คอลัมนิสต์

'ป้องก่อนป่วย'...สิทธิใหม่'ประกันสังคม'

'ป้องก่อนป่วย'...สิทธิใหม่'ประกันสังคม'

01 ส.ค. 2559

'ป้องก่อนป่วย'...สิทธิใหม่'ประกันสังคม' :  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

            “สิทธิด้านสุขภาพ” หรือจาก 3 กองทุนที่ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศนั้น ถูกเปรียบเทียบมาตลอดว่ากองทุนใดให้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะนโยบายสุขภาพตามแนวคิดใหม่เน้น “การป้องกันโรค” มากกว่ารอเจ็บป่วยปางตายแล้วค่อยเยียวยารักษา

            ตัวอย่าง “เบาหวาน” โรคเรื้อรังยอดนิยมนั้น ข้อมูลปี 2558 สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ (http://www.dmthai.org) ระบุว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยแล้ว 415 ล้านคน และทุก 6 วินาทีมีผู้เสียชีวิตจากเบาหวาน ส่วนคนไทยนั้น พบว่าเป็นเบาหวานประมาณ 4 ล้านคน และอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มอีก 1 ล้านคน และที่สำคัญคือ มากกว่าร้อยละ 50 ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวาน !?!

\'ป้องก่อนป่วย\'...สิทธิใหม่\'ประกันสังคม\'

            อันตรายของโรคเบาหวาน คือ “กว่าจะรู้ตัว ก็สายเสียแล้ว” เพราะไม่ได้ไปตรวจร่างกายประจำปี ทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษาหรือควบคุมน้ำตาลช่วงต้น เมื่ออาการหนักจึงเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น ตาบอด ไตวาย ฯลฯ ประมาณค่ารักษาเบาหวานของคนไทยพุ่งสูงถึงปีละ 4.7 -5 หมื่นล้านบาท

            รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หัวใจขาดเลือด โรคกระเพาะ โรคระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ โรคเหล่านี้หากตรวจพบอาการตั้งแต่แรกเริ่มจะช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนรักษาหาย หรือไม่ทำให้อาการโรครุนแรงไปกว่าเดิมได้

            “มนัส โกศล” ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาการดูแลสุขภาพของคนไทยขึ้นอยู่กับนโยบายของ 3 กองทุนหลัก คือ “กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือที่เรียกันสั้นๆ ว่า “บัตรทอง” ดูแลคนไทยอยู่ประมาณเกือบ 50 ล้านคน “กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” 5 ล้านกว่าคน   "กองทุนประกันสังคม” ประมาณ 13 ล้านคน

            “จากเดิม 3 กองทุนเน้นว่า ใครรู้สึกป่วยรู้สึกไม่สบายไปหาหมอรักษาแล้วเบิกเงินตามกองทุนที่สังกัด เหมือนโรคเบาหวาน กว่าจะรู้ตัวก็อาการหนัก มีโรคแทรกซ้อนเยอะแยะจึงไปหาหมอ แต่ถ้าได้สิทธิไปตรวจร่างกายฟรีทุกปี ทำให้รู้ตัวแต่เนิ่นๆ ดูแลตัวเองอย่างดี อนาคตอาการไม่รุนแรง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา ตอนนี้ถึงเวลาปฏิรูประบบสุขภาพแล้ว ทุกคนควรมีสิทธิได้ตรวจร่างกายประจำปี เพื่อค้นหาโรคหรือความผิดปกติของร่างกายก่อนป่วยร้ายแรง กองทุนข้าราชการส่วนมากเบิกจ่ายค่าตรวจรักษาโรคตามโรงพยาบาลเอกชนได้ ส่วนบัตรทองก็ได้รับสิทธิตรวจร่างกายทุกปีแล้ว เหลือแต่ผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม หรือพวกมนุษย์เงินเดือนที่โดนหักเงินจ่ายเข้ากองทุนฯ ทุกเดือนประมาณ 500-750 บาท กลุ่มนี้กว่า 13-14 ล้านคน ยังไม่ได้สิทธิไปตรวจร่ายกายฟรี”

