฐ ราวฟ้ากับเหว
"ธิดา" เติบโตมาจากครอบครัวคหบดีผู้มั่งคั่งแห่งเมืองหอยใหญ่ ร่ำเรียนสูง จนได้เป็นอาจารย์สอนนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ "หมอเหวง" ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย
ช่วงหนึ่ง อาจารย์ธิดาหนีภัยเผด็จการเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีบทบาทเป็นนักค้นคว้าทฤษฎีวิทยาศาสตร์สังคม และได้รับการยอมรับให้มีตำแหน่งเป็นกรรมการสำรองประจำคณะกรรมการบริหารกลาง พคท.ชุดที่ 4
เมื่ออาจารย์ธิดาหันหลังให้แก่ พคท. ก็ไม่กลับไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ แต่หันมาทำธุรกิจส่วนตัว และประกาศตัวเป็นนักวิจัยสังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้เข้ามามีบทบาทเป็นแกนนำ นปช.
ยามที่ประธานธิดา จัดรายการทีวีหรือเขียนหนังสือ ย่อมเห็น "ร่องรอย" ของศัพท์ภาษาซ้ายเก่า ซึ่งคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่คุ้นหู และไม่ชินสายตา
ขวัญชัยไม่รู้หรอกว่า ลัทธิสุ่มเสี่ยงคืออะไร? ลัทธิฉวยโอกาสยอมจำนนคืออะไร?
เนื่องจากเขาคือ "ไอ้ออด" เป็นเด็กจรจัดที่มั่งมีศรีสุขในยุควิทยุ "คนมีสี" ครองเมือง และไม่แปลกที่เขาจะคิดก่อการตั้ง "กลุ่มแดงรักเจ้า" ด้วยความเชื่อที่ฝังอยู่ในเนื้อตัวของเขามานานปี
มันเป็นความต่างที่ปรากฏตัวอยู่ในขบวนการเสื้อแดง และนับวันจะเผยให้คนภายนอกได้เห็นมากขึ้น