เอดส์กับประชาคมอาเซียน
เอดส์กับประชาคมอาเซียน : บทบรรณาธิการประจำวันที่5ธ.ค.2555
โครงการเอดส์ของสหประชาชาติและองค์กรอนามัยโลก ที่ริเริ่มรณรงค์การไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่, การที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และการไม่มีการตีตราหรือการแบ่งแยกผู้ติดเชื้ออีกต่อไป ประเทศไทยเองก็ตั้งเป้าในโครงการนี้เช่นเดียวกันคือ ภายในปี 2559 จะทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ อย่างไรก็ตาม โรคเอดส์ถือว่าเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจสังคมโดยรวม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาหายขาด มีเพียงยับยั้งหรือการควบคุมเชื้อเท่านั้น แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีปัจจุบันและการดูแลสุขภาพที่ดีทำให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานนับสิบปี ตรงนี้เองที่เป็นเหมือนดาบสองคม ทำให้กลุ่มเสี่ยงไม่เกรงกลัวหรือเกิดความประมาทโดยไม่ทันป้องกัน
สถานการณ์เอดส์ของประเทศไทยปัจจุบันคาดการณ์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ Thai Working Group และทีม A2 (The Asian Epidemic Model (AEM) Projection for HIV/AIDS in Thailand : 2005-2025) ประมาณตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในปีพ.ศ. 2555 มีผู้ใหญ่ติดเชื้อสะสมประมาณ 1,157,589 ราย เป็นผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตแล้ว 695,905 ราย เป็นผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ประมาณ 464,414 ราย และคาดว่าจะมีผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในปี 2554 จำนวน 9,473 ราย ถ้าดูจากตัวเลขแล้วต้องถือว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง แสดงว่าการควบคุมหรือการป้องกันตัวเองของคนไทยยังไม่ดีพอ
ประเด็นที่น่าติดตามคือปลายปี 2558 เมื่อเกิดประชาคมอาเซียน แรงงานหรือประชาชนจาก 10 ประเทศ จะหลั่งไหลข้ามแดนกันไปมา การเฝ้าระวังเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับโรคเอดส์ในแง่ของการค้าประเวณีข้ามชาติ ปัจจุบันมีหญิงสาวจากหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาค้าประเวณีผ่านรูปแบบธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสปา นวดแผนโบราณ หรือสถานบันเทิงลักษณะต่างๆ การค้าประเวณีอิสระ จนถึงการหลอกล่อหญิงสาวต่างชาติเข้ามาทำงานเสิร์ฟ แม่บ้าน โรงงาน แล้วถูกบังคับให้ขายตัวเพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ยากจนในภูมิภาคเอเชีย
ประชาคมอาเซียนถือเป็นการเปิดประตูให้กลุ่มค้ามนุษย์ ทำให้สถานการณ์เอดส์ควบคุมได้ยาก รัฐบาลต้องมีนโยบายหรือมาตรการป้องกันเชิงรุกหรือการป้องกันอย่างเข้มข้น กระทรวงสาธารณสุข เองต้องเป็นแม่งานทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่ต้องเผชิญในอนาคต ลำพังการติดเชื้อเอดส์ในประเทศไทยก็ยังควบคุมได้ไม่เต็มที่ ตัวเลขยังน่าเป็นห่วง เมื่อผนวกเข้ากับประชาคมอาเซียน เชื่อว่าการค้าประเวณีและการติดเชื้อย่อมมีแนวโน้มสูงขึ้นเพราะบางประเทศในอาเซียนมีการค้ามนุษย์ค่อนข้างรุนแรง ผู้คนไร้การศึกษายังมีอยู่มาก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องดูแลและหามาตรการร่วมระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อลดปัญหาให้น้อยลงตั้งแต่ครอบครัว กลุ่มนักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงหลังปี 2558