ยกมาตรฐานวิชาชีพแท็กซี่สนามบินสางปมเอาเปรียบผู้โดยสาร
ยกมาตรฐานวิชาชีพแท็กซี่สนามบิน สางปมร้องเรียน-เอาเปรียบผู้โดยสาร : ธนภัท กิจจาโกศล รายงานพิเศษ
มาตรการที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ต้องการหนุนยกระดับแท็กซี่ที่ให้บริการในสนามบิน มีมาตรฐานและคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างแท็กซี่น้ำดีมีคุณภาพสู่สังคม ลดปัญหาร้องเรียนเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร โดยตั้งเป้าเปิดทดสอบเพิ่มอีก 1,000 คนภายในปีงบประมาณ 2559 และ 3,000 คนในปีต่อไป
ประเด็นปัญหาการให้บริการของแท็กซี่ที่สนามบิน ทั้งในเรื่องการเอาเปรียบชาวต่างชาติ การคิดราคาเกินจริง และการให้บริการคนไทย ด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกัน แม้จะมีระบบการจัดคิวกำหนดให้ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเพื่อเป็นค่าเสียเวลาในการรอเข้าคิวของคนขับแท็กซี่ จำนวน 50 บาทแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีปัญหาการร้องเรียนจากผู้โดยสารคนไทยและต่างชาติ จนหลายกรณีปรากฏเป็นข่าวเรื่อยมา
จุดนี้เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ดูแลท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ พยายามหาทางแก้ไขอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นครั้งใดทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก ตำรวจท่องเที่ยว
บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือบริษัทที่ดูแลแท็กซี่ ก็ต้องเข้าแก้ไขเป็นครั้งคราวไป ไม่ใช่การแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จยั่งยืน
กระทั่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะศูนย์รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ร่วมกันจัดทำ “มาตรฐานวิชาชีพ สาขาวิชาชีพขนส่งชุมชน อาชีพขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ (แท็กซี่)” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ขับรถแท็กซี่ทั่วไป และผู้ประกอบการรถแท็กซี่ภายในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ สหกรณ์แท็กซี่ และแท็กซี่บุคคลทั่วไป สามารถสมัครเข้ารับการทดสอบและประเมินตนเองได้
“ดร.ดรุณี แก้วม่วง” หัวหน้าศูนย์รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพขนส่งชุมชน อาชีพขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า การผลักดันให้ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ หรือคนขับแท็กซี่ เข้าสู่การประเมินและทดสอบสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะถือเป็นการสร้างแท็กซี่น้ำดีมีคุณภาพสู่สังคม ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการทดสอบและได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพแล้วจำนวน 106 คน จากจำนวนผู้สมัครเข้าทดสอบ 122 คน ซึ่งกระจายให้บริการในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
สำหรับขั้นตอนการประเมินและทดสอบผู้ขับรถแท็กซี่ ดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะศูนย์ทดสอบเพียงแห่งเดียวในปัจจุบัน พบว่าปีนี้มีผู้ขับรถแท็กซี่เข้ารับการทดสอบจำนวน 404 คน และผ่านการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานอาชีพ จำนวน 375 คน และคาดการณ์ว่าภายในปีงบประมาณ 2559-2560 จะสามารถดำเนินการทดสอบและประเมินเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 คน และ 3,000 คน ในปีต่อไป โดยในช่วงระยะแรกนี้ ผู้เข้ารับการทดสอบจะไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เนื่องจากได้รับการอุดหนุนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจากรัฐบาล
