คอลัมนิสต์

2559การเมืองเริ่มขยับ

2559การเมืองเริ่มขยับ

23 ธ.ค. 2558

2559การเมืองเริ่มขยับ : ขยายปมร้อนโดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

           เหลืออีกไม่ถึง 10 วัน   ปี 2558  ก็จะผ่านพ้นไป  ปีที่ผ่านมานั้นทางการเมืองถือว่าค่อนข้างหยุดนิ่ง ไม่มีอะไรหวือหวา  ซึ่งต้องบอกว่า สืบเนื่องจากการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557   ทำให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกแช่งแข็งเอาไว้  และเมื่อ คสช.ยังคงอยู่ในอำนาจ ทำให้ตลอดปีที่ผ่านมายังคงไม่เปลี่ยนแปลง ภายใต้คำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

           แม้ว่าช่วงกลางปีจะมีเรื่องที่สภาปฏิรูปฯ ตัดสินใจคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน อาจจะทำให้ดูมีความเคลื่อนไหวขึ้นมาบ้าง แต่ที่สุดแล้วทุกอย่างก็ไม่เปลี่ยนแปลง ซ้ำ คสช.ก็ยังอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะโรดแม็พการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป  พร้อมกันนั้นยังได้ถือโอกาสจัดการล้างไพ่ สปช. ที่แตกแถวเสียใหม่ และให้กลับมาอีกครั้งในชื่อ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
 
           อย่างไรก็ตามความสงบที่เกิดขึ้น จะเรียกว่าความสงบที่แท้จริงได้หรือไม่ เพราะภายใต้ท้องน้ำที่ดูราบเรียบตลอดปี 2558 นั่นเป็นเพราะถูกกดไว้โดยอำนาจของ คสช.   แต่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวต่อต้านยังมีอยู่แทบตลอดเวลา  และพวกเขาก็ใช้การกระชับอำนาจโดยการเรียกคนที่มีความเห็นต่างเข้าปรับทัศนคติอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับนักการเมือง แกนนำมวลชน หรือนักเคลื่อนไหวคนธรรมดา ต่างก็โดนกันไปถ้วนหน้า
 
           และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณี “อุทยานราชภักดิ์” ที่มีการไล่กวาดล้างจับกุมผู้เผยแพร่ผังการทุจริตโครงการนี้ รวมทั้งจับกุมขัดขวางนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบโครงการ สร้างแรงกระเพื่อมให้ไม่น้อย นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังเริ่มสร้างปัญหาให้รัฐบาล และใน คสช.ด้วยกันเอง

           และสืบเนื่องจากกรณีนี้ น่าจะทำให้การเมืองในปีหน้าจะทวีความร้อนแรงมากขึ้น   เพราะจนถึงวันนี้ คสช.ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจัดการเรื่องนี้ได้ นอกจากการจัดการคนที่ตั้งข้อสงสัย  และหากปล่อยต่อไปจนไม่สามารถเคลียร์ได้ก็จะเกิดความไม่พอใจ และเกิดกระแสเรียกร้องมากขึ้น  เพราะต้องไม่ลืมว่า การปราบคอร์รัปชั่นนั้นเป็นสิ่งที่ คสช.พยายามใช้เป็นจุดขายและสร้างความชอบธรรมในการอยู่กับอำนาจ

           ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว แม้ว่ารัฐบาลพยายามจะอัดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่ก็ไม่ทำให้ภาพรวมดูดีขึ้นเท่าไหร่  ปัญหาเรื่องปากท้องนี้จะยิ่งเป็นแรงบีบให้คนเกิดความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

           และหากเกิดปัจจัยแทรกซ้อนที่ไม่คาดคิดขึ้นมาอีกก็จะยิ่งจะทำให้พวกเขาตกที่นั่งลำบากมากขึ้น และแรงเคลื่อนไหวใต้น้ำอาจจะโผล่ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะปัจจัยเรื่องความไม่พอใจของคนแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในทางการเมืองแล้วพร้อมที่จะบานปลายได้ทุกเมื่อ รัฐบาลหลายๆ ชุดที่ผ่านมาได้พิสูจน์ทราบด้วยตัวเองแล้ว

           นอกจากนี้ยังมีอีกสองเรื่องในปีหน้าที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมือง เรื่องแรกคือ การประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ “มีชัย ฤชุพันธ์ุ” และคณะ ร่วมกันเขียนขึ้นมา ซึ่งครั้งนี้จะต่างจากที่ผ่านมา กล่าวคือ จะยิงตรงไปที่ประชาชนเพื่อทำประชามติในทันที โดยไม่มีองค์กรใดมาทำหน้าที่ด่านหน้าสกัดกั้นเหมือนที่ สปช.เคยทำมา

           หมายความว่า ไม่ว่าอย่างไรก็จะเกิดการทำประชามติในปีหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงต้องมีกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อรณรงค์รับหรือไม่รับร่างฯ และจะมีวาระแฝงคือการยอมรับหรือปฏิเสธอำนาจของ คสช.พ่วงมาด้วยและจนถึงวันนี้ก็ชัดเจนว่า พรรคการเมืองบางพรรคจะรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
  
           อย่างไรก็ตาม หากประชามติไม่ผ่านก็แปลว่า คสช.จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป และย่อมมีเสียงครหาตามมาว่า “จงใจร่างให้ไม่ผ่านเพื่อสืบทอดอำนาจ” แต่หากผ่านก็เชื่อได้ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะมีหลายเรื่องที่มุ่งสืบทอดเจตนารมณ์ หรืออำนาจของ คสช. ให้คงอยู่ต่อไปแม้วันที่ลงจากหลังเสือ

           อีกจุดเปลี่ยนที่ต้องจับตาคือ การตัดสินคดี “จำนำข้าว” ของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะสืบพยานนัดสุดท้ายเสร็จในราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งคาดการณ์ว่า คำตัดสินจะมีออกมาในปลายปี 2559 หรือต้นปี 2560 ซึ่งจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางการเมือง ได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่ากลุ่มผู้สนับสนุนของเธอคงไม่อยู่นิ่ง หากผลตัดสินออกมาไม่เป็นผลบวก
 
           ปี 2559 จึงไม่ใช่งานง่ายของ คสช.อีกต่อไป