            ประธานเครือข่ายประกันสังคมฯ กล่าวต่อว่า แม้ คปค.และเครือข่ายแรงงาน จะช่วยเรียกร้องและผลักดันจนมีการปรับปรุงกฎหมายเมื่อปีที่ผ่านมา โดยออกเป็น “พระราชบัญญัติประกันสังคม” ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทางการส่งเสริมป้องกันโรคตามมาตรา 63 (2) และ บังคับใช้ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2558 แต่คณะกรรมการประกันสังคมยังไม่ได้มีแนวทางการดำเนินงานว่า ผู้ประกันตนจะได้สิทธิไปตรวจร่ายกายอย่างไรบ้าง สถานพยาบาลไหนได้บ้าง  หรือมีการช่วยให้แรงงานได้รับการส่งเสริมป้องกันโรคอย่างไร ล่าสุด คปค.ยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม 6 ข้อ ได้แก่ 1 กำหนดชุดสิทธิประโยชน์ป้องกันโรคในหลากหลายอาชีพที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน 2 ให้รับบริการโดยตรงจากโรงพยาบาล ที่ผู้ประกันตนไปใช้บริการ 3 ให้จัดสรรงบสำหรับส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 4 กำหนดมาตรฐานการบริการให้สอดคล้องกับประเภทของงาน หรือสาขาอาชีพ 5 นำข้อมูลผลตรวจสุขภาพมาชี้แจงให้ผู้ประกันตนทราบทุกครั้ง และ 6 พัฒนาชุดสิทธิส่งเสริมป้องกันโรคโดยเร่งด่วน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกันตนเสียโอกาสไปมาก

            ล่าสุด วันที่ 26 กรกฎาคม 2559 มีการจัดโครงการเสวนาแนวทางและรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับผู้ประกันตน ในหัวข้อ  “เสริมสร้างก่อนซ่อมแซม : การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามมาตรา 63 (2) และ (7)”

            โดย “นพ.ปรีชา เปรมปรี” ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีกฎหมายนี้ออกมา ควรแยกเรื่องส่งเสริมสุขภาพหรือการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นออกจากการรักษาเมื่อเจ็บป่วยแล้ว สิทธิตรวจร่างกายถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแรงงานที่อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม โรคหลายชนิดหากตรวจพบได้ก่อนสามารถรักษาได้ง่าย แรงงานหรือผู้ประกันตนจะได้รู้วิธีป้องกันตัวเองหากพบว่ามีอาการเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง ควรปฏิบัติตัวอย่างไรในขณะทำงาน และควรเน้นกิจกรรมให้สถานประกอบการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากการทำงานด้วย ที่สำคัญควรครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น กองทุนสุขภาพตำบล...

            ด้านตัวแทนจากสำนักงานประกันสังคม "ชลอลักษณ์ แก้วพวง”  ผอ. สสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ อธิบายว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังอยู่ในขั้นตอนหาแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถไปใช้สิทธิตรวจร่างกายประจำปีได้อย่างสะดวกและเหมาะสมที่สุด เนื่องจากปัจจุบันบัตรทองให้สิทธิตรวจเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐที่สังกัด ส่วนผู้ประกันตนควรได้สิทธิไปโรงพยาบาลเอกชนที่มีรายชื่อสังกัดได้ แต่ถ้าทำงานอยู่ต่างจังหวัดจะสามารถขอตรวจร่างกายประจำปีในพื้นที่ได้เลยหรือไม่ และการควบคุมราคาให้เหมาะสมหรือค่าใช้จ่ายต่อหัวควรเป็นรูปแบบอย่างไร เพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ซ้ำซ้อนกับสิทธิในกองทุนหรือนโยบายสวัสดิการอื่นของรัฐบาล ควรวางแผนจัดทำฐานข้อมูลกลางเพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม และต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการเงินกองทุนที่มีอยู่ ว่าจะสามารถใช้ได้เพียงพอแค่ไหนในอนาคต ช่วงนี้ สปส.กำลังปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

