คอลัมนิสต์

หาดดอนจันที่หายไป

หาดดอนจันที่หายไป

07 พ.ย. 2555

หาดดอนจันที่หายไป: มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

              ภาพข่าวหน้า 1 นสพ.คมชัดลึก เมื่อวันอังคาร เป็นภาพเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงและเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน(คสข.) ลอยเรือต่อต้านโครงการก่อสร้าง "เขื่อนไซยะบุลี"
 
               เครือข่ายภาคประชาชนดังกล่าวรู้สึกเป็นห่วงกังวลต่อการสร้างเขื่อนไซยะบุลี จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชน และประชาชนที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำโขงตลอดแนว
 
               ในวาระการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เครือข่ายและประชาชนในพื้นที่หนองคาย จึงมารวมตัวเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้รับรู้ว่า แม่น้ำโขงกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่าง
 
               อย่างไรก็ตาม วันพุธนี้ (7 พ.ย.2555) รัฐบาลลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่าง พร้อมประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์บริเวณโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุลี
 
               จากรายงานข่าวชิ้นนี้ สื่อให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างลาวกับไทย ระหว่างการปกครองสองระบอบ โดยฝั่งซ้ายเป็นการนำอย่างเด็ดขาดของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว แต่ฝั่งขวายังอยู่ในระบอบการเมืองหลายพรรค
 
               เบื้องหลังภาพเรือชาวบ้านฝั่งไทยคือ "แลนด์มาร์กแม่โขงริเวอร์ไซด์" (Landmark Mekong Riverside) โรงแรมห้าดาวตระหง่านง้ำเหนือหาดดอนจัน ซึ่งโรงแรมแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "โลกใหม่แห่งเวียงจันทน์"
 
               ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 รัฐบาล สปป.ลาว ได้เตรียมการโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ และหนึ่งในนั้นคือ การก่อสร้างโรงแรม 8 ชั้น ระดับ 5 ดาวบนหาดดอนจัน และโครงการก่อสร้างบ้านพัก "อาเซมวิลล่า" จำนวน 50 หลัง สำหรับรองรับคณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมอาเซม
 
               การดำเนินงานก่อสร้างทั้งหมดเป็นการลงทุนและก่อสร้างโดยบริษัท แคมซีวิศวกรรม จำกัด จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อการประชุมอาเซมผ่านไป กลุ่มทุนจีนก็จะเดินหน้าไปตามโครงการ "โลกใหม่แห่งเวียงจันทน์" บนเนื้อที่สัมปทานริมฝั่งแม่น้ำโขง 263 ไร่ และคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
               โลกใหม่แห่งนี้ประกอบด้วยบ้านพักอาศัยหรูหรา ห้างสรรพสินค้า โรงแรมระดับ 5 ดาว 1 หลัง อพาร์ตเมนต์ และอาคารศูนย์ธุรกิจทันสมัย และเป็น "แลนด์มาร์ก" อีกแห่งหนึ่งของเมืองหลวงเวียงจันทน์
 
               การเกิดของโลกใหม่ ก็ทำให้โลกเก่าหายไป นั่นคือชุมชนเก่าแก่บนหาดดอนจัน ซึ่งในอดีตบริเวณหาดดอนจัน เมืองสีสัตตะนาก เป็นแหล่งกสิกรรมธรรมชาติ เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว น้ำโขงลดจนแลเห็นหาดทรายขาวเป็นแนวยาว ชาวลาวก็พลิกผืนดินริมโขงเป็นสวนผัก สวนยาสูบ
 
               ก่อนหน้าวันประชุมอาเซม เว็บไซต์วิทยุเอเชียเสรี (ภาษาลาว) ได้นำเสนอข่าวทางการลาวได้ยึดที่ชาวบ้านมาสร้างเป็นบ้านพักของบรรดาผู้นำที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสองทวีป โดยให้ข้อมูลว่า มีประชาชนกว่า 500 คน 102 ครอบครัว ถูกบังคับให้โยกย้ายจากบ้านเรือนและแหล่งทำกินในเขตดอนจัน ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ห่างจากชุมชนเดิมประมาณ 15 ไมล์
 
               ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า บริเวณที่รัฐจัดสรรที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนใหม่ แผ่นดินไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนหาดดอนจัน ชาวบ้านบางคนไม่ได้รับค่าชดเชย หรือได้รับค่าชดเชยที่ไม่เท่ากัน
 
               ในอดีตคนไทยริมโขงฝั่งศรีเชียงใหม่ จะคุ้นตากับภาพสีเขียวบนหาดดอนจันยามฤดูหนาว แต่วันนี้กลับมีภาพตึกรามบ้านหรูผุดขึ้นแทนที่ชุมชนเก่าแก่
 
               หาดดอนจันที่หายไป พร้อมกำเนิดโลกใหม่แห่งเวียงจันทน์ มหานครยุคสังคมนิยม(ทุน) มันเป็นความตื่นตาตื่นใจอันน่าติดตามยิ่ง