
จากแพรวาถึงเจนภพ:คนจนซวยคนรวยรอด?
จากแพรวาถึงเจนภพ:คนจนซวยคนรวยรอด? : โดยวิธีของเราเอง โดยไพฑูรย์ ธัญญา
เมื่อปี พ.ศ.2553 คนไทยต่างพากันเสียความรู้สึกและรับไม่ได้กับคดีที่เด็กสาวอายุ 17 ปี นาม “แพรวา” ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารบนทางด่วนโทลล์เวย์ จนทำให้มีผู้โดยสารรถตู้เสียชีวิต 9 ราย คดีความนี้ได้รับการตัดสินไปแล้ว แต่พฤติกรรมที่ไม่รู้สึกผิดและยี่หระในสิ่งที่ตนเองทำลงไปของเด็กสาวคนนั้น ยังฝังใจของคนในสังคมมาจนถึงทุกวันนี้ กระทั่งหลายคนกำลังจะลืมคดีแพรวา 9 ศพ อยู่ๆ ก็มีอุบัติเหตุรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด จนทำให้มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งต้องจบชีวิตลง ท่ามกลางความกังขาของผู้ที่รับรู้เหตุการณ์ว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นต้น ที่มีต่อผู้ต้องหาขับรถชนคนตายนั้น เหมาะสมแล้วหรือ?
กรณีของน.ส.แพรวา แม้ว่าสื่อจะประโคมข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นคดีสะเทือนความรู้สึก แต่ก็ยังนับว่าโชคดีอยู่บ้างตรงที่ในปี พ.ศ.2535 สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและไลน์ ยังไม่เกิดขึ้น แต่กรณีของเสี่ยเจ้าของรถเบนซ์มรณะ คดีความครั้งนี้กลับอยู่ในการเฝ้ามองของชาวสื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด บรรดาผู้ที่รักความยุติธรรมและอ่อนไหวต่อปัญหาทางจริยธรรมทั้งหลาย พากันลุกขึ้นมาแชร์ความคิดเห็นและความรู้สึกของพวกเขาอย่างฉับพลันทันด่วน เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคสังคมก้มหน้ามีประสิทธิภาพนัก มันส่งผลต่อรูปคดีและการตั้งคำถามของมาตรฐานในการปฏิบัติงานของตำรวจได้ทันทีทันควัน กรณีเรื่องรถเบนซ์ชนรถฟอร์ดนี้ เราอาจพูดได้เลยว่า หากไม่มีชาวสังคมก้มหน้าคอยทำหน้าที่เป็น "ลูกขุนออนไลน์" จับตามองอย่างจดจ่อ รูปคดีจะกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่นานก็หายไปจากความสนใจ เหมือนคดีอุบัติเหตุธรรมดาสามัญอีกนับพันนับหมื่นคดี
อันที่จริงอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเรื่องที่แสนปกติธรรมดาในสังคมทุกวันนี้ แต่ที่คดีนี้กลายเป็นเรื่องซีเรียสขึ้นมา ก็เพราะมันทำให้สังคมรู้สึกว่าคดีนี้กำลังเป็นความขัดแย้งระหว่าง “คนจนกับคนรวย” ที่ตำรวจกำลังเข้าข้างคนรวยอีกครั้งหนึ่ง มันเป็นการ “ผลิตซ้ำ” และ “อุบัติซ้ำ” ครั้งแล้วครั้งเล่า อุบัติเหตุครั้งนี้มันเป็นเรื่องรุนแรง เพราะทำให้คนตายถึงสองคน แต่ที่กระทบความรู้สึกทางจริยธรรมอย่างมากก็คือ พฤติกรรมที่แสดงออกมาว่า ไม่ได้รู้สึกรู้สาว่าตัวเองผิด แถมยังแถไถไม่ยอมรับ ให้การวกวน โยกโย้ หากไม่โดนต้อนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ก็จะไม่มีวันยอมรับอย่างเด็ดขาด พฤติกรรมของเจนภพทำให้คนในสังคมนึกไปถึงคดีของน.ส.แพรวา และมีความรู้สึกว่า คนรวยทำอะไรไม่เคยผิด แถมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในชั้นต้นก็ส่อให้คนเข้าใจว่า ออกจะเข้าข้างและปกป้องคนรวยอีกครั้งหนึ่ง
แต่กรณีของเจนภพมันน่าจะไม่มีวันเป็นแบบนั้นอีก เพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้ หาใช่เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างเจนภพกับญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิตและเจ้าหน้าที่อีกต่อไป หากแต่นี่คือ เรื่องของคนทั้งสังคม เจนภพกำลังมีคดีความกับสังคม ไม่ว่าการสอบสวนหาข้อเท็จจริงจะปรากฏผลออกมาเช่นไร แต่เสี่ยรถเบนซ์คนนี้ก็กลายเป็นจำเลยของสังคมไปเรียบร้อยแล้ว และนี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอานุภาพและประสิทธิภาพของการตรวจสอบทางสื่อสังคมออนไลน์
ก็ดังที่ผมเคยให้ข้อสังเกตในพื้นที่ตรงนี้ไปบ้างแล้วว่า ปฏิกิริยาอย่างกว้างขวางในแวดวงสังคมก้มหน้า ต่อความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม ใช่ว่าจะไม่มีที่มาที่ไป แต่มันเป็นแรงสะสมของความอึดอัดคับข้องใจที่หมักหมมมายาวนาน ทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม สังคมที่ให้อภิสิทธิ์คนรวย และเบียดขับ กดทับคนจนมาซ้ำซากยาวนาน และในแทบทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยที่สังคมในอดีตไม่เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในฐานะที่เป็นเบี้ยล่างได้ต่อรองหรือตอบโต้ กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเขามีช่องทางในการสื่อสารที่ไม่ต้องง้อและพึ่งพาอาศัยมือของคนอื่นอีกต่อไป กระบวนการในการตอบโต้ ประท้วง ต่อรองก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความอยุติธรรม ที่ไม่ว่าจะเป็นในระดับโครงสร้าง หรือแม้แต่กฎหมายก็เอื้ออำนวยให้แก่คนรวยมากกว่าคนจนมาโดยตลอด
สังคมไทยนับจากนี้ไปจะเข้าสู่สังคมของการจัดระเบียบทางจริยธรรม กระบวนการตรวจสอบเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างขั้วฝ่ายที่แตกต่างตรงข้าม จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เราปล่อยให้รถเบนซ์สำแดงเดชแล่นทับหัวชาวบ้านมานานแล้ว วันนี้ขบวนรถบุโรทั่งของชาวบ้านกำลังลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ของพวกเขา มันก็คงจะไม่แปลก หากเราจะได้เห็นรถเบนซ์หรือรถหรูยี่ห้ออื่น ถูกชนพลิกคว่ำไม่เป็นท่าอยู่กลางถนนกับเขาบ้าง