“คนขับรถแท็กซี่ทุกคน ที่เข้าสู่กระบวนการทดสอบตามมาตรฐานอาชีพ จะต้องผ่านการสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความรู้ด้านภูมิศาสตร์ สถานที่ ถนนสายต่างๆ ความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์และการปฏิบัติงานในการให้บริการผู้โดยสารตั้งแต่ขึ้นรถจนถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งใช้เวลาในการทดสอบจริงบนท้องถนน รายละประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อให้ได้แท็กซี่น้ำดีออกมาให้บริการประชาชน”
ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการทดสอบที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะขับแท็กซี่ให้บริการในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ และมีแท็กซี่ทั่วไปด้วยส่วนหนึ่ง รวมทั้งยังมีบางส่วนได้รับสิทธิ์ต่อยอดในการเข้าร่วมรับการอบรมหลักสูตรพัฒนาภาษาสำหรับรถแท็กซี่ เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารกับผู้โดยสารชาวต่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ดร.ดรุณี ยังให้ข้อมูลด้วยว่า บ้านเรามีจำนวนรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ประมาณ 1 แสนคัน แต่มีรถที่ออกมาขับจริงประมาณ 8 หมื่นคัน โดยวิ่งให้บริการภายในสนามบินดอนเมือง ประมาณ 2,000-3,000 คัน สนามบินสุวรรณภูมิ 7,000 คัน และวิ่งให้บริการทั่วไป อีกประมาณ 5-6 หมื่นคัน
ด้าน “เพชร ชั้นเจริญ” ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง บอกว่า แนวทางการดูแลแท็กซี่ที่ให้บริการภายในสนามบิน หลายหน่วยงานพยายามพัฒนาและอบรมผู้ขับขี่รถแท็กซี่ตลอดมา จนกระทั่งบริษัทที่รับสัมปทานในส่วนของการดูแลแท็กซี่ภายในสนามบินดอนเมือง ได้ส่งคนขับรถแท็กซี่เข้ารับการอบรมและทดสอบจากสถาบันที่จัดทำมาตรฐานวิชาชีพ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นองค์การมหาชนถึง 2 รุ่น รวมแล้วเกือบ 400 คน ออกมาให้บริการผู้โดยสารในสนามบิน และได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ไม่มีปัญหาร้องเรียน เสื่อมเสียเข้ามาเลย
“ผู้ขับรถแท็กซี่ที่ผ่านการทดสอบ ล้วนมีการอบรมและผ่านการประเมินในการขับขี่รถยนต์สาธารณะ มีจิตสำนึกในการให้บริการที่ดี เพราะผู้ที่ทดสอบและไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดก็ไม่สามารถสอบผ่านได้ ดังนั้นถ้าทำได้ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ดี ภาพที่ออกมาจะดูดีขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก หากเราสามารถผลักดันให้รถแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการในสนามบินทั้งที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ต้องผ่านการทดสอบและมีคุณวุฒิ ซึ่งระดับผู้บริหารมีแนวคิดที่จะทำแบบนี้”
ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวด้วยว่า ถ้าเราเห็นผลประโยชน์ และสำนึกในการให้บริการ ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ไม่โกง ช่วยยกของให้ผู้โดยสาร มีกิริยามารยาทดี ช่วยแก้ภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียของแท็กซี่ในอดีตให้กลับมาดีขึ้นได้ ซึ่งมั่นใจว่าที่ท่าอากาศยานดอนเมือง คิดว่าดีขึ้น เพียงแค่บางกรณีที่เกิดปัญหา มีการโกง ส่งไม่ถึงที่ แต่ก็ต้องดูเป็นเคสว่าเป็นแท็กซี่ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสนามบินหรือไม่ หรือเป็นการหิ้วกระเป๋าออกมาเรียกรถข้างนอก ซึ่งกรณีนี้อยู่เหนือการควบคุมของเรา