            ด้านตัวแทนผู้ประกันตน “ภาคภูมิ สุกใส” ประธานสหภาพแรงงาน ธนบุรีประกอบรถยนต์ แสดงความเห็นถึงระบบกองทุนประกันสังคมว่า ที่ผ่านมาเป็นการคิด แบบ “เหมาเข่ง” หมายความว่า แรงงานอายุเท่าไรก็ตาม หรือประกอบอาชีพเสี่ยงต่อโรคแค่ไหน หรืออาศัยในพื้นที่ใด จะตั้งงบประมาณให้เท่ากันหมดทุกคน จึงอยากเสนอให้แยกเป็นช่วงอายุ เช่น อายุ 20-30 ปี ร่างกายยังแข็งแรง อาจตรวจในวงเงินที่ไม่มากนัก แต่พออายุมากขึ้นก็ให้งบเพิ่มขึ้นและตรวจพิเศษเพิ่มด้วย ควรให้โรงพยาบาลที่รับตรวจสุขภาพสามารถรับรักษาได้เลย หากพบอาการผิดปกติของร่างกาย ผู้ประกันตนจะได้ไม่ต้องเดินทางไปมาหลายแห่ง

            “ตอนนี้มีกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้ว ฝ่ายแรงงานหรือผู้ประกันตนก็รออยู่ว่าเมื่อไรจะได้ไปตรวจร่างกาย หรือจะมีกิจกรรมป้องกันโรคในโรงงานหรือในชุมชนแบบไหน ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร” ตัวแทนแรงงานตั้งคำถามทิ้งท้าย

            ปัจจุบันตัวเลขเงินสะสมกองทุนประกันสังคมปี 2558 มีประมาณ 1.38 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกองทุน 2 กรณี (สงเคราะห์บุตร และชราภาพ) จำนวน 1.2 ล้านล้านบาท และเงินกองทุน 4 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตาย) จำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท แสดงว่าเงินในกองทุนนี้ส่วนใหญ่เพื่อรองรับกรณีชราภาพและสงเคราะห์บุตร มากกว่าสัดส่วนสำหรับให้เพื่อรักษาสุขภาพ

            อย่างไรก็ตาม เงินจำนวน 6 หมื่นกว่าล้านบาทนั้น ถูกนำไปจ่ายเพื่อประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยประมาณปีละ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการนำเงินมาเพิ่มเป็นค่าดูแลสุขภาพและป้องกันโรคก่อนที่จะเจ็บป่วย จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด

            หลายฝ่ายเสนอว่าต้อง “ปฏิรูปการทำงานของ สนง.ประกันสังคม” ให้เป็นอิสระและมืออาชีพอย่างแท้จริง เพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ที่ผ่านมาติดขัดขั้นตอนระบบราชการมากเกินไป มอบหมายให้ทีมงานนักบริหารมืออาชีพมาช่วยจัดการรายละเอียด

            ส่วนนโยบายหลักมาจากกรรมการจากฝ่ายแรงงาน รัฐบาล นายจ้าง และนักวิชาการ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชน โดยใช้ระบบเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตน 13 ล้านคนทั่วประเทศไทย เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามความต้องการของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

            วินาทีนี้ทำได้เพียงรอต่อไปว่า สิทธิในการได้รับการป้องกันโรคก่อนป่วย จะเริ่มได้เมื่อไร มีแพ็กเกจอย่างไรบ้าง และงบประมาณต่อหัวเท่าไร !?!

             “มาตรา 63”พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558

             ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจาก การทํางาน ได้แก่ (1) ค่าตรวจวินิจฉัยโรค
 
            (2) ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

             (3) ค่าบําบัดทางการแพทย์และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ

            (4) ค่ากินอยู่และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล

            (5) ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์

             (6) ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย

             (7) ค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย จากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสํานักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว ให้สํานักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทําผิดได้

             (8) ค่าบริการอื่นที่จําเป็น