คอลัมนิสต์

ทำไมต้องโค้งร้อยศพ

ทำไมต้องโค้งร้อยศพ

27 ต.ค. 2558

ทำไมต้องโค้งร้อยศพ : บทบรรณาธิการประจำวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2558

              อุบัติเหตุรุนแรงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา เกิดขึ้นบนท้องถนนจุดอันตรายที่ถูกเรียกขานกันว่า โค้งร้อยศพถึง 2 แห่งด้วยกัน แห่งแรกคือโค้งร้อยศพที่เขาตับเต่า ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี รถโดยสารนำเที่ยวจาก จ.สมุทรสาคร หลุดจากโค้งชนเข้ากับเชิงเขา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 คน บาดเจ็บอีก 20 กว่าคน ทั้งหมดเป็นคนงานที่เดินทางมาร่วมประชุมสัมมนาหรือพักผ่อนในช่วงวันหยุดที่กาญจนบุรี  และอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ต่อมาในเย็นวันเดียวกัน เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่โค้งร้อยศพอีกแห่งหนึ่ง คือบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 70-71 ดอยรวก ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก โดยรถเทรลเลอร์ 18 ล้อ เฉี่ยวชนกับรถกระบะ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 5 คน บาดเจ็บอีก 2 คน เท่ากับว่า ในช่วงเวลาจากตอนสายถึงเย็น มีอุบัติเหตุร้ายแรงในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นถึงสองครั้งซ้อนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 13 ศพ

              สำหรับอุบัติเหตุรายแรกนั้น เจ้าหน้าที่สอบสวนทราบว่า ช่วงเขาตับเต่า เป็นทางลงลาดชันและโค้งหักศอก มักเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ รถบรรทุกพืชผลเกษตรก็ประสบอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือ นายเสรี คงอยู่ นายอำเภอศรีสวัสดิ์ บอกว่า เคยแจ้งให้ปรับปรุงถนนแล้วแต่ยังไม่เป็นผล ดังนั้น จึงได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางป้องกันต่อไป โดยเฉพาะจะต้องขยายไหล่ทางให้กว้างขึ้น ขณะที่อุบัติเหตุที่ดอยรวก จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ก็พบว่า เส้นทางลงเขาลาดชัน แทบไม่ต่างไปจากโค้งร้อยศพที่เขาตับเต่า เมื่อคนขับใช้ความเร็วขณะลงเขาจึงหลุดโค้งไปเฉี่ยวชนกับรถ บริเวณดังกล่าวนี้ เป็นจุดที่แขวงการทางจังหวัดตาก กำลังขยายผิวจราจร เพราะเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด

              คำว่า “โค้งร้อยศพ” คล้ายกับจะเข้ามาแทนที่คำว่า ”โค้งอันตราย” ในหลายถนนในประเทศไทยไปโดยปริยาย เพราะสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำซาก มีผู้บาดเจ็บล้มตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า อันเป็นผลมาจากโครงสร้างทางวิศวกรรมการจราจรไม่ปลอดภัยเพียงพอ อย่างเช่น โค้งร้อยศพที่ถนนรัชดาภิเษก ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขด้านกายภาพกันหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ถนนลาดชันลงเขา อย่างโค้งร้อยศพดังเช่นที่กล่าวมาทั้งสองแห่ง แต่เป็นเพราะการออกแบบที่ไม่รองรับกับความเร็วของยวดยาน เช่นเดียวกับถนนหรือสะพานต่างระดับของกรมทางหลวงชนบทหลายแห่งทั่วประเทศ ต้องมาเสียงบประมาณในการปรับปรุงภายหลัง เพราะเมื่อเปิดใช้งานแล้วปรากฏว่า ทางโค้งลงสะพานไม่สามารถรองรับความเร็วรถได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากลักษณะของโค้งที่คับแคบ เครื่องหมายและสัญญาณจราจรมีไม่เพียงพอ

              ที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากปัจจัยด้านกายภาพ ที่หน่วยงานภาครัฐน่าจะเร่งลงมือแก้ไขเป็นการด่วน เพื่อลดการสูญเสียให้สำเร็จเสร็จสิ้น เพราะจริงๆ แล้ว คำว่า "โค้งร้อยศพ” ถึงแม้จะเป็นคำเตือน มากกว่าจะสร้างความหวาดกลัวจนเกินเหตุก็ตาม แต่ก็ไม่ควรจะมีช่วงใดของทุกถนนในประเทศไทยถูกกล่าวขานกันเช่นนี้อีกต่อไป นั่นคือแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุด้วยงานโยธาซึ่งไม่น่าจะยากลำบากมากนัก ต่างจากเหตุปัจจัยด้านอื่นที่ยากต่อการควบคุม เช่น สภาพของยวดยานพาหนะ พฤติกรรมและความพร้อมของผู้ขับขี่ ซึ่งจะต้องอาศัยการบูรณาการ ทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบสภาพรถยนต์ และควบคุมการขับรถยนต์ของผู้ขับขี่ให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เหล่านี้เชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ แม้แต่ในช่วงเทศกาลที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมากก็ตาม