คอลัมนิสต์

เบื้องหลังหน้ากากของนายตำรวจ

เบื้องหลังหน้ากากของนายตำรวจ

13 ก.ค. 2559

เบื้องหลังหน้ากากของนายตำรวจ : โลกตำรวจ  โดยปนัดดา ชำนาญสุข

           “ถ้าช่วยผมได้ ผมจะไม่ลืมพระคุณเลย” คำพูดของนายตำรวจชั้นประทวนพูดด้วยสีหน้าเคร่งเครียดจริงจัง ด้วยเรื่องราวที่มาของการพยายามวิ่งเต้นขอโยกย้ายจากสถานีตำรวจเกรดเอในที่ตั้งภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจนคร ไปสู่สถานีตำรวจในภาคอีสานในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตเมือง

           “พ่อผมแก่มากแล้ว อยู่คนเดียว ตอนนี้ตาแกมองไม่เห็นทั้งสองข้าง ผมอยากกลับไปดูแลแก เพราะผมคิดได้แล้ว” นายดาบตำรวจเริ่มขยายความเพื่อแสดงเหตุผลที่ชอบธรรมในการขอวิ่งเต้น

           คำว่า “เพราะผมคิดได้แล้ว” เป็นคำทิ้งท้าย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในเรื่องเล่าที่จะเกิดขึ้นต่อไป​

           เพราะผมคิดได้แล้วว่า ทุกคนที่อยู่แวดล้อมตัวผมในโรงพักนี้ ในยุคระยะหลังมานี้ มุ่งเน้นแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ผมต้องมานั่งเครียดกับเรื่องผลประโยชน์ที่ผมไม่มีส่วนด้วย แต่ต้องระมัดระวังทุกอย่าง ผมไม่ไหวแล้ว ผมไม่ต้องการอะไร แค่อยากกลับไปทำงานและดูแลพ่อได้ด้วย

           “หน้าเสื่อ” คือคำเรียกขานที่เพื่อนตำรวจเรียกขานนายตำรวจผู้เล่าเรื่อง และทุกคนรู้กันเป็นอย่างดีว่า ความกดดันในภาวะหน้าเสื่อที่ผู้เกี่ยวข้องรักษาผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น สร้างความกดดันแสนสาหัสเพียงใด ?

           ในยามที่ประชาชนพร่ำบ่นปัญหาต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นจากความไม่พึงพอใจของการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ข้อสรุปมักจะลงเอยที่ “ตำรวจที่ทำไม่ดีคือพวกชั้นประทวน”!!!!!!!

           แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาของตำรวจเอง จำนวนไม่น้อยก็คิดเช่นเดียวกันนั้น !!!!!

           คิดง่ายๆ จากเพียงแค่การมองง่ายๆ โดยมองเพียงปรากฏการณ์ส่วนผิว ซึ่งไม่แปลกมากนักหากเป็นมุมมองของประชาชนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางที่มาที่ไปของการกระทำอันอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมในการทำงานจำนวนมากที่ไม่ดีของเหล่าบรรดานายตำรวจชั้นประทวน ผู้ถือได้ว่าเป็นมดงานที่ทรงพลังของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

           อะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง ?

           ผู้บังคับบัญชาของเขาเหล่านั้น ที่ดูเหมือนจะสวมหน้ากากของพระเอกที่ดูมีอัธยาศัยที่ดี สุภาพบุรุษ เหล่านั้นได้ทุ่มเทความคิด สติปัญญา แรงกายแรงใจ ร่วมทุกข์ร่วมสุขในการทำงาน พร้อมทั้งพัฒนาระบบงาน พัฒนาศักยภาพความพร้อมของทรัพยากรในการทำงาน รวมถึงส่งเสริมขวัญและกำลังใจให้แก่เหล่าบรรดานายตำรวจชั้นประทวนผู้ที่ทำงานอย่างมากให้ตามแต่ที่ผู้นำทั้งหลายจะบัญชาสั่งการมา แค่ไหนอย่างไร?

           “เขาไม่สนใจเรื่องงานหรอกครับ ถ้าหน่วยเหนือกำชับติดตามเร่งรัดมา พวกเขาก็จะโดนหนักอีก ในข้อหาที่ทำให้เขาโดนตำหนิ” เสียงที่สอดคล้องกันทั่วทุกพื้นที่ของเหล่าบรรดาตำรวจชั้นประทวน

           “ขอร้องอย่าตำหนินายผม” คำพูดของลูกน้องนี้ มิใช่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า ลูกน้องมีความเคารพศรัทธาหรือเจ็บร้อนแทนนาย หากแต่เกิดขึ้นเพราะรู้อยู่แก่ใจดีว่า หากยามใดที่นายโดนผู้บังคับบัญชาตำหนิ ย่อมหมายถึงภาวะที่พวกเขาเหล่าต้องได้รับผลกระทบหนักกว่าเป็นเท่าตัวในรูปแบบต่างๆ

           บรรยากาศในการทำงานเช่นตัวอย่างที่เล่ามานี้ คือบทสะท้อนให้เห็นว่า “ผู้นำ” มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทีมงานและนำพาไปสู่ผลสำเร็จของงาน นั่นหมายถึง ความผาสุกของประชาชน

           นี่คือโจทย์ที่สำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันการศึกษาทั้งหลายในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ถึงเวลาแล้วในการปรับเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคนครั้งยิ่งใหญ่

           ถึงแม้หลังจากสถาบันการศึกษาผลิตออกมาอย่างดีแล้ว แต่เมื่อมาอยู่ในระบบและวิถีวัฒนธรรมในการทำงานที่ไม่ดี อาจจะทำให้ผลผลิตที่ดีเพี้ยนไปจากเดิมที่ถูกปั้นมาบ้าง

           แต่เหล่าบรรดาครูบาอาจารย์ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องมั่นใจมากพอที่จะกล่าวอย่างภาคภูมิว่า

           “สถาบันได้มุ่งมั่นในการฝึกภาวะผู้นำให้แก่ผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในระดับต่างๆ ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างดีแล้ว”

           ขอท้าพิสูจน์!!!!!!

           เป็นที่รู้กันเป็นอย่างดีในวงการตำรวจว่า “ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ” ไม่ใช่ตำแหน่งในฝัน หากเปรียบเทียบเทียบกับตำแหน่งผู้บัญชาการตัวเลข (ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9) ด้วยเหตุวิธีคิดเช่นนี้ จึงทำให้ผลงานที่ถูกผลิตออกมาไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่บทบาทหน้าที่นี้มีคุณค่าและความหมายที่สูงมากในการพัฒนาองค์การ

           ปัญหาการพัฒนาศักยภาพกำลังพลที่สะสมมาอย่างยาวนาน เป็นโจทย์ที่ท้าทาย พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ว่าที่ครูใหญ่แห่งโรงเรียนนายร้อยตำรวจคนต่อไปอย่างมาก ว่า จะสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของนายตำรวจผู้ที่จะก้าวขึ้นไปเป็น “นายคน” มีความรู้ ความสามารถ ที่เหมาะสม และสามารถทนทานต่อกับดักของผลประโยชน์ และความไม่ยุติธรรมในการบริหารงานขององค์การจนขาดสำนึกของการเป็นตำรวจที่ดีตามอุดมคติตำรวจเหมือนอย่างที่เป็นมาได้สำเร็จหรือไม่ ??????