
ช่วยกันเลือกเลขาธิการยูเอ็น
ช่วยกันเลือกเลขาธิการยูเอ็น : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร
มามะคนไทยต้องมาช่วยกันเลือกเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนต่อไป แทนนายบัน คีมุน คนปัจจุบัน วาระที่สองของเขาจะหมดสิ้นปีนี้ การเลือกตั้งผู้นำองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในโลก ในช่วง 70 ปี ที่ผ่านมา เคยเต็มไปด้วยความลับปกปิดข้อมูลทุกอย่าง ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า ใครเป็นผู้สมัครเข้าเลือกตั้ง เป็นใครมาจากไหน อยู่ๆ ก็มีการประกาศชื่อของผู้ชนะ เพราะได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกทั้งห้าของคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น
ใครๆ ก็รู้ว่า สหรัฐอเมริกาและรัสเซียจะเป็นสองประเทศที่สามารถชี้ขาดว่าใครจะชนะ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีผู้ท้าชิงที่ประเทศตัวเองสนับสนุน ถ้าทั้งสองประเทศยอมรับในชื่อเดียวกัน ก็จะทำให้กระบวนการเลือกสรรเร็วขึ้นไม่ยุ่งยากแบบในอดีต ถ้าชื่อต่างกัน จะมีการล็อบบี้ของแต่ละฝ่ายทำให้สมาชิกยูเอ็นปั่นป่วนแน่นอน
ในการคัดเลือกเลขาธิการใหม่ครั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่น่าชื่นชมเพราะมีความโปร่งใสและความชัดเจนมากขึ้น คนนอกเข้าถึงข้อมูลผู้สมัครได้ทุกคน ต้องส่งข้อมูลพร้อมกับข้อเขียนวิสัยทัศน์ตัวเองให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณา
คนไทยสามารถเข้าในเว็บของยูเอ็นเปิดดูได้ ตั้งแต่ปลายเดือนนี้จนถึงกันยายน ผู้สมัครทั้งหมดจะต้องถูกสัมภาษณ์เป็นเวลาสองชั่วโมงจากสมาชิกยูเอ็นทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะคณะมนตรีความมั่นคงอย่างเดียวแบบในอดีต ภาคประชาสังคมทั่วโลกสามารถเข้าไปมีส่วนด้วย เนื่องจากจะมีการสตีมออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ตแบบถ่ายทอดสด ฉะนั้นใครก็ตามอยากเป็นเลขาธิการยูเอ็นคนใหม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับทุกหุ้นส่วนสังคมทั่วโลก ประเด็นนี้ทำให้คนสมัครรู้สึกไม่ค่อยดี
ที่น่าสนใจคือคณะมนตรีความมั่นคงถูกแรงกดดันเยอะมากที่ต้องสรรหาเลขาธิการคนใหม่ที่เป็นสตรี ที่ผ่านมา เลขาธิการทั้งหมด 8 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งแรกที่สตรีมาเป็นเลขาธิการ ตอนนี้มีผู้สมัคร 8 คน ที่ได้ประกาศชื่อออกมามีสตรี 2 คน คือ ผู้อำนวยการยูเนสโก นางอิรินา บูโกวา อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ นางเฮเลน คลาร์ก อดีตข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยยูเอ็น นายอันโตนิโอ กูเตียเรส
ความดีทั้งหลายที่เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสต้องยกให้ท่านประธานสมัชชายูเอ็นในปัจจุบัน คือ นายโมเกนส์ ลิคเคทอฟท์ ที่เห็นความจำเป็นที่ประชาคมโลกมีส่วนรับรู้กับผู้ที่เข้ารับตำแหน่งนี้ ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในทุกภาคส่วนของโลก
ในบทความที่เขาเขียนลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วโลก นายโมเกนส์หวังว่ากระบวนการคัดสรรใหม่นี้ จะได้เลขาธิการยูเอ็นที่ดีที่สุดมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด เขายอมรับว่ามันต้องใช้เวลาที่จะเปลี่ยนการทำงาน หรือโครงสร้างที่มีตั้งแต่การจัดตั้งองค์กรเมื่อปี 1946
ยูเอ็นมีสมาชิกทั้งหมด 93 ประเทศ มีงบประมาณประจำปีถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (สามแสนห้าหมื่นล้านบาท) มีลูกจ้างทั่วโลกประมาณ 44,,000 คน ในไทยมีสถานที่ทำงานหน่วยงานหลายสิบแห่งของยูเอ็น ที่ใหญที่สุดและคนไทยรู้จักดีคือ เอสเคป เอฟเอโอ
รายได้ของยูเอ็นทั้งหมดได้มาจากค่าสมาชิกเก็บทุกปี ตามอัตราความเจริญและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจ่ายค่าสมาชิกมากที่สุดเกือบถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของงบประจำปีทั้งหมดถือว่าเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและอันดับสาม ส่วนประเทศไทยเสียเพียงสิบกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในฐานะเป็นประเทศกำลังพัฒนา
รัฐบาลไทยเคยส่ง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เข้าชิงตำแหน่งในปี 2006 แต่พลาด คนไทยหลายคนเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในเวทีระหว่างทั้งที่เป็นยูเอ็นหรือนอกยูเอ็น ในอดีตก็มี นายอานันท์ ปันยารชุน ที่เคยนั่งเป็นประธานร่างรายงานความรับผิดชอบต่อในการให้การป้องกัน นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าโลก เป็นต้น