
“งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา”
“นิตยสารบางกอก” เจ้าตำนานแห่งนิตยสารนวนิยายไทยที่ตัดสินใจ “หยุดพัก”
“งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา” เป็นถ้อยคำที่คนในวงการธุรกิจสิ่งพิมพ์ไทยพูดกันบ่อยครั้ง ล่าสุดเป็นเสียงจาก “นิตยสารบางกอก” เจ้าตำนานแห่งนิตยสารนวนิยายไทยที่ตัดสินใจ “หยุดพัก” หลังจากผ่านร้อนหนาวมายาวนานถึงปีที่ 58 โดยมีฉบับที่ 3034 เป็นฉบับสุดท้าย
ส่วนจะหยุดพักถาวรหรือชั่วคราวนั้น ทายาทตระกูล “โรจนประภา” น่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด
นิตยสารบางกอกเปิดตำนานของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2501 บุกเบิกโดย “ศรี ชัยพฤกษ์” ร่วมกับ “วิชิต โรจนประภา” นักธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์ วางแผงฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ 20 มิถุนายน 2501 ในราคาเล่มละ 3.50 บาท หลังจากที่ทั้งคู่ได้ทดลองทำมาแล้วทั้งแนวการ์ตูนและแนวหนังไทย กระทั่งลงตัวที่นวนิยายแนวบู๊
แค่เพียงเปิดฉาก นิตยสารบางกอก เข้าตาบรรดาแฟนนักอ่านทันที ด้วยเนื้อหาที่เน้น “นวนิยายบู๊” เป็นหลัก ทำให้นิตยสารบางกอก กลายเป็นศูนย์รวมของนักเขียนเรื่องบู๊แห่งยุค โดยมี “ศรี ชัยพฤกษ์” เป็นกัปตัน ทำหน้าที่ทั้งในฐานะ “บก.” และ “นักเขียน” ซึ่งอีกนามของ “ศรี ชัยพฤกษ์” คือ “อรชร” ผู้ประพันธ์ “ร้อยป่า” นวนิยายอมตะร่วมกับ “พันธ์ บางกอก” นักเขียนข้าราชการป่าไม้ นั่นเอง
นอกจาก “อรชร” เป็นตัวหลัก แล้วยังเสริมทัพนักเขียนอีกมากมาย อาทิเช่น เพชร สถาบัน, ส.เนาวราช, ธัญ ธาตรี, อรวรรณ, ศักดิ์ สุริยา, เสนีย์ บุษปะเกศ, ประทีป โกมลภิส, พันธุ์ บางกอก, ดาเรศร์ ฯลฯ ล้วนแล้วเป็นนักเขียนเรื่องบู๊มือฉมังและป้อนต้นฉบับหลากรสหลายเรื่องราวให้กับนิตยสารบางกอกต่อเนื่อง
นวนิยายเรื่องดังที่ลือลั่นไม่เพียง “ร้อยป่า” เท่านั้น แต่แทบทุกเรื่องที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารบางกอก ล้วนแล้วเป็นที่รู้จักกันดีทั้งสิ้น อาทิเช่น สะเดาเดือด, มหาหิน, ลูกขวาน, ชุมแพ, สมิงเจ้าท่า, ขุนกระทิง, ทุ่งลุยลาย, เสาร์ห้า เป็นต้น
นวนิยายบู๊แต่ละเรื่องส่วนใหญ่จึงถูกใจบรรดาแฟนนักอ่านของนิตยสารบางกอกอย่างยิ่ง เพราะมีชีวิตของ “ลูกผู้ชายตัวจริง” อยู่ในนั้นทั้งสิ้น อย่าง “เสือ กลิ่นศักดิ์” ข้าราชการหนุ่มนักต่อสู้ผู้มีอุดมการณ์ใน “ร้อยป่า” นักอ่านหนุ่มๆ จึงติดกันงอมแงม
