คอลัมนิสต์

ย้อนรอยสงครามชิงเมืองหลวง

ย้อนรอยสงครามชิงเมืองหลวง

01 มี.ค. 2556

ย้อนรอยสงครามชิงเมืองหลวง : ขยายปมร้อน โดยศูนย์ข้อมูลเลือกตั้งเครือเนชั่น

               “กรุงเทพมหานคร” เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษ กำหนดให้ "ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" มีฐานะเป็นข้าราชการการเมือง ที่มาจากการแต่งตั้งโดย "คณะรัฐมนตรี"

               การเลือกตั้ง "ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2518 โดย "ธรรมนูญ เทียนเงิน" จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้ง

               การแข่งขันผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนั้น มี "ธรรมนูญ" แข่งกับ "ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์" อธิการบดีและเจ้าของมหาวิทยาลัยรังสิตคนปัจจุบัน ซึ่งสมัยนั้น "ดร.อาทิตย์" ลงในนามพรรคพลังใหม่
การเมืองไทยยุคนั้น "พรรคพลังใหม่"  ถือเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย (แนวสังคมนิยม) และ "ดร.อาทิตย์" ก็ถือเป็นดาวรุ่งเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ เป็น “เลือดใหม่” ในสนามการเมืองของไทยเลือกตั้งปี 2518 คะแนนไล่จี้กันมาก "ดร.อาทิตย์" แพ้ไปเพียง 7,000 กว่าคะแนนเท่านั้น

               สมัยที่สอง ปี 2528 เป็นการต่อสู้ระหว่าง "สินค้าแบกะดิน" กับ "สินค้าบนห้าง" โดย "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" 1 ใน 5 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คนปัจจุบัน ลงสมัครอิสระในนาม "กลุ่มรวมพลัง" แข่งกับ "ชนะ รุ่งแสง" จากพรรคประชาธิปัตย์ เลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งที่สร้างสีสันและความคึกคักให้ชาวกรุงเทพฯ มากที่สุด

               สมัยต่อมาปี 2533 "จำลอง ศรีเมือง" ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพื่อรักษาแชมป์ แต่คราวนี้สังกัด “พรรคพลังธรรม” ซึ่งพัฒนามาจาก “กลุ่มรวมพลัง” ต้องยอมรับว่า ช่วงนั้น "จำลอง" ฟีเวอร์สุดๆ ชนะใสๆ ด้วยตัวเลข 7 แสนคะแนน แต่ คุณจำลอง อยู่ในตำแหน่งแค่ 2 ปี ก็ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ไปลงสนามการเมืองใหญ่ (ส.ส.) นำพาพรรคพลังธรรมลุยสนามเลือกตั้งใหญ่

               แต่สนามเลือกตั้ง กทม. "พรรคพลังธรรม" ก็ยังฟีเวอร์ ส่งผลให้การเลือกตั้งในปี 2535 "กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา" ตัวแทน “พรรคพลังธรรม” มีชัยชนะเหนือคู่แข่ง

               ต่อมาในปี 2539 ชิงชัยกันระหว่าง "ดร.พิจิตต รัตตกุล" จาก "กลุ่มมดงาน" แข่งกับ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" จาก "พรรคพลังธรรม" ที่หวนคืนสนาม กทม. และมี "กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา" อดีตผู้ว่าฯ กทม. แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ "จำลอง" ไม่ฟีเวอร์อีกแล้ว แพ้ "ดร.พิจิตต" ไปกว่า 2 แสนคะแนน

               ส่วนในปี 2543 มีคนเด่นคนดังลงแข่งกันมาก "สมัคร สุนทรเวช" ลงในนามอิสระ และทำลายสถิติได้คะแนนมากที่สุด 1 ล้าน 1 หมื่นคะแนน ซึ่งจนปัจจุบันยังไม่มีใครทำลายสถิตินี้ลงได้

               สำหรับเลือกตั้งปี 2547 "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" จาก "พรรคประชาธิปัตย์" ชิงชัยกับ "ปวีณา หงสกุล" ที่ลงสมัครอิสระ โดยมี "พรรคไทยรักไทย" ให้การสนับสนุน ครั้งนี้ คนเด่น คนดัง ก็ลงเยอะ เช่น "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์, เฉลิม อยู่บำรุง, นิติภูมิ นวรัตน์, พิจิตต รัตตกุล" ฯลฯ ผลปรากฏว่า นักการตลาดมือเซียน "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ชนะลอยลำ

               ครบวาระปี 2551 "อภิรักษ์" ลงสมัครรักษาแชมป์ ความนิยมและคะแนนนอนมาตั้งแต่ต้นจนจบ ชนะไปด้วย 9.9 แสนคะแนน แต่ "อภิรักษ์" อยู่ในตำแหน่งได้แค่เดือนเดียวก็ต้องไป หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีรถดับเพลิง "อภิรักษ์" แสดงสปิริตทางการเมืองด้วยการลาออก (19 พ.ย.2551) โดยไม่รอกระบวนการทางศาลตัดสิน (ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองฯ) ส่งผลให้ต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ และครั้งล่าสุดเดือนมกราคม 2552 พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจส่ง "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ลงชิงชัย ขณะที่ "พรรคเพื่อไทย" ส่ง "ยุรนันท์ ภมรมนตรี" ปรากฏว่า "คุณชายหมู" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากประชาธิปัตย์ ชนะด้วยคะแนน 934,602

               วันที่ 10 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นวันครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" แต่ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ตัดสินใจลาออกก่อนครบวาระ (9 มกราคม 2556) ตามกฎหมายจึงต้องมีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน

               โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กทม. กำหนดวันการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2556 และเปิดรับสมัครวันที่ 21-25 มกราคม 2556 การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทาง กกต.จะเข้าไปมีบทบาทดูแลการเลือกตั้ง ทั้ง กกต.ใหญ่ และ กกต.กทม./กกต.ท้องถิ่น กทม. โดยมี "ปลัดกรุงเทพมหานคร" เป็นฝ่ายปฏิบัติงาน

               -หน่วยเลือกตั้ง กทม.มีทั้งหมด ประมาณ 6,548 หน่วย (ใน 50 เขตปกครอง) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 4,244,452 คน

               -การนับคะแนน นับที่หน่วยเลือกตั้งใกล้บ้าน เหมือนนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.

               -ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. (ค่าใช้จ่ายในการหาเสียง) ปี 2556 นี้ กำหนดไม่เกิน 49 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 10 ล้านบาท จากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2552 ที่กำหนดไว้ 39 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

               โดยค่าใช้จ่าย 49 ล้านบาท มาจากการคำนวณจากวงเงินที่ค่าจ่ายเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2553 ที่ให้ใช้จ่ายค่าหาเสียงคนละไม่เกิน 8 แสนบาท ซึ่ง กทม.ทั้ง 50 เขตปกครอง มี ส.ก.ได้ 61 คน (61 เขต) เอา 61 คูณ 800,000 บาท ก็จะได้เท่ากับ 48.8 ล้านบาท เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จึงมาลงตัวที่ 49 ล้านบาท

.....................

(หมายเหตุ : ย้อนรอยสงครามชิงเมืองหลวง : ขยายปมร้อน โดยศูนย์ข้อมูลเลือกตั้งเครือเนชั่น)