คอลัมนิสต์

เปิดบ้านบูรพาพยัคฆ์

เปิดบ้านบูรพาพยัคฆ์

21 ส.ค. 2557

เปิดบ้านบูรพาพยัคฆ์ : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง

                กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถือเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ โดยขึ้นตรงกับกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ซึ่ง ร.21 รอ.ได้รับพระราชทานสมญานามจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ ว่า เป็น "ทหารเสือนวมินทราชินี" ซึ่งปัจจุบัน ร.21 รอ. ได้ถือกำเนิดมาแล้ว 64 ปีเต็ม โดยยึดถือวันที่ 21 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันกำเนิดของหน่วย

                กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2493 ตามคำขอขององค์การสหประชาชาติ ในการจัดตั้งกำลังเข้าช่วยเหลือรัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อยับยั้งการรุกรานของฝ่ายคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ โดยใช้นามหน่วยว่า “กรมผสมที่ 21" มีที่ตั้งกองบังคับการชั่วคราวอยู่ในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อมาในปี 2502 ได้แปรสภาพเป็นกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนคร

                ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารแก่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นพันเอกหญิง ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2511 ได้ย้ายเข้าที่ตั้งใหม่ที่ จ.ชลบุรี พร้อมมีหน่วยขึ้นตรงอีก 3 กองพันทหาร คือ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ (ร.21 พัน.1 รอ.) กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ (ร.21 พัน.2 รอ.) และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ (ร.21 พัน.3 รอ.)

                ที่ผ่านมา กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ถูกจับตามากในช่วงระยะหลัง 10 ปีผ่านมา เนื่องจากอดีตที่ผ่านมาหน่วยดังกล่าวมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่เคยดำรงแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ มาแล้ว

                พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เคยอยู่ในกรมนี้มาแล้ว หลังจากไปเติบโตในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.)

                กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเตรียมกำลัง, การฝึกและจัดกำลังสนับสนุนสหประชาชาติในการยับยั้งการรุกรานของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ณ ประเทศเกาหลี ซึ่งผลของการรบ กรมผสมที่ 21 ได้สร้างวีรกรรมจนได้รับสมญานามจากกองทัพสหประชาชาติในสมรภูมิเกาหลีว่า “พยัคฆ์น้อย“ ซึ่งหมายถึงทหารไทย แม้จะตัวเล็กแต่ก็เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บ

                กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะยุคที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น มีการจัดกำลังพลจากหน่วยดังกล่าวมาอารักขา เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองร้อนแรงในปี 2553 เรื่อยมาจนถึงปี 2555

                กำลังพลที่ถูกเรียกใช้มาดูแลอารักษาบุคคลสำคัญได้รับการฝึกมาเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะหลักสูตรทหารเสือราชินี หรือ "นักรบสีม่วง" ที่ใครได้เข้าไปฝึกและจบหลักสูตรจะเป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดในชีวิตการรับราชการทหาร โดยคุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกหลักสูตรทหารเสือต้องเป็นกำลังพลที่รับราชการอยู่ในหน่วยของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ หรือเป็นกำลังพลนอกหน่วยที่กองทัพบกอนุมัติให้เข้ารับการฝึก

                หลักสูตรดังกล่าวจัดการฝึก 2 ปีต่อ 1 รุ่น ใช้เวลาทั้งสิ้น 16 สัปดาห์ โดยแบ่งช่วงการฝึก คือ ในเรื่องการปรับสภาพร่างกายและจิตใจ เตรียมร่างกายให้พร้อมในการฝึกภาคต่อๆ ไป ระยะเวลา 4 สัปดาห์ (ผู้ที่ผ่านการฝึกในระยะนี้เท่านั้นที่จะสามารถรับการฝึกขั้นต่อไปได้) นอกจากนี้จะมีการฝึกภาคป่า-ภูเขา ระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในระยะนี้จะเน้นการฝึกการแทรกซึมทางอากาศด้วยอากาศยาน การฝึกการแทรกซึมทางพื้นดินเข้าปฏิบัติการต่อที่หมายในลักษณะหน่วยทหารขนาดเล็ก หรือชุดปฏิบัติการ

                การจัดตั้งและใช้กำลังกองโจร การพิสูจน์ทราบพื้นที่ป่า การฝึกขี่บังคับม้าและการบรรทุกต่างๆ ฝึกปฏิบัติในการถวายความปลอดภัยองค์พระประมุข และการศึกษางานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ การฝึกภาคทะเล ระยะเวลา 3 สัปดาห์ เน้นการแทรกซึมทางน้ำ การดำน้ำทางยุทธวิธี การใช้เรือยาง การลาดตระเวนชายฝั่ง การยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การโดดร่มลงทะเล การดำรงชีพในทะเล และประเพณีชาวเรือ การฝึกภาคปฏิบัติการในเมือง ระยะเวลา 3 สัปดาห์ เน้นการปฏิบัติในพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง การต่อต้านการก่อการร้ายสากล การชิงตัวประกัน การขับขี่จักรยานยนต์ทางยุทธวิธี และการฝึกภาคอากาศ ระยะเวลา 2 สัปดาห์ เป็นการฝึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในพื้นฐานของการกระโดดร่มแบบกระตุกเอง การบังคับร่ม การพับร่ม และการแก้ไขเหตุติดขัด