จากนวนิยายเรื่องบู๊เป็นเนื้อหาหรือคอนเทนท์หลัก ทำให้มีกลุ่มผู้อ่านเฉพาะกลุ่มไปด้วย หลักๆ คือบรรดาข้าราชการต่างจังหวัด ทาง วิชิต โรจนประภา ไม่รอช้าเร่งเดินหน้าการตลาดทันที ด้วยกลยุทธ์ “ขายตรง” กับ “เอเย่นต์” โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก อีกทั้งวิชิตเอง เป็นผู้บริหารนักการตลาดที่มีวิสัยทัศน์เยี่ยมยอดและฉับไว หากแนวทางใดไม่บรรลุผลตามเป้า จะปรับเปลี่ยนทันที ดังเช่นนิตยสารรายสัปดาห์เล่มแรกที่ได้ทำก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2493 กระทั่งค้นพบแนวบู๊ทำเงินจึงต่อยอดเรื่อยมา
“ถ้าถามว่าเหตุใดจึงต้องเป็นเรื่องบู๊ ก็ประมาณปี 2500 ต้นๆ นั้น บ้านเมืองอยู่ภายใต้การดูแลปกครองของคณะปฏิวัติ นักเขียนแนวสัจนิยมส่วนใหญ่ต้องไปพำนักอยู่ในเรือนจำ ประกอบกับสภาพของสังคมที่ระส่ำระสายเพราะเพิ่งผ่านภาพเงาของสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ไม่นาน ชนบทยังอยู่ห่างไกลความเจริญ และเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่เต็มไปด้วยโจรผู้ร้ายและผู้มีอิทธิพลทั้งในและนอกเครื่องแบบทำให้ชาวบ้านร้านตลาดที่ได้รับความเดือดร้อนโหยหาความเป็นธรรม และ ”คนดี“ ที่จะขี่ม้าขาวมากำราบคนพาลอภิบาลคนดี ดังนั้น จึงเกิดเรื่องราวประเภท “โลคัล ฮีโร่” แบบ ”พระเอกลูกทุ่ง“ หรือไม่ก็เป็นประเภทเขาเป็นใครมาจากไหนไม่มีใครทราบ แต่อยู่ๆ เขาก็มาชกต่อยกับนักเลงปลายแถวที่รังแกชาวบ้าน จนเป็นที่เขม่นของเจ้าพ่อในท้องถิ่นซึ่งมีเบื้องหลังเลวร้าย ส่วนลูกสาวแสนสวยของเจ้าพ่อกลับมารักพระเอก แต่พระเอกกลับไปชอบเด็กสาวกะโปโล ตอนจบถึงเปิดเผยว่า ที่แท้พระเอกคือนายตำรวจปลอมตัวมาสืบราชการลับ หรือไม่ก็เป็นนายอำเภอคนใหม่ที่เดินทางมาเงียบๆ...” ประภัสสร เสวิกุล นักประพันธ์นักการทูตผู้ล่วงลับ ได้อธิบายไว้ครั้งหนึ่งผ่านคอลัมน์ “วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์” ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ถึงเหตุที่นวนิยายเรื่องบู๊เป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้น
นวนิยายเรื่องบู๊ของนิตยสารบางกอก ไม่เพียงเป็นที่ถวิลหาของแฟนนักอ่านเท่านั้น แต่ยังเป็นที่หมายตาของบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ไทยสมัยนั้นอีกด้วย เพราะถือว่า “คาถา” ในการทำหนังไทยให้ได้เงินมี 3 ประการ และหนึ่งในนั้นคือต้องเป็น “นิยายบู๊ที่ลงในบางกอก” ยิ่งเป็นประเภท “ระเบิดภูเขา เผากระท่อม” นั้นยิ่งถูกใจนักแล ผู้สร้างหนังไทยบางรายถึงขั้นมาเฝ้ารอกันถึงแท่นพิมพ์เลยทีเดียว
ครั้งหนึ่ง "รพีพร” ก็ได้ส่ง "เทพบุตรนักเลง" ลงนิตยสารบางกอก และ ชรินทร์ นันทนาคร นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ รวมถึง เชิด ทรงศรี ในนามปากกา “ธม ธาตรี” ที่ได้เขียนหลายเรื่อง อาทิเช่น น้อยใจยา, โนราห์, เมขลา, ดอกบัว, นางพญา ฯลฯ มาให้แฟนนักอ่านนิตยสารบางกอกได้อ่าน ก็ได้รับการสร้างเป็นหนังไทยจนโด่งดังเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายเรื่องได้รับความนิยมนำมา "รีเมก" หรือสร้างใหม่หลายต่อหลายครั้ง
