
พัทยาเร่งจดทะเบียนคนต่างด้าวแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน
'พัทยาเร่งจดทะเบียนคนต่างด้าว แก้ปัญหาแรงงานเถื่อน' : สายตรวจระวังภัย โดยศุภกร อรรคนันท์
พัทยาเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย การคมนาคมสะดวก มีสถานบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบ จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเลือกที่จะเดินทางมาพักผ่อน ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองพัทยา ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจภาคการท่องเที่ยว สถานบันเทิง หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว พัทยาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของคนต่างด้าวที่เข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว ประกอบธุรกิจ และเพื่อใช้แรงงาน ทั้งอย่างถูกกฎหมายและลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย
พ.ต.ท.รัชทพงศ์ เตี้ยสุด รอง ผกก.ตม.จว.ชลบุรี เปิดเผยว่า คนต่างด้าว คือบุคคลที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย ซึ่งรวมไปถึงบุคคลที่เดินทางเข้ามาเพื่อใช้แรงงาน และเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว โดยบุคคลที่เข้ามาเพื่อใช้แรงงาน ประกอบด้วยคนต่างด้าวจาก 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และพม่า บุคคลเข้าเหล่านี้ ถ้าเป็นแรงงานจากประเทศกัมพูชา มักจะใช้แรงงานประเภทก่อสร้าง ถ้าเป็นลาว ก็จะทำงานกับสถานประกอบการร้านอาหาร ส่วนแรงงานจากพม่าก็มักจะทำงานที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในโซนของจ.ชลบุรี
หลังจากมีการออกประกาศกำหนดมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ขึ้น เพื่อนำไปสู่การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวรวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง สถานประกอบการที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงานต่างด้าว กำหนดให้จัดตั้งศูนย์บริการจัดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วันสต็อปเซอร์วิส) ในทุกจังหวัด เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ รวมทั้งออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานทั้ง 3 สัญชาติ คือพม่า ลาว และกัมพูชา ในส่วนของจ.ชลบุรี ที่ผ่านมามีการขึ้นทะเบียนไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2557 รวมทั้งหมด เป็นนายจ้างจำนวน 18,499 ราย ส่วนแรงงานซึ่งเป็นลูกจ้างทั้ง 3 สัญชาติ มีจำนวน 162,800 คน
พ.ต.ท.รัชทพงศ์ กล่าวอีกว่า เมื่อแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือปัญหาทางสังคมไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านอาชญากรรมและยาเสพติด หรือแม้แต่ปัญหาความขัดแย้งคู่กรณีเป็นแรงงานต่างด้าวด้วยกันหรือไม่คู่กรณีก็เป็นนายจ้างกับแรงงาน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนับว่าสร้างผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างมาก ดังนั้นมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในกรอบกติกาไม่ให้ไปก่อเหตุอาชญากรรมใดๆ ขึ้น หน่ายภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงมีส่วนบูรณาการร่วมกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
“ที่ผ่านมาปัญหาการก่อเหตุอาชญากรรมของกลุ่มคนต่างด้าวของ 3 สัญชาติ มีอยู่บ้าง เช่น การทะเลาะวิวาทกันเอง ข้อมูลการก่อเหตุอาชญากรรมก็จะเกี่ยวข้องกับตำรวจพื้นที่ไป ส่วนปัญหาการก่อเหตุอาชญากรรม และกระทำอันเป็นความผิดต่างๆ ซึ่งคดีสิ้นสุดจากศาลตัดสิน และส่งตัวผู้ต้องหาให้ตำรวจคนเข้าเมืองผักดัน ในปี 2557 จากเดือนตุลาคม 2556 ถึงกันยายน 2557 พบว่า แรงงานพม่า ผลักดันออกนอกประเทศไปจำนวน 246 คน ลดลงจากปีที่แล้ว จำนวน 122 คน แรงงานลาว ผลักดัน 198 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 109 คน ส่วนแรงงานกัมพูชา ผลักดัน 2,162 คน ลดลงจากปีที่แล้ว จำนวน 1,183 คน ซึ่งสาเหตุที่จำนวนผลักดันลดลงอาจเป็นเพราะได้มีการขึ้นทะเบียนของแรงงานต่างด้าวนั่นเอง
พ.ต.ท.รัชทพงศ์ กล่าวอีกว่า ตำรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรี ได้มีมาตรการควบคุมและป้องกันปัญหาเหล่านี้ โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการแจ้งที่พักของบุคคลต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาพักที่ห้องพักในที่พักของตนให้ตรวจคนเข้าเมืองทราบภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการป้องกันและเมื่อเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลดังกล่าวพักอยู่ที่ไหน