คอลัมนิสต์

ศักดินารากหญ้า

ศักดินารากหญ้า

12 มิ.ย. 2552

เรียลิตี้โชว์ "พรรณานิคมโมเดล" ที่บ้านหนองไผ่-นาดี เมื่อวันก่อน อาจประสบผลสำเร็จในเชิงสื่อสารการตลาดการเมือง นักวิเคราะห์ข่าวหลายคน อาจสนใจประเด็นร้อนเรื่องการวัดบารมี "ทักษิณ" กับ "เนวิน"

 แต่ผมกลับเศร้าใจลึกๆ หาก "พรรณานิคมโมเดล" ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย ชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 สกลนคร
 เพราะนั่นหมายถึงเป็นชัยชนะของ "วัฒนธรรมประชาธิปไตยอุปถัมภ์"

 บังเอิญช่วงนี้ น้องนักข่าวไปเรียนที่จุฬาฯ ผมเลยได้อ่านวิทยานิพนธ์เรื่อง "ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทางการเมืองแบบใหม่ : ศึกษาเฉพาะกรณี ทัวร์นกขมิ้น" ของ ประกีรติ สัตสุต

 ผมจึงเชื่อว่า "พรรณานิคมโมเดล" ทำให้เราได้เห็นเงารางๆ ของ "พ่อขุนอุปถัมภ์" คนใหม่ ซึ่งเคยแบกเป้เดินตามก้น "นายใหญ่" เจ้าของทัวร์นกขมิ้นมาแล้ว

 โชคชะตาก็ช่างตลกเหลือร้าย ลูกน้องกำลังเบ่งบารมีราว "พญาอินทรี" ผู้ครองฟ้า แต่นายเก่ากลับกลายเป็นดั่งนกขมิ้นเหลืองอ่อน...ค่ำนี้ไม่รู้ว่าจะนอนประเทศไหน

 มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมอ่านแล้วก็อ่านอีก เรียกว่าอ่านจนช้ำคือ "อนิจลักษณะของการเมืองไทย" ของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

 หนังสือเล่มนี้แหละ ได้ช่วยย้ำความเชื่อที่ว่า "วัฒนธรรมประชาธิปไตยอุปถัมภ์" เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยปุ๋ยสูตรเดิมคือ "ความคิดศักดินาตกค้าง" ที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่มานานนับร้อยๆ ปี

 แม้เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีจะทะลุทะลวงเข้าไปทุกซอกหลืบของประเทศ วัฒนธรรมบริโภคนิยมจะแทรกซึมเข้าไปในทุกครัวเรือน แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความแตกต่างทางรายได้ระหว่างเมืองกับชนบท

 ทำให้ระบบอุปถัมภ์แบบใหม่ ก่อตัวขึ้นระหว่างนักการเมืองกับประชาชนในเขตเลือกตั้ง ซึ่งความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ดังกล่าว มิใช่มีเพียงรูปแบบของเงินตราอย่างเดียว

 หากแต่มันหมายถึงการปกป้องคุ้มครองยามที่ถูกข้าราชการรังแก การนำโครงการพัฒนาเข้าสู่ชุมชน การนำนโยบายที่จับต้องได้เข้าสู่ครัวเรือน ฯลฯ

 "พ่อขุนยุคใหม่" ที่มาจากวัฒนธรรมประชาธิปไตยอุปถัมภ์ จะธำรงสถานะความเป็น "พ่อ" อยู่ในดวงใจของชาวบ้าน จึงต้องทำ "นโยบายที่กินได้" มากกว่าการแจกเงินซื้อเสียง

 "พ่อขุนทักษิณ" คือตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จในการนำเอา "นโยบายที่กินได้" เสนอขายในตลาดเลือกตั้ง จนมัดใจชาวรากหญ้าไว้ได้ตราบเท่าทุกวันนี้

 นโยบายของทักษิณ แฝงไว้ด้วยความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ เหมือนนักเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ดำเนินนโยบายต่อชาวบ้าน ด้วยนโยบายรูปธรรมต่างๆ

 นักเลือกตั้งระดับหัวหน้ามุ้งของไทยรักไทยสมัยนั้น ก็ล้วนพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ในตลาดการเมือง

 ผมจึงไม่ค่อยเชื่อน้ำยาคารมของพวกนักเลือกตั้งบางคน ที่แหกปากตะโกน "โค่นอำมาตย์...โค่นศักดินา"
 
 เพราะเบื้องหลังวาทกรรมก็คือ นักเลือกตั้งที่ทำตัวเป็น "พ่อขุนอุปถัมภ์" ซึ่งมองผิวเผินคล้ายจะเป็นนักประชาธิปไตยจ๋า แต่เอาเข้าจริง คนพวกนี้ก็ไม่ต่างจากจอมเผด็จการที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเอง 

 ใครที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อ "บ้านใหญ่" ก็จะถูกกีดกันออกจากแหล่งผลประโยชน์ในท้องถิ่น

 ดังนั้น นักการเมืองบางสายพันธุ์ ต้องการโค่นอำมาตย์ โค่นศักดินา...ก็เพื่อตัวจะได้มีอำนาจ และสถาปนาตัวเองเป็น "พ่อขุนอุปถัมภ์" หรือศักดินารากหญ้า เอารัดเอาเปรียบชาวบ้านแบบไม่มีที่สิ้นสุด

แคน สาริกา