แต่ยุคสมัยย่อมมีวันเปลี่ยน นวนิยายเรื่องบู๊ไม่อาจคงกะพันเหมือนในดงอักษร ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความนิยม และรสนิยมของผู้คนเป็นสิ่งที่นิตยสารบางกอกหลีกเลี่ยงไม่พ้นเช่นเดียวกับเล่มอื่น มากกว่านั้นคือ “กลุ่มคนอ่าน” ที่เติบใหญ่มาด้วยกัน และวันนี้กลายเป็นรุ่นคุณพ่อ คุณลุง คุณปู่ คุณตา นำหน้าชื่อกันแล้ว ซึ่งนับวันมีแต่ร่ำลากันไป ขณะคนที่ยังอ่านภายหลังยอมรับกันว่า นอกจากความรักและผูกพันกันมาค่อนชีวิตแล้ว ยังได้หวลรำลึกถึง “วัยหนุ่ม” ของตัวเองอีกด้วย
เส้นทางนิตยสารบางกอกมักถูกนำเปรียบเทียบกับ “สกุลไทย” บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายและสร้างกลุ่ม “คนอ่าน” ใหม่ๆ ขณะที่ “สกุลไทย” ได้ตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนหญิงออกมาเป็นเล่มต่อเนื่อง รวมถึงสื่อออนไลน์ด้วย แต่นิตยสารบางกอก แม้จะมี “สำนักพิมพ์นวนิยายบางกอก” มาตั้งแต่ปี 2548 แต่เนื้อหาคงเดิมคือยึดแนวบู๊ที่ต่อยอดมาจากนิตยสาร จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก
การขยายคนอ่านจาก “รุ่นสู่รุ่น” จึงห่างกันไปทุกที จะหานักอ่านรุ่นใหญ่วัยอาวุโสมาเป็นพลังผลักดันนั้น ยากเต็มทีแล้ว ถึงแม้จะพยายามสร้างสรรค์กิจกรรมประกวดเรื่องสั้นรางวัล “วิชิต โรจนประภา” โครงการประกวดเรื่องสั้นเพื่อศีลธรรมและจิตสำนึกที่ดี ก็ไม่เป็นผลมากนัก
สัญญานการปิดตัวของนิตยสารบางกอกเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งครั้งนั้นทาง นวลละออ โรจนประภา ผู้บริหารบริษัทการพิมพ์บางกอก จำกัด ผู้ผลิตนิตยสารบางกอกรายสัปดาห์ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือและตอกย้ำถึงความตั้งใจในการสานต่อเจตรมณ์ พร้อมแต่งตั้ง “ชูเกียรติ ฉาไธสง” กวีนักเขียนมาทำหน้าที่บรรณาธิการ แทน “ธาดา เกิดมงคล” ในเดือนมิถุนายน 2557
แต่แล้ว จดหมายจาก “บริษัท การพิมพ์บางกอก จำกัด” ลงวันที่ 14 มิถุนายน ถึง “เอเย่นต์จำหน่ายหนังสือ” ถือเป็นคำตอบที่ชัดเจนในที่สุด
อย่างไรก็ดี หลายเสียงวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและด้านทุน ขณะที่บางเสียงแย้งว่า แท้จริงแล้วอวสานของนิตยสารบางกอกที่มาเยือน มิใช่ “เงินทุน” แต่อย่างใด หากแต่เป็น “กลุ่มผู้อ่านตัวจริง” ที่หายไป นั่นเอง
ไม่เช่นนั้นคงไม่มีเสียงจากผู้บริหารนิตยสารบางกอกว่า “บางกอกรายสัปดาห์ ไม่ดับสูญ” รอคอยเพียงคนรุ่นใหม่มาสานต่อ
“จนกว่าวันนั้นจะมาถึง” อาจเป็นคำตอบที่ไม่ได้มีเพียงแค่ในนวนิยาย!!