คอลัมนิสต์

ผังเมือง-กระจายความเจริญ

ผังเมือง-กระจายความเจริญ

05 พ.ค. 2556

ผังเมือง-กระจายความเจริญ : บทบรรณาธิการประจำวันที่5พ.ค.2556


              ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ ที่กำลังประกาศบังคับใช้ โดยภาพรวมสรุปผังเมืองฉบับนี้จะเน้นเรื่องภาวะโลกร้อนให้กรุงเทพฯ เป็นกรีนซิตี้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและประหยัดพลังงาน ให้พื้นที่ชั้นในเป็นเมืองที่สมบูรณ์พร้อม มีการสร้างศูนย์ชุมชนชานเมือง หรือซับเซ็นเตอร์ หรือซับซิตี้ ในรัศมีใกล้ถนนวงแหวนรอบนอก ทั้งตะวันตกและตะวันออก มารองรับการขยายตัวของพื้นที่ชั้นในให้กระจายตัวไปออกมากขึ้น รวมถึงให้เป็นผังเมืองรวมที่กำหนดแนวทางจะรับมือกับภัยพิบัติหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 โดยหน้าตาของสีผังเมืองจะไม่ต่างจากผังเมืองที่ประกาศใช้เมื่อปี 2549 มีปรับปรุงเล็กน้อย เช่น บริเวณนอร์ธปาร์ค ปรับจากเดิมสีเขียวเป็นสีส้มหรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และบริเวณใกล้ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะจากเดิมเป็นสีเหลืองหรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยให้เป็นพื้นที่สีส้ม

              สำหรับข้อแตกต่างผังเมืองใหม่มีหลายประการจากของเดิม เช่น เพิ่มแผนผังแสดงโครงการสาธารณูปโภค ทั้งปรับปรุง-ขยายคลองระบายน้ำสายต่างๆ สร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ เพื่อให้รู้ว่าตรงไหนควรจะสร้างที่อยู่อาศัยได้ จุดไหนจะเป็นทางไหลผ่านของน้ำจะได้ไม่ไปสร้างสิ่งกีดขวางระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม เพิ่มการควบคุมกิจกรรมที่ขัดต่อสุขลักษณะ 5 กิจกรรม เช่น สนามแข่งรถ สนามแข่งม้า สนามยิงปืน และเพิ่มข้อกำหนดให้มีพื้นที่น้ำซึมผ่านได้เพื่อปลูกต้นไม้ 50% ของอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม เมื่อดูจากข้อกำหนดใหม่ที่เข้ามานั่นเท่ากับผังเมืองใหม่มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหามลภาวะ เพื่อให้วิถีความเป็นอยู่ของคนในเมืองหลวงดีขึ้น

              ขณะที่สถานการณ์ของกรุงเทพฯ ประสบกับปัญหาความแออัด การจราจรหนาแน่นติดขัด และมลพิษน้ำและอากาศก็ย่ำแย่ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลวิจัยพบมลพิษในอากาศมีสารก่อมะเร็งในหลายจุดของกรุงเทพฯ เกินมาตรฐานถึง 2.2 เท่า เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดสูงสุดจากควันพิษไอเสียจากยานยนต์บนท้องถนน โดยตรวจวัดจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 7 สถานี คือ การเคหะชุมชนคลองจั่น โรงเรียนนนทรีวิทยา โรงเรียนสิงหราชพิทยาคม การไฟฟ้าย่อยธนบุรี สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย 4 การเคหะชุมชนดินแดง และโรงเรียนบดินทรเดชา ตั้งแต่ปี 2549-2552 เป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่ชี้ให้เห็นถึงอันตรายต่อสุขภาพ

              สภาพความเป็นจริงของการอยู่อาศัยในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ ก็มีความแออัดหนาแน่น คุณภาพชีวิตต่างก็อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน แต่มีหลายเมืองหลวงที่เขามีวิสัยทัศน์วางแผนระยะยาวทั้งในเรื่องผังเมือง สภาพแวดล้อม พื้นที่สีเขียวและคุณภาพชีวิต ดังนั้นรัฐบาลเองก็ต้องตระหนักให้ความสำคัญ เพราะยิ่งนานวันความแออัดในกรุงเทพฯ จะมีมากขึ้น จึงต้องมีการไปพัฒนาในหัวเมืองหรือสร้างเมืองบริวารหรือเมืองคู่ขนานเพื่อกระจายความเจริญไม่ให้เข้ามาแออัดในเมืองหลวงมากเกินไป เพราะปัจจุบันประชากรในกรุงเทพฯ ก็มีกว่า 10 ล้านคนแล้ว ในเมื่อริเริ่มโครงการเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มูลค่า 2 ล้านล้านบาทแล้ว น่าจะวางแผนไปพร้อมกันทีเดียว ไหนๆ ก็จะทุ่มสุดตัวกันทั้งทีแล้ว