คอลัมนิสต์

ดาบสองคมเบรกประมูล4จี

ดาบสองคมเบรกประมูล4จี

18 ก.ค. 2557

ดาบสองคมเบรกประมูล4จี : กระดานความคิด โดยนำเชี่ยว บูรพา

                2เดือนเข้าไปแล้ว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศและพยายามจัดระเบียบสังคมเพื่อนำความสุขกลับคืนมาสู่ประชาชนคนไทย แต่ดูเหมือนนโยบายการจัดระเบียบสังคม รุกไล่ปราบปรามมาเฟียนอกระบบทั้งหลาย ทั้งจัดระเบียบวินรถตู้โดยสาร วินรถจักรยานยนต์รับจ้าง รื้อโควตามาเฟียกองสลาก ปราบปรามแหล่งอบายมุข สิ่งเหล่านี้ดูจะยังไม่ใช่คำตอบ การเร่งปลดล็อกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริงต่างหากคือสิ่งที่ภาคเศรษฐกิจต้องการ

                หากนับเนื่องจากวันนี้ไปอีกไม่ถึง 2 เดือน คือวันที่ 15 กันยายน 2557 ผู้ใช้บริการมือถือในระบบ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) อาจต้องพบกับความโกลาหล เพราะมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการมือถือระบบดังกล่าวที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 56 จะสิ้นสุดลง ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้ใช้บริการมือถือระบบดังกล่าวจะไม่สามารถใช้ได้อีก

                แม้ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.จะตีฆ้องร้องป่าวให้ผู้ใช้บริการมือถือในระบบ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ได้เร่งดำเนินการโอนย้ายเลขหมายไปยังเครือข่ายอื่นๆ โดยออกมาตรการเยียวยามาตั้งแต่กลางปี 56 และจะสิ้นสุดลงวันที่ 15 กันยายนนี้ แต่ก็ยังมีเลขหมายคงค้างอยู่อีกกว่า 9.5 ล้านเลขหมาย (จากเดิม 17 ล้าน) และกสทช.คงไม่สามารถขยายมาตรการเยียวยาออกไปได้อีก จำเป็นต้องเร่งเปิดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าโดยเร็ว

                จะว่าไป กสทช.ควรจะดำเนินการเปิดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตมือถือใหม่ที่สามารถพัฒนาไปสู่ระบบ 4จี มาตั้งแต่ก่อนสัญญาสัมปทานมือถือระบบ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะสิ้นสุดลงในปี 56 แล้ว แต่ด้วยขั้นตอนการประมูลที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ใน กสทช.วางเอาไว้เต็มไปด้วยความยุ่งยาก สลับซับซ้อน จึงทำให้ระยะเวลาที่ต้องเตรียมการประมูล ซึ่งควรจะดำเนินการไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้จนป่านนี้ก็ยังไปถึงไหน

                ล่าสุด เมื่อมาเจอคำสั่ง คสช. สั่งชะลอการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เข้าไปอีก ก็ทำให้กระบวนการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อออกใบอนุญาต 4จี ล่าช้าออกไปอีก

                ไหนจะมีเรื่องที่ฝ่ายบริหารบริษัททีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ร้องไปยัง คสช.ขอให้ชะลอการคืนคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้ทั้งสององค์กรสามารถใช้คลื่นดังกล่าวต่อไปอีกระยะ ด้วยข้ออ้างเครือข่ายอุปกรณ์มือถือที่ 2 องค์กรสื่อสารของภาครัฐได้รับมอบจากคู่สัญญาสัมปทานมูลค่านับแสนล้านบาทนั้น เมื่อปราศจากคลื่นความถี่มันก็ไม่ต่างไปจากสากกะเบือดีๆ นี่เอง ไม่สามารถจะนำไปหาประโยชน์ใดๆ ได้

                การจะคาดหวังให้ 2 องค์กรกระโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์ประมูลคลื่นความถี่ที่ กสทช.จะเปิดประมูลด้วย ก็ไม่รู้จะทำหรือไม่ เพราะคงไม่ชอบเล่นบทที่ต้องแข่งขันกับใครแน่ๆ

                ก็คงต้องฝากไปยัง คสช.ที่สั่งชะลอการประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อออกใบอนุญาตมือถือระบบ 4จี ที่ว่านั่น หากเป็นไปเพื่อตรวจสอบกระบวนการเปิดประมูลหรือดำเนินโครงการปกติ คงไม่มีใครติดใจอะไร แต่หากพิจารณาเรื่องนี้ให้ดีก็จะพบว่า มีกลุ่มทุนสื่อสารบางกลุ่มได้ประโยชน์จากการเห็นประชาชนคนไทยยังไปไม่ถึง 4จี

                เพราะอย่างที่กล่าวมาในห้วงเวลานี้ ที่เศรษฐกิจไทยต้องการกลไกในการขับเคลื่อน ก็มีเพียงภาคธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเท่านั้น ที่จะเป็นฟันเฟือนหลักของการดำเนินการโดยที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องขอกู้เงินมาดำเนินการ ก็มีบริษัทเอกชนน้อย-ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศพร้อมจะดาหน้ามาลงทุนอยู่แล้ว

                เพราะในทันทีที่ กสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว เฉพาะค่าใบอนุญาต 4จี 2 ใบอนุญาตก็คาดว่าจะทำให้รัฐบาลได้เม็ดเงินเข้าคลังไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมเครือข่ายระบบ 4จี ที่เอกชนจะต้องลงทุนตามมาอีกไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท

                สิ่งที่ คสช.น่าจะดำเนินการคือ เป็นฝ่ายเร่งรัดให้ กทค.และ กสทช.ดำเนินโครงการนี้เสียด้วยซ้ำ เพื่อเร่งนำความสุขกลับคืนมาสู่ประชาชนคนไทย ส่วนข้อครหาในการประมูล 3จี ในก่อนหน้า ก็เป็นเพียงคำครหาเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ 3จี เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันนี้

                ที่สำคัญ ด้วยอำนาจที่มีในขณะนี้ ทั้ง กทค.และ กสทช.คงไม่กล้าที่จะผลีผลามทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