คอลัมนิสต์

กิโลสิบอู่ตะเภาและฟรีแลนด์

กิโลสิบอู่ตะเภาและฟรีแลนด์

27 มิ.ย. 2555

กิโลสิบอู่ตะเภาและฟรีแลนด์ : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

              "ถ้ามาถึงสัตหีบไม่เห็นบีห้าสิบสอง ก็ยังไม่ถึงสัตหีบ"
 
               ประโยคโบราณนี้ ผมคัดมาจากหนังสือสารคดีเรื่อง "สัตหีบ-ยังไม่มีลาก่อน" ของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ มันเป็นงานเขียนชุดต่อเนื่องจากเรื่อง "ตาคลี-น้ำตาไม่มีเสียงร้องไห้"
 
               งานเขียนสองเรื่องข้างต้น พี่รงค์ได้ทำในฐานะนักข่าวภาคสนามของ นสพ.รายวันสยาม ปี 2515 โดยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหน้า หนังสือพิมพ์หัวสีแสด ก่อนจะนำมารวมเล่มในปี 2516
 
               เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว "สนามบินอู่ตะเภา" อาณาบริเวณกินพื้นที่ 2 จังหวัดคือ ชลบุรีกับระยอง บังเอิญว่า พ.ศ.โน้น สัตหีบเป็นฐานทัพเรือไทย มีความเป็น "เมือง" มากกว่าฝั่งระยอง
 
               "อเมริกันทาวน์" กับการมาถึงของกองทัพสหรัฐ ในปี 2508 ได้เริ่มต้นที่ "บ้านกิโลสิบ" สัตหีบ ชลบุรี
 
               "สมการแห่งความร่ำรวยในเมืองที่มีอเมริกัน คงไม่มีอะไรมากกว่า บาร์ ไนต์คลับ ภัตตาคาร กะหรี่ พาร์ทเนอร์ เมียเช่า บ้านเช่า บังกะโล ร้านขายของที่ระลึก และร้านขายวัตถุโบราณ" (สัตหีบ ยังไม่มีลาก่อน)
 
               คนกิโลสิบบอกพี่รงค์ว่า บาร์แห่งแรกอยู่ที่คลองไผ่ เส้นกั้นแดนชลบุรี-ระยอง ตรงกิโลเมตรที่ 11 ชื่อ "บาร์สวีทฮาร์ท" ตามมาด้วย "บาร์เบรนดา ลี"
 
               "ตอนนั้นใครทำบาร์ก็ได้ทั้งนั้น ถ้ามีเงิน ยังไม่มีความยุ่งยาก ยังไม่มีเงื่อนไขกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอย่างไร..."
 
               ชื่อบาร์ก็สรรหามาจากคนดังในฮอลลีวู้ด หรือสถานที่ดังๆ ในสหรัฐ ยกเว้นชื่อ บ๊อบ ไดแลน นักร้องเพื่อชีวิตที่ต้านสงคราม คนแถวนั้นบอกชื่อไม่เป็นมงคล เพราะพวกเขากำลังทำมาหากินกับสงคราม
 
               ขณะที่ทุกคนแสวงหาความมั่งคั่งจากอเมริกันทาวน์-สัตหีบ คณะรัฐมนตรีรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีคำสั่งให้ย้าย "สถานบันเทิง" ออกจากเขตปลอดภัยทหารเรือ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2511
 
               ด้วยมติ ครม.ดังกล่าว ทำให้เกิดอเมริกันทาวน์แห่งใหม่ที่เรียกว่า "ฟรีแลนด์" (นิวแลนด์) ทางฝั่ง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2511
 
               คนแถวบ้านฉาง ยังจำภาพบาร์รำวงหรือ "บาร์นิวแลนด์" ภาพทหารจีไอร้องเพลงคันทรีบนเวทีรำวง รวมถึงบาร์ อาบอบนวด บ้านเช่า บังกะโล และหมู่บ้านแผ่นดินทองหรือฟรีแลนด์
 
               สมัยที่เปิดฟรีแลนด์หรือนิวแลนด์ใหม่ๆ พี่รงค์บันทึกไว้ว่า "อเมริกันหลั่งไหลมาโยนดอลลาร์ทิ้งไว้ให้มากมาย ซื้อชีวิตกลางคืนของพวกเขาให้ผ่านไปอย่างชุ่มโชก ทั้งเหล้าและผู้หญิง แต่หลังจากนั้นไม่นานซบเซา นักธุรกิจพากันขาดทุนยับเยิน"
 
               เหตุที่ซบเซา ไม่ใช่จีไอกลับบ้าน หากแต่บาร์ย่านกิโลสิบ ยังผัดผ่อนไม่ยอมถอยตามคำสั่งรัฐบาล มันเลยกลายเป็นคู่แข่งของอเมริกันทาวน์ฝั่งระยอง
 
               ราวปี 2516 รัฐบาลสหรัฐเริ่มทยอยถอนทหารจีไอออกจากสนามบินอู่ตะเภากลับประเทศ สภาพของบ้านฉางและฟรีแลนด์ (นิวแลนด์) มีสภาพไม่ต่างจากเมืองร้าง ผู้คนอพยพไปอยู่ที่อื่น บ้านเช่า บังกะโล และบาร์รำวง ถูกรื้อถอนออกไป
 
               บ้านฉางเงียบไปนาน เมื่อการเมืองเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเปรม เป็นรัฐบาลชาติชาย ได้มีการประกาศให้มาบตาพุดเป็นนิคมอุตสาหกรรม และบ้านฉางถูกกำหนดให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของบรรดาคนงานที่จะมาทำงานในแถบนิคมอุตสาหกรรม
 
               จึงมีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำโครงการบ้านจัดสรรนับสิบโครงการ บ้านฉางยุค "แผ่นดินบูม" จึงไม่ต่างจากยุคทองของฟรีแลนด์ในอดีต
 
               ชาวไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ไร่สับปะรดร่ำรวยจากการขายที่ดิน กลายเป็นเศรษฐีใหม่ชั่วข้ามคืน
 
               แต่แล้วความฝันของคนบ้านฉางก็พังทลาย เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกปี 2540 พวกซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรก็เจ๊งกันระนาว บ้านฉางกลับสู่กับความเงียบเหงาอีกครั้งไม่ต่างจากยุคจีไอกลับบ้าน
 
               ฉากชีวิตสงครามแนวหลังเมื่อ พ.ศ.โน้น ถูกรื้อให้มาโลดแล่นในเวทีข่าวสาร พลันที่มีข่าวองค์การนาซาขอใช้อู่ตะเภา เพื่อภารกิจศึกษาสภาพภูมิอากาศ
 
               เราควรศึกษาบทเรียนแห่งอดีต แต่มิควรปลุกอดีตให้เป็นภาพหลอนหลอกลวงผู้คน จนละเลยข้อเท็จจริงแห่งปัจจุบัน