
ร้องอาคารทรุด-หวั่นถล่มเขตแจงขั้นตอน-รื้อถอน
ร้องอาคารทรุด-หวั่นถล่มเขตแจงขั้นตอน-รื้อถอน : สายตรวจระวังภัย ทีมข่าวอาชญากรรม
นายสุรพงษ์ วรเนติโพธิ์ ร้องเรียนรายการ "สายตรวจระวังภัย" ว่า อาคารพาณิชย์เก่า ตั้งอยู่เลขที่ 341 และ 341/1 ซอยสุขุมวิท 93 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ แตกร้าวและเกิดการทรุดตัว หากปล่อยไว้นานอาจเกิดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัย และประชาชนผู้อาศัยข้างเคียง ที่ผ่านมาได้ทำเรื่องขอปรับปรุงไปยังสำนักงานเขตหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า
"ผมรอมา 1 ปีเต็มๆ หนังสือมีหมด ตอนนี้ครบ 1 ปีแล้ว เขาไม่ได้ดำเนินการใดๆ ผมจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง คือจริงๆ ถึงที่สุดทางเขตบอกว่าไม่รื้อ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ถ้ามีคนบาดเจ็บหรือตายเมื่อไหร่ ก็ต้องถามว่าใครจะรับผิดชอบ" นายสุรพงษ์ร้องเรียนทีมข่าวทันทีที่ลงพื้นที่
"ทีมข่าวอาชญากรรม" สอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระโขนงถึงประเด็นร้องเรียนกับ นายวัฒนะ โรจนสุวรรณ์ หัวหน้างานควบคุมอาคาร รักษาการหัวหน้าฝ่ายโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับคำชี้แจงว่า การดำเนินงานของฝ่ายโยธาเป็นไปตามขั้นตอนและปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ที่ผู้ร้องเรียนแจ้งให้สำนักงานเขตพระโขนงเข้าตรวจสอบสภาพบ้านในซอยสุขุมวิท 93
ทั้งนี้ บ้านของนายสุรพงษ์พัง กลัวทรุดตัวและสร้างความเสียหายให้แก่หลังอื่น จึงมายื่นเรื่องขอให้ทางเขตเข้าตรวจสอบ พบว่าใกล้พังจริง แต่ตอนนั้นยังไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของอาคารแต่ละหลัง เพราะแจ้งมา 3 หลัง เป็นของผู้ร้องเรียน 2 คูหา และด้านข้างที่ติดกับผู้ร้อง 2 คูหา กลายเป็น 4 คูหา แต่เจ้าของ 3 ราย ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของอาคารแต่ละหลัง จึงออกคำสั่งจากทางเขตให้ผู้ครอบครองอาคารทั้ง 3 หลัง แก้ไขอาคารภายใน 30 วัน ผู้ร้องเรียนก็เรียกร้องมาเรื่อยๆ ระหว่างที่ออกคำสั่งให้แก้ไขทั้ง 3 หลัง ทางเขตได้ทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดิน เพื่อตรวจสอบกรรมสิทธิ์
"การออกคำสั่งใดๆ เราต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หากออกผิดคำสั่งจะไม่มีผล จึงต้องรอขั้นตอน”
นายวัฒนะกล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญพบว่า อาคาร 10 คูหา ทรุดเอียง 4 คูหา สภาพตัวอาคาร เสาคานมีการแตกร้าว และทรุดตัวอย่างหนัก ทางเขตได้ออกคำสั่งให้แก้ไขอาคารให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง และสามารถใช้งานได้ตามปกติภายใน 30 วัน โดยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ปัญหาขณะนี้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถอนุญาตให้รื้อถอนอาคารได้ เพราะแบบแปลนยังไม่ถูกต้อง ต้องแก้ไขแบบแปลนภายใน 30 วัน หากไม่แก้ไขแบบแปลนทางเขตจะออกหนังสือเพิกถอนไม่อนุญาตให้รื้อถอนตามแบบที่ยื่นมา และมีอำนาจดำเนินการทางพัสดุเพื่อรื้อถอนอาคารทรุดตัวดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป
การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามหนังสือ ค.23 จะเป็นคดีอาญา ทางสำนักงานเขตพระโขนงต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
หากทางผู้ร้องเรียนไม่พอใจ หรือไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง สามารถยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เพื่อหาคนกลางเข้ามาพิจารณา การดำเนินการของทางสำนักงานเขตได้ปฏิบัติตามถูกต้องตามขึ้นตอนหรือไม่ โดยสามารถยื่นเรื่องมาที่สำนักงานเขตพระโขนง ทางสำนักงานเขตจะส่งต่อเรื่องไปที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมโยธา ต่อไป
"ทุกฝ่ายทั้งผู้ร้องเรียน เจ้าของอาคารใกล้เคียง และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระโขนง จะดำเนินการร่วมกัน หาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบ เพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไขปรับปรุงอาคารทรุดร้าวดังกล่าว ก่อนที่ตัวอาคารจะทรุดตัวลง และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน" นายวัฒนะกล่าว