คอลัมนิสต์

เตือนนักค้าออนไลน์ระวังมิจฉาชีพส่งสลิปโอนเงินปลอมลวง

เตือนนักค้าออนไลน์ระวังมิจฉาชีพส่งสลิปโอนเงินปลอมลวง

10 มี.ค. 2559

เตือนนักค้าออนไลน์ ระวังมิจฉาชีพส่งสลิปโอนเงินปลอมลวงซื้อสินค้า : สายตรวจระวังภัย ศุภชัย เพชรเทวี / พรรณทิภา จิตราวุฒิพร

           โซเชียลมีเดียกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของสังคมในทุกวันนี้ โดยเฉพาะ “อินสตาแกรม ไลน์ เฟซบุ๊ก” จึงทำให้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางทำมาหากินของพ่อค้าแม่ขาย แต่เหล่ามิจฉาชีพก็มีวิวัฒนาการตามยุคดิจิทัล มีวิธีการแอบอ้าง ปลอมโปรไฟล์คนดัง หรือแม้แต่การปลอมหลักฐานการโอนเงิน เพื่อหลอกซื้อขายสินค้าแบรนด์ดัง สร้างความเจ็บปวดให้ “นักค้า-นักช็อปไซเบอร์”

           ล่าสุดคนโกงไม่ได้ขายสินค้าแต่เป็นผู้ซื้อ เพราะมี “โจรดิจิทัล” สร้างหลักฐานการโอนเงินปลอมลวงซื้อสินค้ายี่ห้อดัง โชคดีที่ตำรวจ 191 จับมิจฉาชีพรายนี้ได้ จึงต้องเอามาเตือนให้นักค้านักขายบนโลกออนไลน์ได้ระวังกัน โดยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาตำรวจ 191 สมมารถจับกุม นายพงศกร หรือเหน่ง เครือพิมาย อายุ 19 ปี สาวประเภทสองสุดแสบ ที่มีพฤติการณ์สั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนมทางออนไลน์ จากนั้นจะทำการส่งสลิปการโอนเงินปลอมให้ผู้เสียหาย หากผู้เสียหายไม่ได้ตรวจสอบยอดเงินเข้าบัญชี ก็จะหลงเชื่อแล้วส่งสินค้าให้

           พฤติกรรมมิจฉาชีพรายนี้ยังนำรูปสินค้าจากร้านค้าอื่นไปหลอกขายต่อ โดยแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของร้านค้า เข้าไปคุยกับลูกค้าทางออนไลน์ จากนั้นจะให้ลูกค้าโอนเงินค่าสินค้าให้บัญชีธนาคารของทางร้านค้าจริง ซึ่งจะติดต่อไปหาเจ้าของร้านว่าโอนเงินผิด หรือสั่งสินค้าจากร้านค้าดังกล่าวจริงแต่สั่งสินค้าในราคาถูกกว่า แล้วอ้างว่าโอนเงินเกินจำนวนไป ให้โอนเงินกลับมาคืนด้วย ขณะเดียวกันยังมีเหล่าดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมก็โดนแอบอ้างในโปรไฟล์ส่วนตัวของคนร้าย จนมีเหยื่อถูกหลอกเป็นจำนวนมาก

           น.ส.ดริณทร์รัฎ มีนะวาณิชย์ หรือ เบนซ์ นักร้องนำวงพริกไทย ที่ตกเป็นผู้เสียหายครั้งนี้ อธิบายว่า ขายกระเป๋าแบรนด์เนมในอินสตาแกรมชื่อ BENZE.HERMES_ โดยขายกระเป๋ายี่ห้อแอร์เมส ซึ่งการซื้อขายกับลูกค้าส่วนใหญ่จะติดต่อขอดูสินค้า จากนั้นนัดเจอกันตามร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ลูกค้าสะดวก กระทั่งมีไอดีไลน์ชื่อ N.QUEEN โดยอ้างว่าชื่อวิว ติดต่อมาและส่งรูปกระเป๋าที่ต้องการซื้อ เป็นยี่ห้อแอร์เมส รุ่นเบอร์กิ้น ราคา 530,000 บาท ก่อนตกลงซื้อโดยที่ไม่มีการต่อรองใดๆ เมื่อถามว่าจะนัดเจอเพื่อส่งของกันที่ไหน กลับได้รับคำตอบว่าให้ส่งทางไปรษณีย์ ทำให้เอะใจ เพราะกระเป๋าราคาสูง ทำไมถึงให้ส่งทางไปรษณีย์ จากนั้นมีการส่งเลขที่บัญชีเพื่อให้ทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่นานคนร้ายได้ส่งรูปสลิปโอนเงินมาให้ โดยมีการปิดบังชื่อและเลขบัญชี

