คอลัมนิสต์

วงจรอุบาทว์

วงจรอุบาทว์

10 มิ.ย. 2552

มีนักวิชาการบางท่านเคยวิเคราะห์ว่า การเมืองไทยในปัจจุบันมีสภาพของการผูกขาดการเลือกตั้ง ทำให้คนดีๆ เข้าสู่ระบบการเมืองได้ยาก ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นทั้งในรูปของนโยบายและการปฏิบัติ เกิดการจับกลุ่มกันเพื่อรักษาและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จนถึงการสร้างอำนาจ

 เมื่อมองจากผลการวิเคราะห์ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาของการเมืองไทยตามทัศนะของนักวิชาการท่านนั้น มีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ การผูกขาดการเลือกตั้งของนักการเมือง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการทุจริตคอรัปชั่น และสร้างกระบวนการต่างๆ เพื่อรองรับจุดมุ่งหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มร่วมก๊วน การหาทางเข้าร่วมรัฐบาล การต่อรองตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี การยึดกุมอำนาจในรัฐสภา ซึ่งจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังๆ ที่ผ่านมา จะเห็นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งมักจะเป็นวงศ์วานว่านเครือของนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล

 จนเกิดคำเรียกขานว่า “สภาผัวเมีย” หรือ “รัฐบาลนอมินี” ที่พ่อแม่พี่น้องหรือศรีภรรยาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ออกหน้าแทนตัวจริงเสียงจริงที่โดนล็อกกุญแจอยู่ในบ้านเลขที่ 111 และหลังอื่นๆ

 สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจและเชื่อว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่ก็คงจะไม่เข้าใจเหมือนกัน นั่นคือทำไมนักการเมืองไทยส่วนหนึ่งถึงมีแต่ความคิดเรื่องทุจริตคอรัปชั่นอยู่ในสมอง แทนที่จะคิดถึงเรื่องการพัฒนาบ้านเมือง ทำไมพวกเขาถึงสะกดคำว่า “เสียสละเพื่อส่วนรวม” ไม่ถูก หรือเป็นเพราะถูกสอนให้ท่องแต่คำว่า “กอบโกยเข้ากระเป๋าตัวเอง” มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย จนจดจำขึ้นใจ

 ปัญหาอย่างที่ 2 ของการเมืองไทย ก็คือ การที่คนดีๆ แทบไม่มีโอกาสในการเข้าสู่ระบบการเมือง เนื่องจากการเลือกตั้งถูกผูกขาดโดยกลุ่มคนหน้าเดิม แม้ว่าวิธีแก้ไขน้ำเน่าที่ดีคือการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย แต่สำหรับการเมืองไทยแล้ว คงต้องใช้น้ำสัก 4-5 มหาสมุทร กระมัง ซึ่งจริงๆ แล้วในเวลานี้ แม้แต่น้ำดีๆ สักหยดเดียว ก็แทบไม่มีโอกาสเข้าไปปะปนในหนองน้ำเน่าแห่งนี้เลยครับ

 ผมเคยได้ยินนักการเมืองน้ำดีบางคนเสนอความคิดว่า การจะทำให้การเมืองดีขึ้น จะต้องเริ่มด้วยการสนับสนุนคนดีๆ ให้เข้าไปสู่รัฐสภาให้ได้ ซึ่งการซื้อเสียงขายเสียงนั้นถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริตคอรัปชั่น ดังนั้นเขาจึงจะไม่มีการแจกเงินเพื่อซื้อเสียงโดยเด็ดขาด แต่จะขอให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือคนดีให้มีกำลังในการต่อสู้ทางการเมืองจะได้เข้าไปสู่สภาได้บ้าง เรื่องนี้แม้จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ทุกคนก็คงคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่า ต่อให้คนคนนั้นเป็นคนดีขนาดไหน ก็ไม่มีทางที่จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะเอาชนะนักการเมืองที่หาเสียงประเภทลด แลก แจก แถมในรูปแบบเดิมๆ อย่างแน่นอน

 ถ้ามองดูการเมืองไทย ณ เวลานี้ ก็จะเห็นว่าเรากำลังโคจรเข้าสู่สภาพของการขาดเสถียรภาพ เนื่องจากเหตุต่างๆ ข้างต้น ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากไม่สามารถ “ทำความเข้าใจ” กันอย่างเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายได้ ก็มีแนวโน้มที่จะก้าวไปถึงจุดสุดท้ายของวงจร คือการยุบสภา

 ถึงตอนนี้ ผมชักเริ่มไม่แน่ใจว่าสิ่ง “อุบาทว์”ตามทัศนะของนักวิชาการท่านนั้น คือ วงจร หรืออะไรกันแน่ ?