
วิถีรามัญ'คลองอำแพง'
วิถีรามัญ'คลองอำแพง' : มนุษย์สองหน้าโดยแคน สาริกา
"หนึ่งน้องนางสวยแท้หนักหนา ผ่องโสภาวาจาอ่อนหวาน เห็นเธอเป็นหนึ่งคืนนั้น วันมาช่วยงาน เหมือนมีบุญพาให้พบ แม่นงคราญได้ประสบพบพาน สาวมอญคนสวย หากแม้นบุญช่วยไม่คลาดแคล้ว สาวมอญบ้านแพ้วสมุทรสาคร"
คำร้องท่อนแรกของเพลง "สาวมอญคนสวย" ที่เป็นเพลงแจ้งเกิดของ สุรชัย สมบัติเจริญ และได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปี 2522
เนื่องจาก ประจวบ จำปาทอง ต้องการปั้นสุรชัย จึงวางแผนจัดงานประกวดดนตรีที่วัดกระโจมทอง ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวไทยรามัญ เลยต้องมีเพลงจีบสาวมอญ เพื่อเรียกคะแนนนิยม
จริงๆ แล้ว "สาวมอญบ้านแพ้วสมุทรสาคร" มิได้มีแค่ในพื้นที่ ต.เจ็ดริ้ว หากแต่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในทุกตำบลของ อ.บ้านแพ้ว
ว่ากันว่า วิถีไทยรามัญ ได้ช่วยเติมเต็มความเป็นเอกลักษณ์ให้แก่ จ.สมุทรสาคร โดยยุคแรกๆ คนไทยเชื้อสายมอญอพยพกันมาผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ หลังจากถูกพม่าต้อนจากบ้านก๊ะมะกวักเข้ามาอยู่ในหัวเมืองชายฝั่งทะเล
ชุมชนดั้งเดิมของ จ.สมุทรสาคร ก็มาตั้งถิ่นฐานกระจายกันอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน ในแถบ อ.เมืองนั้น ชุมชนมอญตั้งรกรากอาศัยอยู่แถว ต.บ้านเกาะ ต.ท่าทราย ต.ท่าจีน ต.บางกระเจ้า ต.บ้านบ่อ ต.บางโทรัด และ ต.กาหลง ส่วนที่ อ.บ้านแพ้ว จะอยู่ที่ ต.เจ็ดริ้ว ต.หลักสอง ต.บ้านแพ้ว และ ต.อำแพง
เฉพาะถิ่นฐานคลองอำแพง เป็นที่ราบลุ่ม คนรามัญตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ตามแนวคลองอำแพง และคลองตาขำ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง
10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในท้องที่ ต.อำแพง มากมาย และที่เด่นชัดคือ การฟื้นวัฒนธรรมท้องถิ่น ดั่งคำเชิญชวนให้คนต่างถิ่นมาเที่ยวชมคลองอำแพง
"หลากของกิน ถิ่นต้นจาก แกงกะต๊าด ตาลมะพร้าว ล่องเรือยาว แหล่งปลาสลิด ชมชีวิตชาวอำแพง การแสดงเริ่มตอนแสงไม่แยงตา ร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม..ที่ลานวัฒนธรรมริมคลองอำแพง"
"ลานวัฒนธรรมริมคลองอำแพง" ริเริ่มโดยองค์การส่วนบริหารตำบลอำแพง และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจัดให้มีกิจกรรมการแสดงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เพื่อการสืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น
อบต.กำหนดให้มีขึ้นควบคู่กับการจัดกิจกรรมตลาดนัดริมน้ำ ประกอบด้วยการแสดง การสาธิต การละเล่น การบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เช่น การแสดงละครชาตรี โขนเด็ก การตีระนาดด้วยกระเบื้องคัมพานา การแสดงพิณแก้ว ฯลฯ
ที่สำคัญ มีการแสดงละครเวที บอกเล่าความเป็นมาของชุมชนอำแพง วิถีชีวิตของชาวอำแพง ประวัติวัดสุนทรสถิต
พร้อมกันนี้ยังจัดให้มีบริการล่องเรือแจวชมธรรมชาติริมคลองอำแพง และชมวิถีชีวิตชาวรามัญ
เมื่อสองสามปีที่แล้ว กรมทางหลวงชนบทได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน เชื่อมระหว่าง ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว และ ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เพื่อให้ประชาชนบริเวณดังกล่าว รวมถึงประชาชนบริเวณใกล้เคียง สามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็ว ร่นระยะทางได้ 15 กิโลเมตร
กรมทางหลวงชนบทได้ใช้ชื่อสะพานว่า "สะพานพุทธมณฑลสาคร" โดยฝั่งตะวันออกจะอยู่ทางตอนเหนือของวัดพันธุวงษ์ แยกจากถนนสายวัดพันธุวงษ์-ท่าเสา บริเวณบ้านศาลเจ้า หมู่ 8 ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน
ส่วนฝั่งตะวันตกได้ก่อสร้างถนนขึ้นมาใหม่ โดยเชื่อมต่อกับด้านข้างของ "อนุพุทธมณฑลจังหวัดสมุทรสาคร" และ "ศูนย์สามวัยสานใยรักแห่งครอบครัว" ก่อนจะเข้าสู่ถนนในหมู่บ้านไปถึงวัดสุนทรสถิต ศูนย์กลางของชาวรามัญแห่งคลองอำแพง
สำหรับอนุพุทธมณฑลจังหวัดสมุทรสาคร มีเนื้อที่ 143 ไร่ 83 ตารางวา เป็นสวนป่าที่มีน้ำล้อมรอบ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เดิมใช้ชื่อว่า สวนกาญจนาภิเษก 50 ปี แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และได้มีการจัดสร้างพระเกตุ "พระศรีสาครภูมิบาลประทานธรรมสุทัศน์" ซึ่งเป็นพระประธานประจำพุทธมณฑลจังหวัดสมุทรสาคร
วันเวลาผันเปลี่ยน วิถีผู้คนรามัญก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และต้องบันทึกไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษในชุมชนคนคลองอำแพง ที่ผู้คนจะจดจำไปนานเท่านาน