ไทยกับ'ซอฟท์เพาเวอร์'
ไทยกับ'ซอฟท์เพาเวอร์' : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร
กรุงจาการ์ตา-ภาพยนตร์วัยรุ่นและเขย่าขวัญของไทยเป็นที่นิยมมากในประเทศนี้ แรงสนับสนุนและรสนิยมของคนอินโดนีเซียกำลังเป็นดัชนีตัวหนึ่งวัดถึงพลานุภาพของ “ซอฟท์เพาเวอร์” ไทยในเวทีภูมิภาคที่กำลังย่างเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นี่เป็นประเด็นสำคัญรัฐบาลชุดใหม่น่านำมาใช้เป็นนโยบายเร่งด่วน
ในขณะที่ไทยพยายามจะอธิบายตัวเองเพื่อปรับภาพลักษณ์ไทยให้ดูดีต่อเหตุการณ์การเมืองเกิดขึ้นในสามเดือนกว่าที่ผ่านมาต่อประชาคมโลก ภาพลักษณ์ไทยในภูมิภาคอาเซียนยังดีอยู่และปรับภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นมากกว่านี้
ผู้เขียนบังเอิญได้พบปะดาราภาพยนตร์ 3 คน คือ จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล ธนภพ ลีรัตนขจร และสุภัสสรา ธนชาติของ “ฝากไว้...ในกายเธอ” ที่เดินทางมาโปรโมทภาพยนตร์เรื่องนี้ในอินโดนีเซีย เป็นตัวอย่างที่ดีของซอฟท์เพาเวอร์ไทย
ดาราวัยรุ่นทั้งสามคนนี้สามารถทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมและเยาวชนพิเศษของไทยได้ทันที ไม่ต้องอธิบายมาก คนอินโดนีเซียรู้จัก แฟนๆ อินโดนีเซียกรูเข้าถ่ายรูปเซลฟี่ ทำให้มีความรู้สึกดี คิดลึกๆ ไปว่า รัฐบาลไทยยังไม่ได้ใช้ประโยชน์กับคุณสมบัติพิเศษตรงนี้ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยให้ดีได้ฉับพลัน
ภาพยนตร์ไทยกำลังเป็นพลังบวกมหาศาล ในแง่นำมาใช้เพื่อส่งเสริมสัมพันธ์ระหว่างประชาชานต่อประชาชนได้อย่างดี ไม่ต้องเสียเงินประชาสัมพันธ์แบบรัฐบาลชุดก่อนชอบทำ อีกทั้งยังไม่ต้องแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ ไทยเราชอบดูหนังฝรั่ง โชคดีตอนนี้ยังมีหนังอินเดียเข้ามาฉาย หนังญี่ปุ่นก็พอมีบ้าง (ไม่เหมือนโรงหนังแคปปิตอลที่เคยฉายแต่หนังญี่ปุ่น)
ภาพยนตร์ “ฝากไว้..ในกายเธอ” ตอนนี้มีโรงภาพยนตร์ทั้ง 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนรับจะเข้าฉายแล้ว เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนในบริบทอาเซียน ในอดีตเป็นไม่ได้เลยที่หนังไทยจะมีตลาดใหญ่ทั่วภูมิภาคแบบนี้
เวลานี้มีทีวีซีรีส์ของไทยเช่น ฮอร์โมน และเอทีเอ็ม 2 มาถ่ายทอดออกทีวีในอินโดนีเซีย นับว่าเป็นความแปลกใหม่ที่น่าติดตาม นับว่าเป็นครั้งแรกที่ทีวีซีรีส์ไทยได้เข้ามาตีตลาดของอินโดนีเซีย ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีซีรีส์ทีวีของสิงคโปร์เกี่ยวกับช่วงหลังสงครามโลก ที่สถานีทีวีบ้านเรานำมาฉาย
รัฐบาลชุดใหม่ยังไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องซอฟท์เพาเวอร์ เนื่องจากสนใจปัญหาเฉพาะหน้า กระทรวงวัฒนธรรมให้ความสนใจในโปรเจกท์ที่เป็นสถาบันเกี่ยวข้องเช่นสร้างพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมอาเซียน พาวิลเลียน เป็นต้น
ผู้เขียนจำได้ช่วงปี 1990 ได้ไปทำข่าวที่เกาหลีใต้ เป็นช่วงรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีคิม แด จุง บังเอิญมีคำประกาศนโยบายใหม่ออกมาพอดี จะส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีพร้อมกับยอมรับวัฒนธรรมต่างประเทศพร้อมๆ กัน ในที่นี่หมายถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทำให้เป็นเรื่องปกติ
หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่านโยบายนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนเกาหลีต้องกระตือรือร้นในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมตัวเองเพื่อสู้กับวัฒนธรรมต่างประเทศ ตอนนี้เกาหลีใต้มีทุกรูปแบบ ทั้ง เค-ป๊อป อาหาร แฟชั่น ฯลฯ แพร่หลายทั่วโลก
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับไทยคือ เวลานี้วัฒนธรรมพื้นบ้านมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมต่างประเทศ ในกระแสโลกาวิวัตน์ ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ขึ้นมาในระดับชาวบ้าน และตามหัวเมือง สามารถใช้จินตนาการข้ามชาติและความนึกคิดนอกกรอบมาประยุกต์
ดูตัวอย่างเชฟอาหารไทยชื่อดังชาวออสเตรเลีย เดวิด ทอมป์สัน สามารถทำน้ำพริกปลาร้าอร่อยกว่าคนไทยเสียอีก ใช้สูตรโบราณเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 5 คนไทยบางคนถึงกับโมโห รับไม่ได้ที่เห็นเชฟฝรั่งทำได้อร่อยกว่าได้ รสชาติดั้งเดิม
ไทยเราเป็นชาติอิสระ ไม่ต้องอายเขา เรายังมีมวยไทย ตะกร้อไทย จิตรกรรมไทย ฯลฯ ตามจริงทางรัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สามารถส่งเสริมในอาเซียนได้ เช่นในเวียดนาม เป็นต้น
จำได้ช่วงปี 1999 รัฐบาลไทยตั้งใจไว้จะตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ ไม่มีงบประมาณพอ ถึงเวลาที่จะนำโครงการเหล่านี้มาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง
เวลานี้ไทยต้องพึ่ง ”ซอฟท์เพาเวอร์” มากที่สุด มิฉะนั้นความพยายามของไทยที่อยากจะมีบทบาทสูงในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การสมัครเข้าชิงที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงไม่ถาวรในปี 2016-2017 อาจจะไม่สำเร็จ