           "หากมีการเงินโอนเงิน ทางธนาคารเจ้าของบัญชีจะส่งข้อความเข้ามาที่เบอร์โทรศัพท์ทันที แต่ที่เขาส่งสลิปการโอนเงินให้ดูกลับไม่มีข้อความเข้ามาแจ้งเหมือนทุกครั้ง จึงไปตรวจสอบที่ตู้เอทีเอ็มให้แน่ชัด ก็ยังไม่มีเงินเข้าบัญชี เลยมั่นใจว่าถูกหลอกแน่นอน แต่ถือว่าโชคดีที่ไม่ได้ของไปให้เขา พอมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก็อยากฝากสำหรับคนที่อยากซื้อของออนไลน์ อย่าโอนเงินไปก่อน ให้นัดเจอดูของกันดีกว่า ส่วนคนขายถ้าลูกค้าโอนเงินมาก็ควรเช็กบัญชีให้ชัวร์ อย่าเชื่อเพียงแค่ภาพสลิปการโอนเงิน เพราะอาจเป็นของปลอมก็ได้” น.ส.ดริณทร์รัฎ กล่าว

           ขณะที่ น.ส.พัชรากร สารวันจันทร์ เจ้าของร้านสินค้าออนไลน์ เล่าว่า ขายสินค้าทางออนไลน์มานานกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่จะขายเสื้อผ้าแฟชั่น และชุดชั้นในนำเข้าจากต่างประเทศ โดยขายทางเฟซบุ๊ก ใช้ชื่อว่า “ไฮโซซีเคล็ด บาร์” ส่งสินค้าทางไปรษณีย์ไทยแบบมีมาตรฐาน แต่ในช่วงเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา มีลูกค้าอยู่รายหนึ่งติดต่อขอซื้อชุดชั้นในราคาส่งจำนวนหลายตัว ราคา 3,450 บาท พอตกลงซื้อขายเรียบร้อย ลูกค้าคนนี้ได้แจ้งการโอนเงินเป็นสลิปออนไลน์ พอตรวจสอบกลับพบว่าหลักฐานนั้นเป็นการทำปลอมขึ้นมา เพื่อตบตาให้หลงเชื่อ ซึ่งในแวดวงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ มีกลุ่มผู้ค้าจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาหลอกลวง โดยทำทีเป็นลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้า และมีการทำสลิปการโอนเงินปลอม

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.สมพร แดงดี รองผบก.ปอท. ระบุว่า การทำสลิปการโอนเงินปลอมขึ้นมา แสดงให้เห็นว่าการซื้อขายของออนไลน์เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดีเกิดขึ้น ตำรวจได้เข้มงวดตรวจสอบการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอ เพราะการหลอกลวงในลักษณะนี้แกะรอยคนร้ายไม่ยาก เนื่องจากมีหลักฐานการส่งของไปยังที่อยู่อาศัยของคนร้าย ตำรวจก็สามารถตามไปจับกุมได้ สำหรับวิธีการปลอมสลิปโอนเงิน จะใช้รูปแบบจริงของสลิปโอนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินทางออนไลน์ หรือโอนทางตู้เอทีเอ็ม คนร้ายจะใช้วิธีการตัดแปะตัวเลขตกแต่ง ส่วนใหญ่ใช้วิธีแต่งภาพโดยโปรแกรมโฟโต้ช็อป ตัดแปะตัวเลขของตัวเงินหรือเลขบัญชี ให้ตรงกับข้อมูลที่จะหลอกผู้ขาย

           “อยากเตือนให้ตรวจสอบการโอนเงินก่อนที่จะส่งของ เช็กให้ชัดว่ามีเงินเข้าบัญชีตัวเอง ส่วนมาตรการแก้ปัญหามี 2 ส่วน คือ ตำรวจต้องประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของร้านตรวจสอบสลิปการโอนเงิน ก่อนตัดสินใจการซื้อขายสินค้าและส่งของไปให้ ยิ่งปัจจุบันผู้ค้ามีระบบออนไลน์ในการตรวจสอบยอดเงิน สามารถตรวจสอบได้ว่ามาจากบัญชีของบุคคลใด ส่วนที่สองผู้ซื้อถ้าไม่อยากถูกหลอก ควรตรวจสอบสินค้าให้ดี โดยการตรวจสอบทั้งตัวสินค้า ทั้งผู้ขาย และจุดนัดรับสินค้า” รองผบก.ปอท. แจ้งเตือน