วาทกรรมลวงๆทางการแพทย์และตำรวจ
วาทกรรมลวงๆทางการแพทย์และตำรวจ : โลกตำรวจ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อย่าติดกับดักอยู่ในความคิดว่า “จะมีคนดูแลเรา” ในยุคที่ทุนนิยมเฟื่องฟูจนทุกอย่างถูกตีค่าเป็น “เงิน” แม้กระทั่งชีวิตและความปลอดภัย
หากท่านคิดว่า สามสิบบาทรักษาทุกโรค หมายถึง การรักษาทุกโรคอย่างดีโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หากแต่ยึดมั่นเพียงเป้าหมายที่ว่า เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคที่ทนทุกข์ทรมานอยู่เป็นที่ตั้งนั้น ท่านกำลังคิดผิดและเข้าใจผิดและ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดใหม่
เพราะว่าหมอและบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่นั้นได้ถูกครอบด้วยกระแสแห่งทุนและการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่มิได้กระทำการรักษาเยียวยาผู้ป่วยเพื่อให้พ้นทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บด้วยความเมตตาแต่เพียงเท่านั้น หากแต่หมอได้กลายร่างเป็นกลไกหนึ่งของระบบทุนในการบริหารจัดการเพื่อให้โรงพยาบาลที่ตนรับเงินเดือนอยู่นั้นไม่ขาดทุน หรือควรจะต้องได้กำไร เพื่อให้องค์กรอยู่รอดเลี้ยงตัวเองได้ด้วย
ดังนั้น แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าควรจะต้องรักษาผู้ป่วยคนนี้อย่างไร? หรือควรจะต้องส่งต่อผู้ป่วยคนนี้ไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลไหน? เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีที่สุดในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่พึงได้รับสวัสดิการในการดูแลความมั่นคงปลอดภัยที่ดีในชีวิตอย่างเต็มที่เต็มศักยภาพจากข้าราชการของรัฐ ที่เคยได้รับโอกาสจากรัฐในการให้ทุนส่วนหนึ่ง(อาจส่วนใหญ่)ในการศึกษาเล่าเรียนจากภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศ
กลับกลายเป็นว่า ทุกการรักษาพยาบาล ทุกการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษานั้น ถูกสะกดครอบไว้ด้วยวิธีคิดที่ว่า โรงพยาบาลของตนเอง “จะขาดทุนหรือไม่?” ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถึงแม้โรงพยาบาลบางแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะแบกภาระในการดูแลผู้ป่วยจากการส่งต่อในจำนวนที่เยอะมาก มากเกินกว่าที่โรงพยาบาลปลายทางแห่งนี้จะให้บริการเพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพเต็มความรู้ ความสามารถ เต็มศักยภาพ และเต็มใจได้ นั่นหมายถึง “ทั้งหมอ พยาบาล และบุคลากร รวมถึงผู้เจ็บป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ปลายทางแห่งนั้น ล้วนตกอยู่ภายใต้การดำเนินชีวิตในรูปแบบเป็นไปตามยถากรรม”
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงต้องส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ส่งเองก็รู้ทั้งรู้ว่าโรงพยาบาลปลายทางนั้นหมดแรงที่จะเยียวยารักษา ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลนอกสังกัดที่อยู่ใกล้เคียงที่มีศักยภาพสูงกว่าด้วยก็ยินดีที่จะรับรักษาและมีคนไข้ที่น้อยกว่ามากด้วย แต่กลับไม่ได้รับการติดต่อประสานงานในการส่งต่อผู้ป่วยมารับการรักษา ????
คำตอบก็คือ การรักษาคือต้นทุน การจ่ายค่าใช้จ่ายจะต้องคำนึงถึงว่า เงินที่จ่ายออกไปจะเข้ากระเป๋าใคร สังกัดไหน? กระทรวงอะไร? ถึงแม้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐไทยเช่นเดียวกัน แต่อนิจจาคนละสังกัด คนละกระทรวงก็ถือว่าคนละกระเป๋า ดังนั้นการรักษาเงินในกระเป๋าพวกเดียวกันไว้มี “ความหมายและมีคุณค่ามากยิ่งกว่าการคิดว่าควรจะรักษาชีวิตของผู้ป่วยให้ดีที่สุดและฝ่ายผู้ป่วยพึงพอใจมากที่สุดอย่างไร?"
นี่คือตัวอย่างของวิธีคิดเบื้องหลังการบริหารจัดการเพื่อให้บริการที่อ้างว่า ห่วงใยในชีวิตของประชาชน ในกรณีของการแพทย์ที่ใครๆ ต่างคิดว่า(ควรจะต้อง)มีเมตตา มีจริยธรรมที่สูงส่ง และถูกจับจ้องตรวจสอบต่ำกว่าที่องค์กรอื่นๆ หน่วยงานอื่นๆ ถูกจับจ้องตรวจสอบมากนัก
ดังนั้น เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาวิธีคิดเบื้องหลังของการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามภารกิจของตำรวจอาจจะยิ่งทำให้เราคิดได้เสียทีว่า การดูแลและปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของเราให้ดีที่สุด เต็มศักยภาพของเรามากที่สุดโดยไม่คิดหวังพึ่งการแพทย์ หรือตำรวจนั้น น่าจะเป็นวิธีคิดที่จะทำให้ชีวิตของเรามีคุณภาพและผาสุกได้มากกว่าการหลงเชื่อวาทกรรมลวงๆ อย่างเช่น “บริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว” หรือ “เป็นตำรวจมืออาชีพเพื่อความผาสุกของประชาชน”
เพราะทั้งแพทย์และตำรวจที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามวาทกรรมเช่นที่ยกตัวอย่างมานี้ ล้วนตกอยู่ภายใต้ระบบการบริหารจัดการที่มีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดมากมาย และจำเป็นอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องแสดงพลังอย่างเต็มที่ในการรื้อวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังระบบการบริหารจัดการและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศไทยมีทรัพยากรบุคคลที่เข้มแข็งและมั่นคง มิเช่นนั้นประเทศไทยจะมีแต่คนป่วยเรื้อรัง อาชญากร และผู้คนที่หวั่นไหว หวาดกลัวต่อภัยในชีวิตประจำวันทั้งด้านชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน
คุณภาพของคนในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็ง (stronger) และพัฒนาไปได้อย่างไร ????