คอลัมนิสต์

'อาบพระเสโท ต่างพระอุทกธารา'

'อาบพระเสโท ต่างพระอุทกธารา'

03 ธ.ค. 2555

'อาบพระเสโท ต่างพระอุทกธารา' เพื่อปวงประชาและชาติไทย : กระดานความคิด โดยพล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์

              พระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์นั้นไม่ได้มีความสุขความสบายเช่นกษัตริย์ในเทพนิยายหรือกษัตริย์ในประเทศอื่นๆ ทุกพระองค์ทรงลำบากตรากตรำกับภารกิจที่จะปกป้องประชาชนและรักษาชาติบ้านเมืองให้พ้นจากการคุกคามของอริราชศัตรูมาเป็นระยะๆ จากสงครามที่รุกรานด้วยกำลังคนในต้นราชวงศ์ มาถึงสงครามที่รุกรานด้วยเรือปืนเพื่อแสวงหาอาณานิคมของกลุ่มประเทศยุโรป จนถึงการรุกรานจากสงครามเย็นของลัทธิคอมมิวนิสต์ในรัชการของพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันหรือในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง

              ความยากลำบากในการเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพระบรมราชวงศ์จักรีนั้นเห็นได้จากกรณีที่ ร.5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่พระราชโอรส คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีข้อความตอนหนึ่งว่า “การที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้วจะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้ว มีสองทางคือบวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจนและเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจหรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นแต่มีชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้วว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายในใจความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถึงผู้ซึ่งมิได้ทำใจเช่นนี้ ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้”

              เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย พ.ศ.2475 นั้น อีก 1 ปีต่อมา ร.8, พระอนุชา (ร.9), พระราชชนนี และพระพี่นางได้เสด็จจากประเทศไทยไปประทับอยู่ที่ห้องเช่าวิลล่าวัฒนา เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ ร.8 ขึ้นครองราชย์ทรงมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษาเท่านั้น ทุกพระองค์ทรงผจญกับความทุกข์ยากเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเช่นบุคคลธรรมดา ทั้งเรื่องการแบ่งปันอาหาร, ความปลอดภัย และโรคภัยไข้เจ็บ แต่พระองค์ก็ทรงเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนแม้จะเป็นแค่ยุวกษัตริย์ก็ตาม เช่น

              1.ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นได้บุกรุกเข้ามาในประเทศไทย ร.8 ทรงหวงใยประเทศไทยจึงได้มีพระราชโทรเลขมายังรัฐบาล ขอให้ไทยรักษาความเป็นกลางของชาติไว้ให้ได้

              2.เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย ไทยจึงจำต้องเข้าข้างญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายอักษะ ครั้นสงครามโลกสงบ ฝ่ายพันธมิตรชนะ ไทยก็ได้รับชัยชนะด้วยเพราะไทยอ้างว่าถูกบังคับให้ประกาศสงคราม ลอร์ดหลุยส์ เมาท์ แบตเตน แม่ทัพใหญ่ของอังกฤษได้นำทหารแขกเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ทหารแขกเหล่านั้นมักจะข่มเหงและมีเรื่องกับคนไทย เพราะถือว่าเป็นฝ่ายชนะสงคราม จนกระทั่งลอร์ดเมาท์ แบตเตน ได้สนทนากับ ร.8 และ ร.9 จึงตัดสินใจถอนกำลังพลกลับและขอเป็นผู้นำเดินสวนสนามฉลองชัยชนะในประเทศไทย โดยกราบทูลเชิญในหลวง ร.8 ให้เสด็จออกรับการตรวจพลสวนสนาม ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเป็นที่ยอมรับแก่ฝ่ายพันธมิตรทั่วโลก

              3.เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จีนเป็นฝ่ายชนะด้วยและได้เรียกร้องสิทธิบางอย่างจากรัฐบาลไทย จนเกิดขัดแย้งขึ้นระหว่างคนจีนในไทยกับรัฐบาลไทย ร.8 และ ร.9 จึงทรงพยายามประสานความสามัคคีระหว่างรัฐบาลไทยกับคนจีนในไทยโดยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชาวจีนย่านเยาวราชและสำเพ็งเป็นระยะทางถึง 4 กิโลเมตร นานถึง 3 ชั่วโมง ท่ามกลางการต้อนรับอย่างล้นหลามทำให้ความขัดแย้งมลายหายไป จนกลายมาเป็นประเพณีเสด็จย่านเยาวราชและสำเพ็งสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้

              หลังจากในหลวง ร.8 เสด็จสวรรคต ในวันเดียวกันนั้นรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญ ร.9 ขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งเป็นไปตามลำดับเจ้านายผู้ทรงมีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ.2467 ทุกประการ นับตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็ “ทรงงานหนัก” เพื่อรักษาบ้านเมืองและเพื่อ “สร้างสุขให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนของในหลวงทุกๆ คน ไม่แบ่งชั้นวรรณะ, เชื้อชาติ และศาสนา” ทรงงานแบบนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สมกับพระนาม “ภูมิพล” ซึ่งมีความหมายว่า “พลังแห่งแผ่นดิน” เหมือนกับที่กาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา ระบุไว้บางตอนว่า “...สองพระบาทประพาสไทย ประทับไว้ทุกถิ่นที่ สองพระหัตถ์กระหวัดวี ทรงโอบทั่วทุกทวยชน สองนัยน์สายพระเนตร ทรงเห็นเหตุทุกแห่งหน สองพระกรรณสดับกล เพื่อแก้ทุกข์ทวยประชา สองบ่าที่ทรงแบก แต่วันแรกครองพารา แปดสิบห้าพระชันษา ทั้งสองบ่ามิเคยเบา...”

              ในยุคสงครามเย็น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพังพินาศด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น ในหลวงทรงประกาศหยัดยืนอยู่ในประเทศไทย ไม่ยอมเสด็จฯ ไปไหน ทรงเป็นทั้งขวัญและกำลังใจให้ประชาชน, ข้าราชการ และทหารร่วมมือกันรักษาแผ่นดินไทยไว้จนเป็นผลสำเร็จ แม้จะยากเย็นขนาดไหนพระองค์ก็ไม่เคยท้อถอย

              ในหลวง ร.9 ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อมีพระชนมายุ 19 พรรษา ในขณะนั้นประเทศไทยมีประชาชนเพียง 19 ล้านคน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรเพิ่มมากขึ้นกว่า 65 ล้านคน ในขณะที่ในหลวงทรงครองราชย์มาแล้ว 66 ปี และกำลังจะเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษาอยู่แล้ว แต่พระองค์ก็ยังคงทรงงานหนักอยู่เช่นเดิมเพื่อเป็นแม่ทัพในการประกาศสงครามกับ “ความยากจนของประชาชน” ต่อไปอีก เหมือนกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดไว้ว่า “เกือบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ไหนจะทำงานได้มากขนาดนี้” เหมือนว่าทรง “อาบพระเสโท ต่างพระอุทกธารา” หรืออาบเหงื่อต่างน้ำนั่นเอง เพื่อประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง จะหาพระมหากษัตริย์องค์ไหนในโลกที่รักประชาชนของพระองค์เยี่ยงนี้อีก คงไม่มีแล้ว

              ขอจงทรงพระเจริญ พระชนมายุยิ่งยืนนานประหนึ่งเศวตฉัตรฟ้าที่คุ้มครองสยามประเทศให้ร่มเย็นด้วยคำว่า “พอเพียง” ตลอดไป