คอลัมนิสต์

ใบเหลือง-ใบแดงกับอำนาจของกกต.

ใบเหลือง-ใบแดงกับอำนาจของกกต.

21 ต.ค. 2558

ใบเหลือง-ใบแดงกับอำนาจของกกต. : ขยายปมร้อน สำนักข่าวเนชั่น โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

              การที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบที่จะให้ กกต.มีอำนาจในการแจกใบเหลืองใบแดง โดยที่ไม่ต้องส่งเรื่องไปยังศาลให้พิจารณาอีกครั้งทั้งก่อนและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง คล้ายกับยุคก่อตั้ง กกต.ใหม่ๆ น่าสนใจว่าจะเป็นอย่างไร หากแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้จริงๆ

              เรื่องใบเหลืองใบแดง หากจะเข้าใจให้ชัดเจนต้องย้อนกลับไปเมื่อครั้งใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการตั้งองค์กรอิสระอย่าง กกต. ขึ้นมาใหม่ๆ และเริ่มทำงานในการเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2543 และเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2544

              ครั้งนั้นยังไม่มีคำว่า “ใบเหลือง” หรือ “ใบแดง” กกต.มีเพียงอำนาจและคำว่า “สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่” เท่านั้น ครั้งนั้นนักการเมืองยังไม่รู้จักอิทธิฤทธิ์ของ กกต. ยังคงทำแบบเดิมแจกของ ซื้อเสียง แต่กกต. ก็ทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่เหมือนที่ผ่านมา

              โดยในครั้งแรกเลือกตั้ง ส.ว. กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ถึง 78 คน ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกก็มีการสั่งเลือกตั้งใหม่ถึง 62 คน แต่ที่น่าสนใจคือ โดยมากของการเลือกตั้งใหม่ จะได้คนเดิมกลับเข้ามา ทำให้ครั้งนั้นเกิดแนวคิดขึ้นจาก กกต. เรียกการสั่งเลือกตั้งใหม่ว่า ใบเหลือง

              พร้อมทั้งมีแนวคิดคล้ายกับการแข่งฟุตบอลว่า หากคนเดิมต้องสั่งเลือกตั้งใหม่สองครั้ง ก็ให้ไม่มีสิทธิลงรับสมัครในครั้งต่อไป หรือที่เรียกว่า “ใบแดง”

              และต่อมาก็นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง โดยให้ กกต.สามารถเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือที่เราเรียกกันติดปากต่อมาว่า “ใบแดง”

              โดยนัยของ “ใบแดง” ที่เรารู้จักกันต่อมาคือ เป็นการกระทำความผิดที่เด่นชัดมากขึ้น จนถึงขั้นต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามการแจกใบแดงของ กกต.นั้นมีกำหนดเวลาเพียง 1 ปี

              ที่สามารถทำได้สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ กกต.ชุดนั้นมีต้นทุนที่สูงมาก ดังนั้นการตัดสินวินิจฉัยจึงถูกยอมรับ แม้จะมีเสียงค้าน แต่ก็น้อยกว่าเสียงตอบรับ

              กระนั้นก็ดี ก็เริ่มมีการตั้งคำถามว่าการให้ กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งใครบางคนที่คล้ายกับเป็นการประหารชีวิตทางการเมืองนั้นรอบคอบเพียงพอหรือไม่ จึงต้องการให้มีผู้ที่กลั่นกรอง ซึ่งในขณะนั้นศาลก็ไม่ต้องการที่จะเข้ามา เพราะจะคล้ายกับเป็นการใช้อำนาจตุลาการมารองรับอำนาจขององค์กรอิสระ หวยจึงไปออกที่ คณะกรรมการพิเศษคณะหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากหัวหน้าคณะในคณะกรรมการกฤษฎีกา มาเป็นผู้กลั่นกรอง

              คล้ายเป็นการลดแรงเสียดทานของ กกต. แต่กระนั้นก็ยังถูกโจมตีมาโดยตลอด และเมื่อเปลี่ยน กกต.ชุดใหม่ซึ่งต้นทุนที่มีอยู่ไม่สูงเท่า กกต.ชุดแรก ยิ่งทำให้ถูกโจมตีหนักมากขึ้นไปอีก และเริ่มมีแนวคิดเสนอให้ศาลมาเป็นผู้ตัดสินการสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

              จนเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ก็ได้ให้ กกต. มีอำนาจแจกใบเหลือง ใบแดง แค่ช่วงก่อนที่พวกเขาจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หากประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว กกต.ก็ทำหน้าที่คล้ายพนักงานสอบสวนและอัยการ ส่งสำนวนให้ศาลเป็นผู้พิจารณา

              อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้นคนใน กกต.เอง หรืออดีต กกต.หลายคนก็ยอมรับว่า การจัดให้มีศาลเลือกตั้งเป็นทางเลือกที่ดี เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความยอมรับถึงกระบวนการยุติธรรมแล้ว แรงกดดันที่มาถึงกกต.จะมีไม่มากเกินไป เพราะจะหมายถึงอำนาจที่มี จะถูกดุลและคาน

              หากกลับไปใช้ระบบการให้ใบเหลืองใบแดงอยู่ที่ กกต.แต่เพียงผู้เดียว ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อดี เพราะการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จย่อมหมายถึงทำให้ผู้ที่จะทุจริตเลือกตั้งเกรงกลัวได้ เช่นเดียวกับที่ กกต.ชุดแรกเคยทำมาแล้ว

              ทั้งนี้ ต้องอยู่บนฐานที่ว่าผู้ที่จะทำหน้าที่ต้องมีต้นทุนสูง เป็นที่ยอมรับ และมีความเป็นกลางจริง คำถามคือ ณ นาทีนี้หาคนอย่างนั้นได้หรือไม่ จะมีกี่คนที่เป็นคนกลางที่สังคมยอมรับ ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่บุคคลอาจจะไม่ใช่คำตอบ

              หากแต่การวางระบบให้เป็นที่ยอมรับต่างหากถึงจะทำให้เกิดการยอมรับที่แท้จริง