ขณะที่ “ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ” รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. กล่าวว่า ทางสถาบันจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สำหรับผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ สาขาวิชาชีพขนส่งชุมชน อาชีพขับขี่รถโดยสารสาธารณะไว้ทั้งสิ้น 3 ระดับ ซึ่งหลังจากมีผู้ผ่านการประเมินและทดสอบไปแล้วจำนวนหนึ่ง ก็มีเสียงตอบรับที่ดีมาก จากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ขับรถแท็กซี่ในสนามบิน ซึ่งมองเห็นความจำเป็นในการยกระดับมาตรฐานผู้ขับรถแท็กซี่ของไทย
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน เพื่อผลักดันให้แท็กซี่ที่ให้บริการภายในสนามบิน เข้าสู่กระบวนการทดสอบและมีคุณวุฒิวิชาชีพทั้งหมด รวมทั้งเตรียมพัฒนามาตรฐานอาชีพ ให้ครอบคลุมไปถึงผู้ขับรถขนส่งผู้โดยสารสาธารณะชนิดอื่นด้วยในระยะต่อไป”
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผ่านการทดสอบและประเมินสมรรถนะสำหรับปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึงกว่า 3 เท่า จำนวน 375 คน และเข้ารับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพพร้อมกันที่อาคารหอประชุมกองทัพอากาศ ดอนเมือง ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นประธานและมอบประกาศนียบัตรในครั้งนี้ด้วย
ด้านความคิดเห็นของผู้ขับขี่รถสาธารณะ “สมคิด ณ ลำปาง” คนขับแท็กซี่ในสนามบินดอนเมือง และผ่านการทดสอบประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ กล่าวว่า รู้สึกดีและภาคภูมิใจ ถือเป็นเกียรติสำหรับอาชีพคนขับแท็กซี่ เพราะการรักษาความดีและมาตรฐานตรงนี้ไว้ เป็นประโยชน์ในการให้บริการแท็กซี่สาธารณะ เพื่อผู้โดยสารจะได้มั่นใจในการให้บริการแท็กซี่ของไทยเรา เชื่อว่าหลังรับใบประกาศนี้แล้ว คุณค่าบริการจะเป็นมาตรฐานที่ดีขึ้น
"คนขับแท็กซี่ควรจะมีไว้ ควรที่จะอัพเดทตัวเอง เพื่อนำไปใช้กับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ จะได้ประทับใจ และรู้ว่าบ้านเรามีการพัฒนาศักยภาพของคนขับแท็กซี่แล้ว มาตรฐานในการให้บริการของแท็กซี่ในสนามบินดีขึ้นแล้ว ปัจจุบันมีเคาน์เตอร์ให้บริการ เมื่อผู้โดยสารมาถึงเราก็จะต้องมีการกล่าว “สวัสดี” สื่อสารด้วยการพูดภาษาอังกฤษ สำหรับชาวต่างชาติ ทักทายเป็นภาษาอังกฤษ
ส่วนผู้โดยสารคนไทย ผมก็จะเล่าโครงการตรงนี้ให้ฟัง หลายคนไม่รู้และไม่ทราบ ทุกวันนี้เราต้องมีการพัฒนาแท็กซี่ของเราให้มีคุณภาพ ให้มีมารยาทในการให้บริการ เราถูกมองในทางเสียหายมานาน คงต้องใช้เวลาและหลังจากนี้ก็จะไปเล่าให้เพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้รับการอบรมและทดสอบฟัง เพื่อจะได้เข้ามาร่วมรับการอบรมและทดสอบมากๆ เพื่อปรับมาตรฐานแท็กซี่ไทยให้ดีขึ้น" สมคิด บอกถึงความมุ่งมั่น
ทั้งนี้ ล่าสุด กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศและกฎระเบียบ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ขับรถแท็กซี่ใหม่ โดยผู้ขับรถแท็กซี่ที่จะขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะใหม่ ต้องผ่านการทดสอบขับรถแท็กซี่บนถนนจริง ไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อคัดกรองผู้ขับรถโดยสารสาธารณะที่มีความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้โดยสาร เพื่อวัดทักษะการขับรถ ความชำนาญในเส้นทาง และความปลอดภัยด้วย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป
เชื่อแน่ว่า...เมื่อหลายภาคส่วนช่วยกันพัฒนายกระดับมาตรฐานผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะไปพร้อมๆ กัน จะช่วยลดปัญหาการร้องเรียน เอารัดเอาเปรียบผู้โดยสาร เพิ่มความอุ่นใจและมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ รวมทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่คนขับรถแท็กซี่ที่ดีมีคุณภาพในการรักษาคุณภาพการให้บริการด้วย